ปิยนันท์ จิตต์แจ้ง
บรรยากาศทริปการเดินทางล่องแม่น้ำโขงวาดภาพของเหล่าศิลปินที่สัมผัสร้อนหนาว นอนกลางดินกินกลางเกาะดอน การล่องเรือหางยาวฝ่าเปลวแดดในขาไปยังจุดทำงานสองแห่งลุ่มแม่น้ำโขง และขากลับด้วยกระแสลมนิ่งทำให้หมอกควันไฟป่าปกคลุมพื้นที่ และยังมีฝุ่นจากการก่อสร้างที่ฟุ้งกระจายตามพื้นที่ทำงานที่กั้นตลิ่งแม่น้ำโขงรายทาง การขุดภูเขาริมแม่น้ำที่ได้รับสัมปทานนำไปใช้ในการสร้างถนนหนทางและสิ่งก่อสร้างที่กำลังขยายตัวอย่างหนัก การสัญจรริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและลาวคับคั่ง โดยเฉพาะฝั่งลาวที่เมืองกำลังเติบโต จึงเห็นรถบรรทุกสินค้าและบรรทุกหินและดินวิ่งอยู่แทบตลอดเวลา
นี่คือสองฝั่งโขงระหว่าง 3 อำเภอของจังหวัดเชียงราย กับ 2 เมืองของแขวงบ่อแก้ว ในยามนี้ ที่เราได้เชิญชวนศิลปินมาสัมผัส
พื้นที่ทำงานศิลปะในทริปนี้ คือ “ร้องฟาน” และ “ผาได” เป็นจุดหมายที่ทางโฮงเฮียนแม่น้ำโขง และนาคาสตูดิโอ ได้นำพาศิลปินมาพักค้างแรมเพื่อได้เห็นบรรยากาศทั้งกลางวันกลางคืนเพื่อให้ศิลปินได้เขียนภาพ
“ร้องฟาน” เป็นดอนทรายที่มีแก่งหิน และน้ำเซาะอยู่ด้านหลังดอนที่ภาษาถิ่นจะเรียกนิเวศชนิดนี้ว่า “ร้อง” ที่มีกระแสน้ำอ้อมไปด้านหลังแก่งดอนที่ไม่ลึกนัก ในหน้าแล้งน้ำแห้งมักจะเชื่อมเป็นผืนเดียวกัน หรือเป็นสายน้ำเล็ก ๆ อยู่หลังเกาะ “ฟาน” คือเก้ง เนื่องจากชาวบ้านพบเห็นเก้งอยู่ในบริเวณนี้จึงเรียกหาดนี้ว่า ร้องฟาน ซึ่งอยู่บริเวณหาดของบ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย
ส่วน “ผาได” เป็นพื้นที่แก่งหินขนาดใหญ่ที่เป็นจุดสุดท้ายก่อนแม่น้ำโขงไหลเข้าไปสู่ประเทศลาว
“ร้องฟาน” อยู่ในกลุ่มเกาะดอนแก่ง ”คอนผีหลง” ที่มีเกาะแก่งหินผาดอนทรายมากที่สุดแห่งหนึ่งในแม่น้ำโขงบริเวณนี้ มีนิเวศที่สมบูรณ์ ส่วน“ผาได” แก่งหินขนาดใหญ่ที่อยู่ หาดบ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย”
กำหนดการของทริปนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-9 มีนาคม 2567 โฮงเฮียนแม่น้ำโขงร่วมกับนาคาสตูดิโอได้จัดทำโครงการศิลปะวิถีแห่งสายน้ำของ โดยการชักชวนและพาศิลปินที่ทำงานเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์แม่น้ำโขงลงพื้นที่ร่วมกันสร้างผลงานทางด้านศิลปะ เพื่อใช้ในการระดมเงินจัดตั้งกองทุนในการทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง โดยครั้งนี้มีศิลปินวาดภาพเข้าร่วม 4 คน คือ
กิตติ ตรีราช ผู้จัดการนาคาสตูดิโอกล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานด้านศิลปะเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขาดงบประมาณและทรัพยากรในการสนับสนุนที่ชัดเจน ในหลายครั้งจึงไม่สามารถทำงานได้ตามเจตนารมณ์ที่ศิลปินได้วางไว้ อีกทั้งนาคาสตูดิโอมีความเชื่อว่างานศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ทรงพลัง ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด บทกวี บทเพลง
ขณะที่นาคาสตูดิโอมีต้นทุนทั้งในส่วนของเครือข่ายศิลปินที่หลากหลายแขนง และเครื่องมือในการผลิตผลงานศิลปะ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการรวมตัวศิลปินเพื่อสร้างผลงาน และเป็นการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้พบปะทำงานร่วมกันระหว่างรุ่นทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และขยายสู่ระดับโลก
“เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ในการสร้างผลงานในการสนับสนุนงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกิดเป็นกองทุนในการพึ่งพาตัวเองในการทำงานศิลปะ และสามารถเป็นช่องทางในการระดมทุนจากกลุ่มผู้มีกำลังทรัพย์ที่มีความสนใจในงานศิลปะ ในการหาทุนเพื่อสนับสนุนกองทุนทำงานด้านการอนุรักษ์ผ่านงานศิลปะที่หลากหลายแขนง ให้เกิดความยั่งยืนสืบต่อไป” นายกิตติ กล่าวถึงที่ไปที่มาของโครงการฯ ความผูกพันเชื่อมโยงศิลปินและแม่น้ำโขง
สุวัฒน์ อาวุธ ศิลปินอิสระที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้กล่าวว่า เมื่อ 30 ปีก่อนสมัยยังหนุ่มมีโอกาสร่วมกับศิลปินรุ่นครูบาอาจารย์ลงพื้นที่แม่น้ำโขงล่องแม่น้ำโขงไปหลวงพระบาง อ.ประเทือง เอมเจริญ อ.แนบ โสตถิพันธุ์ อ.จรูญ บุญสวน และอีกหลาย ๆ ท่าน
“ทำให้รับรู้ของความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขง ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ยังหนุ่มได้ล่องเรือเขียนภาพแม่น้ำโขง ก็รู้สึกประทับใจ กล่าวถึงเรื่องราว แม่น้ำโขง” อ.สุวัฒน์ย้อนความทรงจำที่ยังเวียนวนอยู่ในความรู้สึกกับสายน้ำ
ศิลปินวาดภาพ กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขงและนาคาสตูดิโอได้จัดขึ้น ได้เชิญชวนศิลปินได้มาร่วมกันสร้างสรรค์ ดนตรี กวี ศิลป์ บันทึกเรื่องราวแม่น้ำโขง การมาวานรูปครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี
“การล่องเรือเขียนภาพแม่น้ำโขงในกิจกรรมนี้ นับเป็นความอิ่ม ที่ได้เห็นพลังธรรมชาติแม่น้ำโขง เป็นโอกาสของผม ไม่งั้นผมไม่ได้มีโอกาสมาเขียนรูปแบบนี้ ผมคิดถึงตอนนี้ เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ปัจจุบัน และอนาคต เสียดายที่น้อง ๆ รุ่นหลังอาจไม่ได้มา มีหลายมุมที่สวยงาม แต่จุดผาไดมีความสำคัญ อยากให้ความงามมันอยู่ตรงนี้
“สำหรับผมเองคงเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้มาเขียน รู้สึกเสียดายกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง และคิดถึงรุ่นหลัง ๆ อาจไม่มีโอกาสมาเห็นสภาพเดิมที่เป็นอยู่ตอนนี้ “ผาได” บริเวณนี้นับเป็นจุดท้ายที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าไปในลาว ก่อนจะเข้าชายแดนไทยภาคอีสาน สำหรับผมถือว่าเป็นสถานที่ Unseen จึงเขียนภาพเพื่อต่อไปลูกหลานก็จะได้เห็นจากภาพเขียนอีกทางหนึ่ง
“การกลับมาครั้งนี้เหมือนกลับมาเป็นหนึ่ง เพราะกว่า 30 ปีแล้วที่เคยมา รู้สึกมีพลัง พลังแม่น้ำโขงมันยิ่งใหญ่ เรามีอะไรให้ศึกษา ให้บันทึกอะไรเยอะเรื่องงานศิลปะ เกาะแก่ง ความงาม“ อ.สุวัตน์กล่าว
ถนอม กองจันทร์ นับเป็นศิลปินรุ่นใหม่ เล่าถึงการมาร่วมโครงการครั้งนี้ว่า เป็นโครงการนี้น่าสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์แม่น้ำโขง โดยต้องการมาดูสถานที่จริงที่จะได้รับผลกระทบ ถ้าไม่ได้มาพื้นที่จริงก็ไม่รู้จะเขียนภาพออกมาอย่างไร
“โครงการศิลปินมาวาดภาพครั้งนี้เป็นความร่วมมือสร้างการขับเคลื่อนพลังเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ หล่อเลี้ยงโครงการ ขอบคุณโครงการดี ๆ ดีใจที่ได้มาร่วมได้มานอนกลางดิน กินกลางทราย”
เอกชัย ลวดสูงเนิน เล่าถึงความรู้สึกผูกพันกับแม่น้ำโขงว่า อาจคงเกี่ยวกันมาแต่ชาติปางก่อน เหมือนเคยขี่ไดโนเสาร์อยู่แถวลุ่มน้ำโขง แต่นั่นเป็นจินตนาการ และภาพจริงคือความผูกพันตั้งแต่เด็กเพราะพ่อทำงานที่เวียงจันทน์ กลับบ้านก็จะร้องเพลงของ ปอง ปรีดา และเมื่อมาเจอของจริงอันยิ่งใหญ่ โขดหิน เวิ้งน้ำ กว้างสุดตา และประทับใจเมื่อได้มาเชียงของ กว่า 30 ปีก่อน ท้องถิ่นลุ่มน้ำโขงตอนนั้นยังอุดมสมบูรณ์ ปลามากมาย เห็นคนหาปลาจำนวนมากตามรายทางที่ผ่านขณะล่องแม่น้ำโขง
“ผมเก็บความประทับใจมาจนอยากเห็นต้นกำเนิดที่มาของแม่น้ำโขง เคยปั่นจักรยาน 2 เดือน จากเชียงของ ไปเชียงแสน กวนเหล่ย ต้าลี่ ลีเจียง เพราะผูกพันมาก เป็นอะไรที่เรารักมันมาก
ผมเคยทำงานกับครูตี๋ สมัยที่อยู่ห้วยส้าน และพลับพลาทำไร่ พอจะมีการระเบิดแก่ง โครงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้างช้าง ครูตี๋ก็กลับมาต่อสู้ที่บ้านเกิด” อ.เอกชัยกล่าว
“ใครต่อใครที่คลุกคลีกับแม่น้ำโขงมา 20-30 ปี รู้จักเกาะแก่ง รู้จักหินผาทุกก้อนเป็นสิ่งที่ดี เป็นเสน่ห์ เป็นข้อมูลที่ดีที่สุดที่เราจะนำมาใช้รณรงค์หาทุนเพื่อเคลื่อนไหวในการอนุรักษ์ด้วยงานศิลปะ เมื่อเชิญศิลปินมามันจึงได้เปรียบว่าตรงไหนสวยไม่สวย สำคัญอย่างไร ไม่งั้นก็ต้องหากัน บางครั้งต้องใช้เวลาเป็นปี ล่องเรือมา 2 วันไม่ผิดหวังเลย บางจุดผมอยู่มา 30-40 ปี ยังไม่เห็นเลย บางจุดที่ศิลปินมาเจอมันก็พรั่งพรูออกมา”
จิตร นามเมืองลักษณ์ ศิลปินอีกผู้หนึ่งที่ลงพื้นที่ครั้งนี้กล่าวว่าเป็นความฝันมาตั้งแต่เด็ก อยากรู้ว่าแม่น้ำโขงไหลมาจากไหน อยากตามแหล่งกำเนิดแม่น้ำโขงไหลว่ามาอย่างไร ออกจากไหน และจะสิ้นสุดตรงไหน เป็นความผูกพันด้วย ตนเกิดที่ออีสานใกล้น้ำโขงเหมือนกัน โดยตอนเด็ก ๆ ชอบฟังเพลงลูกทุ่ง จากฝั่งลาวเกี่ยวกับน้ำโขง เพลงจากบ้านเราก็มีมาก คนชอบฟังเพลงก็ซึมซับเนื้อหาเพลงจากลำน้ำ ก็เลยมีความผูกพันโดยอัตโนมัติ
“พอเริ่มทำงานศิลปะ แรงบันดาลใจหนึ่งที่มากที่สุดก็คือแม่น้ำโขง ได้เขียนภาพแม่น้ำโขงหลาย ๆ ที่ เป็นทั้งหมู่คณะและไปเดี่ยว ไปคนเดียว ขับรถจากที่มันไหลลงจุดสุดท้ายที่ เวิ้นบึก โขงเจียม ไปนอนสัมผัสกินข้าวกินปลาอาหารที่ได้จากแม่น้ำโขงกับชาวบ้าน เรื่อยขึ้นมาตามลำน้ำโขงตะเข็บชายแดนมาถึงเชียงแสน จนกลายเป็นความผูกพัน ทั้งขับรถและเรือขึ้นล่อง จากเชียงแสนมาถึงเวียงแก่น และไปเชียงคานก็ไม่นั่งเขียนภาพที่นั่นบ่อย”
จิตรกล่าวว่า การมาล่องเรือครั้งนี้เป็นชีวิตจริง กิจกรรมนี้คือของจริง กินอยู่หลับนอนอาบน้ำในลำน้ำโขง ได้สัมผัสชีวิตจริงสุด ๆ และมีความรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ลงตัว เอาความงามทางด้านศิลปะและเสียงเพลงมาเป็นตัวขับเคลื่อนในการปลูกฝังความรัก เรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำ เราไม่ต้องไปตะโกนแหกปากร้องเปล่าๆ ไปบังคับขู่เข็ญให้ใครทำ เป็นเรื่องสวยงามค่อยให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ได้เข้าถึงได้ซึมซับ เกิดการรักและผูกพันที่สำคัญกิจกรรมนี้มองเห็นหัวใจคน ช่วยกันประคับประคองกันจนกิจกรรมเป็นดอกเป็นผล เป็นการสร้างสัมพันธ์ภาพเป็นพลัง
“หินแม่น้ำโขงตอนใต้จะเป็นหินทรายมากกว่า พอเริ่มมาทางเหนือ กายภาพจะแตกต่างกัน พอมาถึงเชียงคานหินจะมีแร่เหล็ก แร่ผสมมีชาวบ้านเอาหินมาขาย พอเอาเหล็กมาวางดูดได้ พอมาทางเหนือความเป็นโตรกผา ความเป็นชะง่อน ความลึกลับซับซ้อนกลางลำน้ำโขงจะมากกว่า น้ำทางนี้จะเชี่ยว ต้องแหวกว่าย ต้องดุดันเพื่อทะลุกับโตรกผาที่แข็งแรงที่สุด ในความเป็นหิน ในแต่ละที่แต่ละระยะของน้ำโขง ทรัพยากรในน้ำก็ต่างกัน ความหลากหลายของชีวภาพต่างกัน เพราะกระแสและอุณหภูมิของน้ำแตกต่างกัน อันนี้คือลักษณะหินตามเกาะแก่งที่ผ่านมา”
ราว 1 สัปดาห์ที่เหล่าศิลปินได้สัมผัสกับแม่น้ำโขงและพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเข้าถึง การเริ่มต้น “โครงการศิลปะวิถีแห่งสายน้ำของ” เป็นการทำงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์แม่น้ำโขง สร้างผลงานศิลปะเพื่อนำไประดมเงินจัดตั้งกองทุนในการทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้ศิลปินอีกมากมายได้ร่วมกันใช้งานศิลปะดูแลและเยียวยาแม่น้ำโขงซึ่งกำลังป่วยไข้อย่างรุนแรงจากฝีมือมนุษย์กลุ่มหนึ่ง
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.