Search

เดินหน้าเขื่อนปากลายกั้นโขงเฉียดพรมแดนไทย คาดผลกระทบรุนแรงแต่หน่วยงานรัฐยังนิ่งเฉย

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ เปิดเผยว่า มีความคืบหน้าของโครงการสร้างเขื่อนปากลาย บนแม่น้ำโขง โดยเว็บไซต์ของบริษัทปากลายพาวเวอร์ เจ้าของโครงการเขื่อนปากลาย (www.paklaypower.com) ได้มีการเผยแพร่รายงานด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานผลกระทบทางสังคม แผนจัดการและตรวจสอบสิ่งแวดล้อม โดยมีส่วนหนึ่งเป็นเนื้อหาภาษาไทย แต่รายงานผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นเอกสารภาษาอังกฤษ

“โครงการเขื่อนปากลาย จะเป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ใกล้พรมแดนไทยมากที่สุด ห่างจากแผ่นดินไทยที่ปากแม่น้ำเหือง จ.เลย เพียงไม่ถึงร้อยกิโลเมตร ผลกระทบข้ามพรมแดนจากการก่อสร้างและใช้งานเขื่อนจะรุนแรงมากตลอดลำน้ำโขงทางภาคอีสาน แต่ยังไม่เห็นว่าหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องจะจัดประชุมเพื่อหารือเรื่องผลกระทบแต่อย่างใด น่าเป็นห่วงมากว่าไทยจะเตรียมการรับมืออย่างไร ซึ่งขณะนี้มีการร้องเรียนประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนแม่น้ำโขงไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ” นายหาญณรงค์ กล่าว

ทั้งนี้โครงการเขื่อนปากลาย จะสร้างกั้นแม่น้ำโขงเหนือเมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ประมาณ 31 กิโลเมตร และห่างจากพรมแดนไทยลาว ที่ปากน้ำเหือง อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงประมาณ 90 กิโลเมตร กำลังการผลิต 770 เมกะวัตต์ พัฒนาโครงการโดยบริษัท PakLay Power Company Limited ลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศไทย ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ราคาค่าไฟฟ้า 2.69 บาท สัญญาสัมปทาน 29 ปี วางแผนเริ่มผลิตไฟฟ้าวันที่ 1 มกราคม 2575

ก่อนหน้านี้แถลงการณ์ร่วมของคณะมนตรีแม่น้ำโขงของ 4 ประเทศ (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) กรณีเขื่อนปากลาย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 ระบุว่าเรียกร้องให้รัฐบาลลาวแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงต่อผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนปากลาย โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำโขงให้เป็นไปตามข้อตกลงแม่น้ำโขง มาตราที่ 6 ระบุว่า (1) การบริหารจัดการเขื่อนจะต้องไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศตอนล่าง และต้องสอดคล้องกับเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่นๆบนแม่น้ำโขงสายหลักเพื่อให้มีการระบายตะกอนและตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตเป็นไปเพื่อการรักษาระบบนิเวศตอนล่างอย่างทันท่วงที (2) พิจารณาการมาตรการเพิ่มการระบายตะกอนในการบริหารจัดการเขื่อนทั้งในระดับต่ำสุดและสูงสุดเพื่อลดผลกระทบต่อการสะสมของตะกอนในพื้นที่เขื่อนและการกักเก็บน้ำ รวมถึงการประสานงานกับเขื่อนอื่นเพื่อลดปัญหาผลกระทบร้ายแรงจากน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ตอนล่างและปรับการผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสม (3) ปรับปรุงทางปลาผ่านให้สอดคล้องกับเขื่อนอื่นๆ (4) ให้นำผลการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆของ MRC และให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบต่อเนื่องจากกรณีโครงการเขื่อนปากลายต่อวิถีชีวิตและความมั่นคงทางอาหาร (5) แก้ไขการออกแบบระบบความปลอดภัยของเขื่อน ด้วยการให้มีการศึกษาเขื่อนพังตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ และวิเคราะห์ออกแบบการมาตรการในการลดผลกระทบกรณีเขื่อนแตก และประเมินผลกระทบต่อเนื่องหากเกิดคลื่นน้ำจากเขื่อนพังและเพื่อเลือกรูปแบบที่ได้มาตรฐาน (6) ปรับปรุงช่องทางเดือนเรือให้สอดคล้อง (7) การสื่อสารข้อมูลร่วมกันตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบเขื่อน และให้มีกาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนและนำไปสู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคของ MRC

ขณะที่หนังสือของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ที่ตอบมายังเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ได้ระบุถึงกองทุนเยียวยาจากโครงการเขื่อนปากลาย จำนวนเงิน 33 ล้านบาทต่อปี แต่เครือข่ายประชาชนยังมีคำถามถึงรายละเอียดเกี่ยวกับฐานการคิดคำนวรว่ามาจากหลักเกณฑ์อะไร เงื่อนไขของกองทุนคืออะไร และใครเป็นผู้ดูแลและจัดการกองทุนดังกล่าวอย่างไร

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →