เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชี ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่าเมื่อวานนี้เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีร้อยเอ็ดได้จัดประชุม ณ วัดบ้านอีโก่ม ต.เทิดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด หลังได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการว่ากรมชลประทานมีข้อสั่งการให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและคณะกรรมการฯ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลที่ปรึกษาด้านวิชาการ พิจารณายกเลิกการศึกษาอาคารบังคับน้ำ/ประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำชีหรือที่ชาวเรียกว่าเขื่อนกั้นน้ำชีแห่งใหม่ บริเวณจุดที่ตั้งบ้านไชยวาน ต.นาเลิง อ.เสลภูมิ และบริเวณพื้นที่การเกษตรบ้านบาก ต.โพนเมือง อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ตามที่เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ด ยื่นหนังสือเรียกร้องพร้อมรายชื่อกว่า 2 พันรายชื่อ
นายสิริศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่กรมชลประทานสั่งการยกเลิกการศึกษาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นบทเรียนการจัดการน้ำเพราะที่ผ่านมาโครงการจัดการน้ำในแม่น้ำชีได้สะท้อนให้เห็นชัดว่าเกิดความล้มเหลว แม้แต่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (Post EIA) แม่น้ำชี ที่ศึกษาภายหลังจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อยได้ชี้ให้เห็นว่าต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นคือการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี
“โครงสร้างของเขื่อน เช่นคันไดค์ ประตูปิดทางไหลของลำห้วยกุดที่จะไหลลงน้ำชี การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด ซึ่งปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นยังแก้ไขปัญหาไม่เสร็จเป็นรูปธรรม กรมชลประทานควรนำไปศึกษา และไม่ควรมีโครงการใด ๆ ทั้งสิ้นที่มาใช้วาทกรรมว่าอีสานแล้ง”นายสิริศักดิ์กล่าว
นายสิริศักดิ์กล่าวว่า ควรมีการศึกษารูปแบบการจัดการน้ำในพื้นที่แบบครัวเรือนที่แต่ละชุมชนได้เข้าถึงและจัดการได้จริง และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญเดิมลุ่มน้ำชีที่ชาวบ้านเรียกร้องมา 15 ปี เหลือเพียงนายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ซึ่งถือว่านายกฯปัจจุบันดำเนินการช้ากว่ารัฐบาลที่ผ่านมา
นายนิรันดร คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างอาคารบังคับน้ำ ในลุ่มน้ำชีครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุดโดยเฉพาะการให้ข้อมูลรายละเอียดของโครงการที่ชัดเจนตรงไปตรงมา และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับข้อกังวลใจในมิติต่างๆ ทั้งสภาพปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากยาวนานที่เกิดขึ้นภายหลังการสร้างเขื่อนภายใต้โครงการ โขง ชี มูลซึ่งโดยหลักการแล้วจะต้องทำการศึกษา PostEIA ว่าโครงการโขง ขี มูล ที่ดำเนินการก่อสร้างและจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี้ก่อนนี้นั้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมชุมชนหรือไม่ อย่างไร
“ปัจจุบันได้มีการศึกษา PostEIA ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง กรณีเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร – พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ไปเรียบร้อยแล้ว โดยผลการศึกษาสำคัญพบว่า ตัวเขื่อน และองค์ประกอบของเขื่อนต่าง ๆ เช่น คันพนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ ฯลฯ ที่ได้ก่อสร้างขึ้นนั้นมีส่วนสำคัญทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อกรณีการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง เนื่องจากแบบแปลนเขื่อนไม่สอดคล้องกับสภาพกายภาพของพื้นที่และไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศ บทเรียนจากผลการศึกษาดังกล่าวฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักถึงผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการพิจารณาจะดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ใดๆในพื้นที่ลุ่มน้ำชีจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และละเอียดอ่อน”นายนิรันดร กล่าว
นายนิรันดร กล่าวว่าข้อเสนอสำคัญคือ 1. การดำเนินโครงการใด ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ต้องดำเนินการตามหลักการอย่างตรงไปตรงมาโดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ 2. ต้องมีการศึกษา PostEIA เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมภายหลังการก่อสร้างกับเขื่อนในลุ่มน้ำชีทั้งหมดทุกเขื่อนที่ยังไม่ได้ดำเนินการศึกษา 3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเยียวยาประชาชน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากผลกระทบของโครงการพัฒนาและจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี
ด้านจันทรา จันทาทอง กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี กล่าวว่า หลังได้รับการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร พิจารณายกเลิกการศึกษาอาคารบังคับน้ำ/ประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำชี ทำให้พี่น้องรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากหลังจากชาวบ้านในพื้นที่และนอกพื้นที่ร่วมกันคัดค้านเพื่อไม่ให้มีเขื่อนหรือประตูระบายน้ำมาสร้างขวางกั้นแม่น้ำชีอีก แต่ก็ยังจะดำเนินการเฝ้าระวัง และยังจะเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเดิมที่ผ่านมา เพราะทางเครือข่ายเรียกร้องมา 15 ปีแล้ว และเหลืออีกไม่กี่ขั้นตอนแต่นายกรัฐมนตรียังนิ่งเฉยไม่ลงนามคำสั่งแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน
—————