
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 สื่อมวลชนและช่องทางสื่อสารโซเชียลในพม่ายังคงรายงานถึงกรณีที่ประชาชนในวัยหนุ่มสาวพากันอพยพหนีการเกณฑ์ทหารภายหลังจากที่รัฐบาลทหารพม่าบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารโดยให้ผู้ที่มีอายุ 18-35 ปีเข้าเป็นทหารในกองทัพ โดยสำนักข่าว SHAN รายงาน ขณะนี้มีประชาชนในรัฐฉานและในพม่าได้เดินทางไปขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศจีนและไทยเป็นจำนวนมาก โดยที่เมืองหมู่แจ้ บริเวณชายแดนรัฐฉาน – จีน มีประชาชนต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอทำวีซ่าเป็นเวลาหลายวัน
ชาวบ้านในเมืองหมู่แจ้รายหนึ่งกล่าวว่า มีประชาชนจากพื้นที่อื่นๆ มายังชายแดนเมืองหมู่แจ้เป็นจำนวนมากเพื่อทำบัตรผ่านแดนไปยังประเทศจีน โดยประชาชนต้องนั่ง-นอนหลับข้างถนนเพื่อรอคิวทำบัตรผ่านแดน ขณะเดียวกันประชาชนหลายพันคนในกรุงย่างกุ้งก็ยืนต่อแถวเพื่อขอวีซ่าเข้าประเทศไทย ประชาชนบางส่วนเปิดเผยว่า จากเดิมที่ต้องมารอวีซ่าเพียงสัปดาห์เดียว ขณะนี้ต้องรอวีซ่านานถึง 2 สัปดาห์ ทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายตามไปด้วย
ด้านสำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า ที่สำนักงานทำหนังสือเดินทางในมัณฑะเลย์ มีประชาชนไปยืนต่อแถวเพื่อทำหนังสือเดินทางเป็นจำนวนมาก และเกิดเหตุการณ์ชลมุนเบียดเสียดจนมีหญิง 2 รายเสียชีวิตเนื่องจากหายใจไม่ออก ขณะที่อีก 1 รายยังอยู่ระหว่างรักษาตัว โดยในมัณฑะเลย์นั้น มีประชาชนมายืนต่อแถวเพื่อทำหนังสือเดินทางราว 5,000 คนต่อวัน แต่ทางการพม่าจำกัดทำให้แค่ 200 คนต่อวันเท่านั้น ส่วนในกรุงย่างกุ้ง ทางการพม่าเปิดให้ทำเล่มหนังสือเดินทาง 2,500 คนต่อวัน อย่างไรก็ตามทางการพม่าไม่ยอมต่ออายุหนังสือเดินทางให้กับประชาชนบางส่วนที่หนังสือเดินทางหมดอายุและใช้วีซ่านักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศ
ขณะที่เหล่านายหน้าซึ่งรับทำวีซ่าเองได้เปิดเผยว่า ตัวเลขคนที่จะทำวีซ่าเพื่อออกประเทศนั้นเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่กองทัพพม่าประกาศกฎหมายเกณฑ์ทหารออกมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567
ขณะที่เพจข่าวไทใหญ่ Ying Oum Mwe Vlog รายงานว่า จากเดิมค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทางพม่าอยู่ที่ 772 บาทเท่านั้นเมื่อเทียบกับเงินบาทไทย ขณะนี้มีราคาสูงถึง 24,000 บาท โดยเฉพาะที่เมืองมงยวา โดยเพจดังกล่าวยังออกมารายงานว่า ขณะนี้ทั่วพม่าเริ่มมีเหตุการณ์เยาวชนทั้งชายและหญิงหายตัวหลังเดินทางออกจากบ้าน ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเกี่ยวข้องกับการจับกุมไปเป็นทหารหรือไม่ ด้านสหภาพนักศึกษาไทใหญ่ (Tai Students’ Union) ได้ออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์กองทัพโกก้าง MNDAA ว่าจับกุมสมาชิกของกลุ่มรายหนึ่งไปเป็นทหารตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยเรียกร้องให้กองทัพโกก้างรีบปล่อยตัวเด็กหนุ่มรายดังกล่าวโดยเร็ว
ขณะเดียวกันมีบทความที่น่าสนใจเขียนโดย Surachanee Sriyai เผยแพร่โดยสำนักข่าว Irrawaddy โดยวิเคราะห์ว่า ความเป็นไปได้ 2 ทางเลือกสำหรับคนหนุ่มสาวพม่าที่ไม่ต้องการจะเป็นทหารภายใต้กองทัพพม่า คือ 1. เลือกที่จะเข้าร่วมกับกองทัพฝ่ายต่อต้าน PDF หรือกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับกองทัพพม่า และ 2. คือการเดินทางออกจากประเทศพม่า และจุดหมายที่เป็นไปได้สุดคือประเทศไทย ซึ่งเดินทางง่ายกว่าไปยังจีนหรืออินเดีย
แม้จะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะมีคนหนุ่มสาวเดินทางข้ามชายแดนมายังไทยจำนวนเท่าไหร่ แต่เมื่อมาดูตัวเลขในปัจจุบัน จำนวนผู้หญิงประมาณ 2,240,553 คน อายุ 20-29 ปี และชายอีกประมาณ 4,496,512 คน อายุ 20-34 ปี ที่อาจเข้าเกณฑ์ต้องเป็นทหาร เชื่อว่า หากมีหนุ่มสาวพม่าเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้ไม่ต้องการเป็นทหารและหนีเข้าไทย จะทำให้มีตัวเลขสูงถึง 1,347,412 คนทะลักเข้ามา
ในบทความยังวิเคราะห์ว่า ผู้ที่จะเดินทางมาถึงไทยกลุ่มใหม่นี้อาจแตกต่างจากกลุ่มที่เดินทางเข้าไทยกลุ่มก่อนๆ เนื่องจากหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่มีบ้านให้เดินทางกลับไป และทันทีที่พวกเขาหนีออกมาจากบ้าน หากถูกทางการพม่าจับกุมได้ พวกเขาอาจต้องเผชิญถูกลงโทษหนักถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อพิจารณาตามหลักการสากลของการไม่ผลักดันกลับ นั่นหมายความว่า ไทยจะไม่สามารถส่งกลับผู้อพยพกลุ่มใหม่นี้ได้ โดยคำนึงถึงภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเขา ซึ่งจะเป็นข้อเสนออีกขั้นที่ซับซ้อนสำหรับประเทศไทย เนื่องจากต้องมีมาตรการและความช่วยเหลือที่แตกต่างกันสำหรับคนกลุ่มนี้เมื่อเปรียบเทียบกับ “ผู้ลี้ภัยฉุกเฉิน” ซึ่งเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน ในพื้นที่ควบคุมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยพักพิงในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่กำหนด (TSAs) ตามแนวชายแดนไทย-พม่า โดยมีมาตรการจำกัดโดยทางการไทย