เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา กองทัพรัฐฉานใต้ (RCSS/SSA) ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ระหว่างวันที่ 26-28 มกราคมที่ผ่านมา สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ได้จัดประชุมประจำปี 2566 ขึ้นที่ดอยไตแลง โดยมีที่ปรึกษา คณะกรรมการบริหารสูงสุด คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ต่างๆจำนวน 256 คน ซึ่งมีผลสรุปคือ ได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์ในห้วง 1 ปี รวมทั้งร่วมกำหนดแผนงานการปฎิบัติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการเมืองในพม่า สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS จะดำเนินการพบปะเจรจาพูดคุยกับทุกกลุ่ม และยึดหลักใช้การเจรจาในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น
แถลงการณ์ระบุว่า สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS เห็นว่า หากสามารถก่อตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตยขึ้นมาได้จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆในพม่าได้ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองภายในพม่าให้ลุล่วงไปได้นั้น ขอเรียกร้องให้อาเซียนได้เข้ามามีบทบาทและให้ความสำคัญในการที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในพม่า โดยสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานจะพยายามดำเนินการให้ความปรองดองของชาติพันธุ์ในรัฐฉานเกิดความมั่นคงและยืนยาวสืบไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังออกแถลงการณ์ของกองทัพรัฐฉานใต้ได้เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ปรากฏว่าประชาชนชาวไทใหญ่จำนวนมากได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยจำนวนมากมองว่าที่ผ่านมากองทัพรัฐฉานใต้อยู่นิ่งเฉยเกินไป ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นต่างสู้รบกับกองทัพพม่า ที่สำคัญคือพื้นที่รัฐฉานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพม่ากำลังถูกกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อื่นๆยื้อแย่งครอบครอง ขณะที่ชาวไทใหญ่บางส่วนมองว่า การพูดคุยเจรจาในสถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่ทางออก หากแนวทางการพูดคุยเจรจาสำเร็จก็คงไม่มีกลุ่มไหนจับปืนออกมาสู้
หลังทางกองทัพรัฐฉานใต้ออกแถลงการณ์ไม่นาน มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 กองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ได้ออกแถลงการณ์เช่นเดียวกัน โดยระบุจะร่วมมือกับพันธมิตรในการต่อต้านระบบการปกครองเผด็จการ รวมทั้งต่อต้านการปกครองแบบชาตินิยมและจะต่อต้านการขยายเขตพื้นที่
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของ SSPP/SSA ยังระบุว่า บ้านเมืองจะสงบและเจริญก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อสามารถก่อตั้งเป็นประเทศสหพันธรัฐได้สำเร็จ นอกจากนี้ระบุว่าจะรวมปราบปราบยาเสพติดและขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์เช่นเดียวกัน โดยแถลงการณ์ของ SSPP/SSA เองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นการแสดงความคิดเห็นไปในทางลบ
ขณะที่สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า ทางการพม่าได้ส่งมอบตัวหัวหน้าขบวนการแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงทางออนไลน์จากเมืองเล่าก์ก่าย ทางเหนือของรัฐฉานจำนวน 10 ราย ให้กับทางการจีน โดยทั้งหมดถูกนำส่งตัวจากกรุงเนปีดอว์ถึงเมืองคุนหมิงเมื่อคืนวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา โดยทั้งหมดเป็นที่ต้องการตัวของทางการจีนตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาโดย 1 ในคณะที่ถูกจับส่งให้กับทางการจีนครั้งนี้ มีนาย Bai Suocheng ผู้ก่อตั้งกองกำลังรักษาชายแดน BGF ในเขตโกก้าง ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับกองทัพพม่ารวมอยู่ด้วย
อีกด้านหนึ่ง องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (Pa-O National Liberation Organization-PNLO) ได้ออกแถลงการณ์ว่า สามารถยึดเมืองสี่แส่งทางใต้ของรัฐฉานจากกองทัพพม่าได้แล้ว หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างหนักในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดย PNLOได้ประกาศถอนตัวจากการเจรจาสันติภาพกับกองทัพพม่าอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา สถานการณ์ความไม่สงบในเมืองสี่แส่ง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องอพยพหนี โดยเมืองดังกล่าวอยู่ห่างจากเมืองต้นตี ในภาษาไทใหญ่ หรือเมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉานไปเพียง 2 ชั่วโมงโดยรถยนต์ และอยู่ติดกับชายแดนรัฐคะเรนนี
ทั้งนี้ PNLO เรียกร้องให้ประชาชนให้การสนับสนุนทางกลุ่มในการต่อต้านกองทัพเผด็จการทหาร และเรียกร้องให้ชาวปะโอร่วมมือกับฝ่ายต่อต้าน รวมถึงร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธคะเรนนี
สำนักข่าว Chindwin รายงานว่า หลัง PNLO สามารถยึดเมืองสี่แส่งได้ ทางกองทัพพม่าได้ยื่นข้อเสนอขอเจรจา อย่างไรก็ตามยังไม่มีท่าทีใดๆจากฝ่ายปะโอ PNLO
ทั้งนี้ PNLO ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) เมื่อปี 2558 ร่วมกับกองทัพพม่า และยังคงมีส่วนร่วมในการเจรจจาสันติภาพอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐประหาร ส่วนชนวนตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนลุกลามไปสู่การยึดเมืองสี่แส่ง สาเหตุเกิดจากทหารพม่าพยายามยึดอาวุธของ PNLO ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในเขตเมืองโหโปง และกองทัพพม่ายังได้ทิ้งระเบิดใกล้กับสำนักงานใหญ่ของ PNLO ทั้งนี้ PNLO ระบุว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พยายามรักษาจุดยืนเป็นกลางและยึดตามข้อตกลงหยุดยิง แต่จากนี้จะเข้าร่วมกับปฏิบัติการ 1027 ต่อต้านกองทัพพม่า