เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง โดยมีนายวธัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้แทนอำเภอเวียงแก่น ผู้แทนอำเภอเชียงของ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน รวมประมาณ 30 คน
ทั้งนี้ฝ่ายเลขาของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นำเสนอสรุปเรื่องที่ร้องเรียน มายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง ซึ่งจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขง ห่างจากชายแดนไทย ที่ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย 97 กม. โดยขณะที่ร้องเรียนยังอยู่ระหว่างการรอลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นข้อมูลล้าสมัย และไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งจะกระทบต้อประชาชนหลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย อาทิ ทรัพยากรประมง น้ำเท้อ และผลกระทบต่อลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ในฐานะผู้ร้องเรียน กล่าวว่าการร้องเรียนนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนยังไม่ได้รับคำตอบ เป็นคำชี้แจงที่ไม่สามารถตอบประเด็นที่ชาวบ้านเป็นห่วงได้ คำชี้แจงในกระบวนการ PNPCA ไม่สามารถตอบคำถาม ที่ชาวบ้านอยากรู้ เป็นคำชี้แจงที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริง การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA ทำโดยข้อมูลไม่สมบูรณ์ สิ่งที่ชาวบ้านและนักวิชาการเป็นห่วง แม้เขื่อนปากแบงจะเป็นอธิปไตยของลาว แต่ชาวบ้านเป็นห่วงเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน EIA ก็ไม่สมบูรณ์แล้วลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้า ได้อย่างไร น้ำที่จะท่วมถึงแม่น้ำงาว บ้านห้วยลึก ที่ทำกินของประชาชนเวียงแก่น ไม่มีคำตอบใดๆ หน่วยงานของรัฐไม่เอาใจใส่เรื่องนี้เลย
“อยากสอบถามว่า หน่วยงานรัฐใดที่รับผิดชอบ ระดับกักเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ที่ 340 ม.รทก. (เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) ท่วมแน่นอนคือแก่งผาได แก่งก้อนคำ หาดบ้านดอน ท่วมแน่นอน เป็นเรื่องของความมั่นคงชายแดน เส้นพรมแดนเปลี่ยนแปลงแน่นอน หากสร้างเขื่อน ไก สาหร่ายแม่น้ำโขงที่สร้างรายได้ให้ประชาชน มูลค่าหลายหมื่นบาทต่อคน จะหายไปในทันที ในพื้นที่บ้านหัวเวียง เวียงแก้ว อ.เชียงของ กรมทรัพยากรน้ำได้มาสำรวจว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงจากโครงการเขื่อนปากแบง ว่าน้ำจะเท้อมาถึงหมู่บ้าน”นายนิวัฒน์ กล่าว
นายอภิธาร ทิพย์ตา นายกเมศมนตรีตำบลม่วงยาย อ.เวียงแก่น กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ได้ให้ข้อมูลแก่พี่น้องประชาชน หากเขื่อนปากแบงน้ำกักเก็บที่ 340 ม.รทก. ตามที่กรมทรัพยากรน้ำได้ไปตั้งสถานีไว้ ซึ่งเป็นระดับกักเก็บนิ่งๆ แต่หากน้ำหลากลงมาจากดอย จากแม่น้ำงาว จะท่วมอย่างไร ตรงนั้นเป็นพื้นที่ปลูกส้มโอ สร้างรายได้อย่างน้อยไร่ละ 2 หมื่นบาทต่อปี โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีอยู่จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ได้เรียกร้องให้ปักหลัก 340 ม. เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าหากน้ำเท้อ จะเท้อถึงไหนข้อมูลที่ได้รับทราบไม่นิ่งเลย จัดประชุมกี่ครั้งก็เลื่อนลอย
“การสร้างเขื่อนปากแบงจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าของไทย จะกระทบต่อราคาไฟฟ้าอย่างไร พลังงานไฟฟ้าสำรองของไทยเกินอยู่มากแล้ว ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าอย่างไร รัฐบาลและหน่วยงานควรให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน เพื่อให้เกิดการรับรู้ โครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มเป็นอย่างไร ทำไมต้องผลักภาระให้ทุกคนต้องจ่าย การชดเชยจะเป็นอย่างไร อายุเขื่อนกี่ปี เขื่อนที่ว่าเป็นพลังงานสะอาด เขื่อนกักน้ำต้นไม้ตายแช่น้ำตายมีผลต่อคาร์บอนเครดิตหรือไม่ การดูดซับคาร์บอนจะ ขอให้รัฐบาลทนทวนโครงการเขื่อนปากแบง หากสามมารถป้องกันได้ก็จะได้พิจารณาร่วมกัน ค่าไฟฟ้าสำรองที่มีเพิ่มขึ้นมาที่ชาวบ้านต้องจ่ายทุกหน่วย อยากให้ระบุในบิลค่าไฟฟ้าเลยชัดๆ สำหรับการชดเชย ขอถามว่าทุกวันนี้เขื่อนภูมิพล เขื่อนอื่นๆ ของรัฐ ได้ชดเชยเยียวยาเรียบร้อยครบหรือยัง หากยังไม่เรียบร้อย หรือชาวบ้านเดือดร้อน ก็เป็นการเอาเปรียบชาวบ้าน แทบทุกที่”นายอภิธาร กล่าว
ขณะที่ผู้แทนกฟผ. นำเสนอว่าลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้านั้น กฟผ.เป็นหน่วยงานปฏิบัติ ที่ทำตามนโยบายของรัฐ ที่มีกรอบการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว โครงการปากแบงเป็นโรงไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน น้ำเข้ามาเท่าไหร่ก็ออกไปเท่านั้น ไม่มีผลกระทบแบบเขื่อน กำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้แก่กฟผ. 897 เมกกะวัตต์ สำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินประสงค์ กฟผ.ก็สามารถให้ได้ การจัดตั้งกองทุนชดเชยและเยียวยา ในประเทศไทยงบประมาณขึ้นกับเมกกะวัตต์ของโรงไฟฟ้า และจะปรับเพิ่มทุก 5 ปี หากมีเหตุเกิดขึ้นผู้เสียหายก็สามารถร้องเรียนได้ กองทุนต้องมีแผน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สไลด์นำเสนอของ กฟผ. ระบุว่า กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการหรือแผนปฏิบัติการในการป้องกับหรือแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบงอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร และหากในอนาคตมีผลกระทบเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งที่อยู่ในสัญญาและนอกสัญญาประชาชนหรือหน่วยงานในพื้นที่สามารถแจ้งได้ที่หน่วยงานใด หรือสามารถดำเนินการขจัดปัญหาได้อย่างไรบ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สไลด์ที่ผู้แทน กฟผ.นำมาฉายยังระบุว่า มาตรการหรือแผนปฏิบัติการในการป้องกันหรือแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการไฟฟ้าหลังน้ำเขื่อนปากแบง มีดังนี้ 1) การออกแบบทางปลาผ่าน ทางระบายตะกอน และความปลอดภัยของเชื่อน 2)การจัดทำผลกระทบข้ามพรมแดน 3) การให้ความร่วมมือและสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MACs) 4) การจัดทำ website 5)การจัดหาและติดตั้งสถานีวัดน้ำและระบบเดือนภัย ในฝั่งประเทศไทย 6) การจัดส่งข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ 7) การติดตั้งสถานีและอุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณการผ่านของตะกอนที่บริเวณเหนือเชื่อนและท้ายเขื่อน ทั้งนี้หากในอนาคตมีผลกระทบเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ประชาชนหรือหน่วยงานในพื้นที่สามารถดำเนินการร้องเรียนและเรียกค้าชดเชยผ่านกองทุนชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในประเทศไทย สำหรับ 8 จังหวัด ลุ่มแม่น้ำโขง ที่จะมีการดำเนินการจัดตั้งขึ้นโดยผู้พัฒนาโครงการปากแบง เพื่อชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการใน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง
ผู้แทนกฟผ. กล่าวว่าหากไม่ดำเนินการตามนี้ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดเป็นกรอบเบื้องต้นว่ากองทุนนี้ผู้ประกอบการต้องเติมเงินเข้ามาให้เต็มตลอด ทั้งนี้หากหมดสัญญา 29 ปี เขื่อนจะเป็นของรัฐบาลลาว สำหรับกองทุนเยียวยาของกฟผ. อยู่ระหว่างการให้ผู้ประกอบการออกแบบ3 โครงการ (ปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง) เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสม ว่าผู้เรียกร้องจะดำเนินการอย่างไร
ด้านรองเลขาธิการสทนช. กล่าวว่าได้อ่านประวัติศาสตร์การปกป้องแม่น้ำโขง เห็นมาตลอด ความเสียหายทางระบบนิเวศนั้นประเมินค่าไม่ได้ จำเป็นต้องหารือใน MRC และในปี 2568 ไทยจะได้เป็น CEO ต้องขับเคลื่อน ซึ่งตนเองก็สงสัยในอนาคตประชากรจะลดลง แล้วไฟฟ้าจะขายใคร ทำไมเราไม่มองข้างหน้าว่าลำน้ำโขงจะฟื้นกลับยาก หมดสัญญาเขื่อน 29 ปี ใครจะซื้อไฟต่อ ก็คงต้องทำกองทุน ต้องเร่งคุยกันให้ชัดเจน
นส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้แทนมูลนิธิแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่าประเด็นสำคัญของข้อร้องเรียน คือ เขื่อนปากแบงถูกผลักดันจนลงนามสัญญา PPA โดยปราศจากข้อมูลที่เพียงพอ กฟผ.และหน่วยงานรับผิดชอบไม่สามารถตอบได้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร ในขณะที่บริษัทผู้พัฒนาโครงการคือผู้ได้รับประโยชน์และผลกำไรเป็นระยะเวลายาวนานถึง 29 ปี ในขณะที่ประชาชนต้องถูกพรากไปจากทรัพยากรธรรมชาติ สูญเสียรายได้และแหล่งเศรษฐกิจ การตรวจสอบครั้งนี้จะเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่ให้เสียหายก่อนแล้วจึงมาเยียวยา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายคณะของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการลงพื้นที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น เพื่อรับทราบสถานการณ์ในพื้นที่ โดยมีผู้แทนอำเภอเวียงแก่น และเทศบาลตำบลม่วงยาย เข้าร่วมและให้ข้อมูล