เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มคณะก่อการล้านนาใหม่ จัดกิจกรรม “นิรโทษกรรมประชาชน” ณ ประตูท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง รวมทั้งคดีมาตรา 112 เริ่มตั้งแต่การรัฐประหาร กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน แต่ยกเว้นการนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุและผู้ก่อกบฏทำการรัฐประหารยึดอำนาจประชาชน

บรรยากาศภายในงานมีการนำป้ายผ้าให้ประชาชนที่เข้าร่วมงานร่วมออกความคิดเห็น โดยมีข้อความต่างๆ อาทิ ปล่อยเพื่อนเรา ,ยกเลิก112 ,ขังได้แต่ตัว แต่ไม่อาจขังความคิด ,คิดต่างไม่ใช่จะผิด โดยมีการจัดแสดงดนตรี และวงเสวนาพูดคุยผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง และจัดแสดง Art Performance อ่านกวี สะท้อนให้เห็นถึงการแสดงออกที่หลากหลายรูปแบบ

ด้านนายสุริยา แสงแก้วฟั้น ผู้พิการที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดี กล่าวว่า หากมีการนิรโทษกรรมประชาชนจะนำไปสู่ทางออกที่เลวร้ายน้อยที่สุดในการเมืองไทย เพราะเราไม่สามารถเลือกวิถีทางในรูปแบบอื่น เช่นการประท้วง เพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่าง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ถืออำนาจ  แต่ประชนต่างหากที่ได้รับผลกระทบ เช่น การถูกจับ การถูกขัง การล้อมปราบ การบังคับสูญหาย จากผู้ที่มีอำนาจ ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการเสนอร่างนิรโทษกรรมประชาชน และรวมถึง ม.112 เพราะ112 เป็นส่วนหนึ่งของการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ 

“ทหารที่ทำการรัฐประหารประกาศคำสั่งแล้วทำอะไรก็ได้ แม้กระทั้งการบรรจุคำสั่งของกลุ่มตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญ  อาศัยอำนาจองค์รัฏฐาธิปัตย์ ใช้ปืน รถถัง แย่งชิงอำนาจจากประชาชนมาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เพื่อกลุ่ม และพวกพ้องตัวเอง โดยที่เจ้าของผลประโยชน์อย่างประชาชน แม้แต่อ้าปากพูดว่าไม่เห็นด้วย ยังต้องถูกจับ ถูกคุมขังเข้าไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร ให้คิดตามที่ทหารต้องการ”นายสุริยากล่าว

ขณะที่นางสาวธีรภรณ์ พุดทะสี นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า การนิรโทษกรรมคงไม่ได้ยุติความขัดแย้งทั้งหมด ความขัดแย้งก็ยังคงยังมีต่อไปเพื่อการถกเถียงและหาทางออกให้กับสังคม สำหรับเราการนิรโทษกรรมคือการเซ็ตซีโร่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ว่าจะเป็นฝั่งฝ่ายไหนที่ได้รับผลก็ตาม ซึ่งคงดีกว่าการจองจำคนเหล่านี้ให้อยู่ในคุก หรือเผชิญหน้ากับคดีความทางความคิด ซึ่งบางคดียังไม่เคยถูกพิสูจน์ความถูกผิด และไร้ความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม

”เราจึงออกมาแสดงออกและเรียกร้องให้นิรโทษกรรมประชาชน ให้ผู้ที่ถูกคุมขังและผู้ถูกดำเนินคดีได้มีอิสรภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง เราใช้ศิลปะในการสื่อสาร เพราะศิลปะเติบโตมากับห้องเรียนทำให้ศิลปะดูเข้าถึงยากและผูกยึดไว้กับชนชั้นนำในไทย เราก็เลยรู้สึกว่าศิลปะควรจะถูกนำมาหยิบยกใช้กับประเด็นทางสังคมใช้กับการเคลื่อนไหวในท้องถนนด้วย ควรจะถูกใช้เพื่อสะท้อนสังคมและศิลปะต้องรับใช้ประชาชน“นางสาวธีรภรณ์ กล่าว 

ด้านนายสมหวัง อภิบาล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า คดีทางการเมืองก็คือคดีที่ปิดปากประชาชน เพราะกระบวนการยุติธรรมไทยหมดความหมายและคุณค่าไปนานมากแล้ว 

“ประชาชนที่ออกไปเดินและเคลื่อนไหวแสดงความเห็นด้วยวิธีการต่างๆ บนท้องถนนจึงไม่ควรมีความผิดใดๆ จากองค์กรที่ถือตนเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน ซึ่งไม่มีความยุติธรรมและยึดโยงกับประชาชนตั้งแต่ต้น”นายสมหวัง กล่าว

——————

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.