Search

‘รังสิมันต์’ พร้อม กมธ.กิจการชายแดนฯ ลงพื้นที่เชียงรายพบสามเหลี่ยมทองคำแหล่งอาชญกรรมข้ามชาติ หวั่นจีนเทาถูกปราบหนีเข้าไทย ด้านแม่น้ำโขงเจอสารพัดปัญหาข้ามพรมแดน

วันที่ 11 มี.ค. 2567 นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน และรับฟังบรรยายสรุปจากหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยราชการชายแดนที่เกี่ยวข้อง ถึงสภาพปัญหาชายแดนในพื้นที่ รวมทั้งข้อมูลสถานการณ์ชายแดนในเขตพื้นที่อำเภอเชียงแสน

นายรังสิมันต์  โรม กล่าวภายหลังบรรยายสรุปว่า สิ่งที่กังวลมี 2-3 เรื่อง คือปัญหาอาชญากรรมซึ่งข้อมูลที่ได้รับแตกต่างจากที่อื่นจะเป็นยาบ้า เมตแอมเฟสตามีนเป็นยาเสพติดหลัก พื้นที่นี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยกเรื่องแฮปปี้วอร์เตอร์ซึ่งเป็นยาเสพติด ที่เป็นส่วนผสมของเมตแอมเฟสตามีนและเคตามีนผสมกัน แพร่ระบาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน แน่นอนว่าจะมาจากพื้นที่บริเวณใกล้กับไทย บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่เรียกว่าคิงส์โรมัน คนจีนมาเที่ยวและทำงานเป็นจำนวนมาก เป็นไปได้ที่ยาเสพติดชนิดนี้จะทะลักมาจากบริเวณนั้น

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่สองที่กังวลคือ สะพานเชื่อม 3 ประเทศบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ คือเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณคิงส์โรมันฝั่ง สปป.ลาว เชื่อมพม่าที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก และเชื่อมไทย ที่เชียงแสน เบื้องต้นมารับฟังฝ่ายในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลก่อน ทราบว่ายังไม่ได้มีการพูดคุยโครงการนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ยังไม่มีการวางแผนโครงการ แต่เป็นฝ่ายคิงส์โรมันที่มีการคิดอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่รวบรวมไปศึกษาว่าจะมีผลกระทบและความเสี่ยงอะไรต่อไป

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่สามเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ เบื้องต้นทราบว่ามีความพยายามช่วยอยู่ตลอดเวลา เท่าที่ทราบน่าจะสำเร็จแต่ก็ตามเรื่องนี้อยู่

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องเขตแดน ที่ต้องยอมรับว่าตั้งแต่สนธิสัญญาฝรั่งเศสเป็นต้นมา และมีการเจรจาข้อตกลงไทยกับลาวมาตลอด ค่อนข้างมีความอ่อนไหวในเรื่องนี้ เนื่องจากร่องน้ำลึกมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อาจมีผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติเมื่อกระแสน้ำพัดไปมาอาจจะทำให้เกิดเกาะต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งของปัญหาทั้งสองฝั่ง รวมถึงการสร้างสะพานอาจทำให้เกิดการล้ำและกระทบเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนได้

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องไปดูผลกระทบเรื่องนี้ และหารือกัน รวมทั้งเรื่องขุดทรายและการทำเขื่อนกันตลิ่งที่ฝ่ายไทยมีการประท้วงไปเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีการแก้ไข สิ่งเหล่านี้อยู่ในช่วงการรวบรวมข้อมูลพูดคุยกัน” รังสิมันต์ กล่าว

นายนังสิมันต์ กล่าวอีกว่า แม้จะมีอุปสรรคข้อท้าทายแต่เชียงแสนก็เป็นพื้นที่มีศักยภาพและมีโอกาสที่จะเชื่อมเรื่องการท่องเที่ยว  เป็นจุดที่คนไทยและคนต่างชาติต้องการมาพบเห็นด้วยตา ดังนั้นเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะมาสร้างการพัฒนา ซึ่งต่อไปเราจะตั้งอนุ กมธ.ขึ้นมาเพื่อศึกษาการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ในทุก ๆ พื้นที่ทั่วประเทศ

“เส้นเขตแดนที่สุดท้ายแต่ละประเทศก็จะเอาผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการหาจุดที่ลงตัวที่พอดีก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เรามีความพยายามเจรจาเส้นเขตแดนในประเทศต่าง ๆ แม้พยายามค่อนข้างมากแต่ก็ยังไม่สำเร็จในหลายจุด ที่ชัดเจนจะมีด้านมาเลเซียไทย” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องเกาะช้างตายจะต้องคุยกับรัฐบาลว่kจะมีการแก้ปัญหาอย่างไร ต้องดูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องดูว่าจะพูดคุยอย่างไรที่จะนำไปสู่การไม่ทำลายความสัมพันธ์ เพราะความสัมพันธ์ไทย-ลาวมีมูลค่าสูง ที่มีการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ  และมีมิติการดูแลกัน ต้องให้ความสัมพันธ์กระทบกระเทือนน้อยที่สุด

“โดยหลักการเส้นเขตแดนไม่ควรจะวันนี้เป็นไทย วันนี้ไม่ใช่ของไทย มันไม่ควรแปลความแบบนั้น อย่างพื้นที่เกาะช้างตายที่บางคนเรียกว่าแหลมช้างตาย ครั้งหนึ่งติดกันกับไทย วันหนึ่งสภาพเปลี่ยนแปลง ถ้าตีความเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็นปัญหา การตีความแบบนี้ต้องหาความชัดเจน แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย เบื้องต้นเราก็ต้องพยายามปกป้องผืนแผ่นดินเราให้มากที่สุด ขอเวลาคุยกับกระทรวงต่างประเทศว่าเราจะแปลความเรื่องนี้อย่างไร มันต้องมีแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ให้ชัดเจนเช่นเดียวกัน” นายรังสิมันต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวสอบถามประเด็นอาชญากรรมกลุ่มจีนเทา หลังการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีกลุ่มจีนเทาหลบหนีเข้ามาอยู่ในพื้นที่คิงส์โรมัน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบยืนยันว่ามีจริง และทางจีนก็มีการมาดำเนินการกวาดล้างเป็นระยะ อย่างไรก็ตามท่าทีที่ขาดหายไปคือท่าทีประเทศไทย ซึ่งผลกระทบอาชญากรรมข้ามชาติไม่ได้กระทบต่อคนจีนเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อคนไทยด้วย ดังนั้นต้องเพิ่มบทบาทของไทยในการแก้ไขอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งพื้นที่อาชญากรรม มีพื้นที่ท่าขี้เหล็ก เคเคพาร์ค ชเวก๊กโก๋ เมียวดี เป็นพื้นที่สำคัญที่มีเรื่องแบบนี้อยู่ วันนี้ทำให้เรารู้ว่าแม้เป็นธุรกิจคนละกลุ่มแต่มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ การศึกษาเมียวดีในวันที่ 14 มีนาคมนี้ เราจะเห็นภาพอาชญากรรมที่ปล่อยไปแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อประเทศไทย ที่เราควรเข้าไปดูได้แล้ว

ส่วนประเด็นที่มีคนจากหลายประเทศ เช่น ยูเครน อินโดนีเซีย รัสเซีย ประเทศแถบแอฟริกา ถูกหลอกมา ประธาน กมธ.กล่าวว่า ได้รับทราบว่ามีหลายประเทศ ซึ่งสแกมมีหลายแบบ หลอกให้กดลิงค์ การใช้คอลเซนเตอร์ หรือโรมานซ์สแกม และคนที่เป็นเหยื่อมีทั้งในยุโรป คนจีน คนไทย ดังนั้นต้องยอมรับว่าตรงนี้เป็นเซนเตอร์สำคัญที่ทำการหลอกลวงคนจากทั่วโลก มีเหยื่อจากแอฟริกาถูกซ้อมถูกทรมานสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง แต่ต้องยอมรับว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้ตั้งอยู่ในลาว อยู่ในเมียนมา ซึ่งระบบกฎหมายไม่เหมือนกัน เราจะไปแทรกแซงก็จะมีความอ่อนไหว ละเอียดอ่อน ต้องหาวิธีการช่วยคนไทยให้ได้มากที่สุด และละเมิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้น้อยที่สุด

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีล่าสุดที่ทางจีนได้กวาดล้างอาชญากรรมข้ามชาติครั้งใหญ่หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนตั้งช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาและสามารถนำคนจีนกลับประเทศได้ทันที ซึ่งไทยก็เปิดเส้นทางการบินเหมาลำให้ดำเนินภาระกิจได้ แต่ทำไมไทยไม่สามารถนำคนไทยกลับประเทศได้ นายรังสิมันส์กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นคือที่ ชเวก๊กโก เมียวดี เป็นเมืองที่ติดกับแม่สอดเรา อยู่ใกล้กับประเทศไทยมาก ทางจีนยังสามารถดูแลและนำคนของเขากลับไปได้ ผมเชื่อว่าไทยที่มีพรมแดนเชื่อมกับเมียนมาสองพันสี่ร้อยกว่ากิโลเมตร ไทยก็น่าจะมีศักยภาพทำอย่างเดียวกัน แต่เรื่องนีี้ต้องขอศึกษาเพราะอาจจะเป็นแนวทางที่ไทยไม่เคยทำมาก่อน

“ดังนั้นของเวลาเราเก็บข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐในความเป็นไปได้ เราอาจต้องคุยกับ สมช. ทบ. ตร. กต. และมท. ที่ต้องใช้เวลา แต่เราอยากจะสร้างโปรโตคอล มาตรฐานในการสื่อสารเครือข่าย ถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น มาตรการที่จะช่วยเหลือคนไทยที่ตกนรกในต่างประเทศคืออะไร นี่คือสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพราะปัจจุบันวิธีการที่จะแก้ปัญหาเวลามีเรื่องรับแจ้งทั้งแบบทางการและแบบลับๆ แต่บางครั้งได้ผล บางครั้งล้มเหลว จึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันในการทำโปรโตคอล ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าประเทศอื่นทำได้ไทยก็ต้องมีศักยภาพทำได้” นายรังสิมันต์ กล่าว

จากนั้นช่วงบ่าย คณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ เดินทางไปลงพื้นที่ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งมีชาวบ้านหมู่บ้านห้วยเอียด ต.หล่ายงาว ยื่นหนังสือเรื่องผลกระทบจากการระเบิดและโม่หินฝั่งลาว จนส่งผลกระทบกับฝั่งไทยบริเวณบ้านห้วยเอียน ความแรงจากการระเบิดหินต่อเนื่องทำให้ผนังกระจกในอาคารรีสอร์ตแตกละเอียด และมีเสียงดังและฝุ่นกระจายจำนวนมากในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนก็มีการโม่หินเสียงดังถึงกลางดึก ได้ขอให้ทาง กมธ. ช่วยหาทางลดเวลาการโม่หินและหาทางเจรจาบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน

นายอภิธาร  ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลม่วงยาย กล่าวว่า ขณะนี้เส้นแบ่งเขตแดนทางฝั่งไทย – ลาว ทางเวียงแก่นกับเมืองปากทาง มีความเห็นร่วมกันถึงหลักเขตแดนหมุดสุดท้ายที่บริเวณแก่งผาได หลังจากที่เคยมีปัญหาพิพาทไทย-ลาวที่ยึดสันปันน้ำคนละเส้นกันก่อนที่จะลงแม่น้ำโขงได้ข้อยุติแล้ว และเห็นร่วมกันที่จะทำให้เป็นเขตพัฒนาร่วม ทางเทศบาลตำบลม่วงยายได้เสนอ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการทำแนวกันไฟบนสันดอยผาหม่น – ผาจิ (บริเวณผาได ถึงบ้านไทยสมบูรณ์) ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ที่จะเป็นความร่วมมือกันในการเฝ้าระวังไฟป่า  และโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างประเทศ (บริเวณแก่งผลได จ.เชียงราย – เมืองปากทาง สปป.ลาว) เป็นการพัฒนาต่อยอดสร้างพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และขณะนี้ในโครงการทั้งสองอยู่ระหว่างการจัดหางบประมาณเพื่อสำรวจพื้นที่ที่จะทำเชื่อมต่อถนนฝั่งไทยที่อยู่ห่างจากถนนฝั่งลาวประมาณ 400 เมตร โดยมองอยู่ 2 แนว คือการขุดอุโมงค์ลอดช่องเขาไป หรือการสร้างเชื่อมต่อทางริมแม่น้ำโขงที่ไม่ต้องเจาะเขา

ต่อมาคณะ กมธ.ฯ ได้ไปดูพื้นที่บริเวณปากงาว และแก่งผาได ประเด็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากแบง ที่จะมีปริมาณน้ำเท้อทำให้ระดับสูงท่วงแก่งและอาจเท้อไปถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) โดยครูตี๋ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และนายสุทัศน์ ยาละ สมาชิกพรรคก้าวไกล และนายอภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลม่วงยาย ได้นำเสนอถึงผลกระทบที่ชาวบ้านกังวลและปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา ที่ชาวบ้านยังไม่ได้รับคำตอบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นชัดเจน

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงนำไปสู่น้ำเท้อเกาะแก่งความสวยงามทั้งหลายหายไป มันคือเกาะแก่ง ถ้าเป็นฤดูหนาวคงจะสวยงามมาก จากฟังข้อมูลจากนายกเทศมนตรีฯ ทราบว่าประชากรในตำบลม่วงยายมีประมาณ 8,000 คน แต่นักท่องเที่ยวมีกว่า 1 หมื่นคน ถ้ารักษาสภาพแวดล้อมและจัดการปัญหาสภาพอากาศ PM 2.5 ได้ พื้นที่นี้จะคึกคักขนาดไหน ท้องถิ่นได้เสนอโครงการน่าสนใจ เช่นการเชื่อมเส้นทางกับปากทา มีโอกาสเหล่านี้อยู่ ดังนั้นก่อนจะไปเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเราควรจะคำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ เพราะถ้าเซ็นไปแล้วสุดท้ายส่งผลกระทบขึ้นมาจะแก้ไขลำบาก เอกชนอาจจะมาฟ้องรัฐ

“อย่างไรก็ตามทราบว่าโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วโดย กฟผ. แต่ของเวลาไปดูในเรื่องของการศึกษาเรื่องผลกระทบต่อไป ทราบว่าเดือนมกราคมที่ กฟผ.บอกว่าถ้ามีผลกระทบที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็น กฟผ.สามารถยกเลิกสัญญาได้ ดังนั้นเป็นช่องหนึ่งที่ต้องไปดู และฟังแต่ละฝ่าย แต่ทราบว่าเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่สมบูรณ์เท่าไหร่” นายรังสิมันต์ กล่าว

On Key

Related Posts

นายจ้างสีขาว-ลูกจ้างต่างด้าวหวั่นข้อมูลลงทะเบียนแรงงานหลุดถึงมือรัฐบาลพม่า-เชื่อถูกนำไปเช็คบิลแน่หลังรัฐบาลทหารพม่าถังแตกสั่งเรียกเก็บภาษี 25% ชาวมอญตื่นสั่งลูกเลิกเรียนแห่กันเข้ามาขุดทองในไทย

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 นางนิลุบล พงษ์พะยอม ตัวRead More →

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →