เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตาก และประธานคณะกรรมการส่วนชายแดน (TBC) ไทย-พม่า เปิดเผยว่าได้รับรายงาน จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบโลหะหนักในน้ำดิบ โดย ห้องปฏิบัติการ (Lab) วิเคราะห์สิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 โดยผลการตรวจสอบน้ำดิบ จากจุดเก็บตัวอย่าง 5 จุด วิเคราะห์หาปริมาณโลหะหนัก จำนวน 9 ธาตุ ประกอบด้วย ทองแดง นิกเกิล แมงกานีส สังกะสี แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว ปรอท และสารหนู
“ผลการตรวจสอบพบว่ามีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน แต่พบว่ามีปริมาณเหล็กและแคลเซียมคาร์บอเนต สูงกว่าในลำน้ำทั่วไปเล็กน้อย โดยธาตุเหล็ก ไม่เป็นอันตรายต่อการอุปโภคและบริโภคน้ำ”พ.อ.ณฑี ระบุ
ประธาน TBC กล่าวว่าสำหรับ แคลเซียมคาร์บอเนต ทำให้น้ำดิบมีความกระด้างมากกว่าปกติ แต่สามารถถูกกำจัดได้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำประปา โดยสรุป ทั้งธาตุเหล็กและแคลเซียมคาร์บอเนต ไม่เป็นอันตรายต่อการอุปโภคและบริโภคน้ำ แต่ควรควบคุมไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดความขุ่นผิดปกติ ควรพิจารณาถึง อุตสาหกรรมเหมืองผิวดิน และอุตสาหกรรมเหมืองหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมซีเมนต์ ซึ่งหากมีการดำเนินการโดยไม่มีการกำจัดน้ำเสียและของเสียให้ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อการปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ