เรื่อง/ภาพ โดย ภาคภูมิ ป้องภัย

จากหมู่บ้านกระสุน(ทหารพม่า)ตก มาวันนี้ 14 มีนาคม 2567 บ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กลายเป็นสถานที่จัดงานวัน “หยุดเขื่อนโลก”(International Day of Actions for Rivers) อีกครั้ง

นี่ไม่เพียงแสดงพลังคัดค้านการทำลายล้างธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังสะท้อนนัยยะของสงครามที่คร่าชีวิตมนุษย์ที่ไม่รู้จบสิ้นบนดินแดนกะเหรี่ยงเช่นกัน

กลุ่มเยาวชน 4 ลุ่มน้ำเคลื่อนขบวนเข้าสู่กิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลก

บ้านท่าตาฝั่งกลับคืนสู่ภาวะปกติมาได้ระยะหนึ่ง หลังจากกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูยึดครองพื้นที่ตลอดแนวแม่น้ำสาละวินติดชายแดนไทยจากกองทัพพม่าได้เกือบหมด ผู้คนหลายลุ่มน้ำกว่า 200 คนจึงเดินทางมาร่วมงานโดยไม่ต้องกังวลกระสุนปลิวเฉี่ยวหัว

วันหยุดเขื่อนโลกปีนี้ไม่มีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เช่นปีก่อนๆ แต่เน้นให้บทบาทกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ หลังรับไม้สานงานต่อจากบรรดาผู้อาวุโสเมื่อวันหยุดเขื่อนโลก ปี 2566  

ก่อนหน้างาน 2 วัน เยาวชน 4 ลุ่มน้ำภาคเหนือ ประกอบด้วยนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนต่างๆในลุ่มน้ำยวม เงา เมย และสาละวิน นักเรียนกะเหรี่ยงจากฝั่งรัฐกะเหรี่ยง รวมกว่า 60 คน เข้าร่วมค่ายเยาวชนสัมพันธ์ ทำความรู้จัก ละลายพฤติกรรม ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน อาทิ เก็บข้อมูลสถานการณ์ 4 ลุ่มน้ำ ฟังประสบการณ์จากผู้อาวุโส แบ่งกลุ่มเขียนป้าย ร่างแถลงการณ์ สวัสดิการ ฯลฯ

ในวงสนทนากับผู้อาวุโส นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ให้คำแนะนำเยาวชนเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการปกป้องวิถีชีวิตและธรรมชาติรอบตัว วิธีการทำงาน วิธีเก็บข้อมูลให้ครบถ้วน และกระตุ้นให้เยาวชนนำความรู้ต่างๆที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปกป้องรักษาแม่น้ำ

ซอ เนโซ ลุกขึ้นแสดงความเห็นหลังร่วมค่ายเยาวชนฯ 4 ลุ่มน้ำ

ซอ เนโซ นักเรียนกะเหรี่ยงโรงเรียนคริสต์ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากกิจกรรมตลอด 2 วันว่า ได้เรียนรู้เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า จะใช้ประโยชน์อย่างไร สำคัญอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร  

“ผมมั่นใจว่า ถ้าพวกเราเยาวชนทั้งสองฝั่งช่วยกันอย่างเข้มแข็ง ก็จะปกป้องรักษาแม่น้ำสาละวินเอาไว้ได้”

สถานการณ์ที่เยาวชนทั้งสองฝั่งต้องร่วมกันรับมือในวันข้างหน้า คือโครงการเขื่อนเว่ยจี ,ดากวิน และฮัตจี กั้นแม่น้ำสาละวินช่วงไหลผ่านไทย ซึ่งเป็นการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับบริษัทจีน แม้โครงการจะถูกชะลอไว้ชั่วคราว แต่มีแนวโน้มที่จะผลักดันกลับมาอีก เมื่อสถานการณ์ในพม่าคืนสู่ภาวะปกติ

เช้าตรู่วันที่ 14 มีนาคม ผู้เข้าร่วมงานวันหยุดเขื่อนโลกเคลื่อนขบวนจากลานกลางหมู่บ้าน ไปชุมนุมบนหาดริมแม่น้ำสาละวิน เสียงเพลง “Salween in the world” จากเยาวชน 2 ชาติพันธุ์ พาให้บรรยากาศและผู้คนคึกคักแจ่มใสท่ามกลางตะวันอ่อนแสง ท้องฟ้าปราศจากฝุ่นควัน PM 2.5

ไฮไลต์ของงานคือทุกคนร่วมเป็นสักขีพยานการอ่านแถลงการณ์ในนามเยาวชน 4 ลุ่มน้ำ

น.ส.แอรีน่า อ่านแถลงการณ์ในนามเยาวชน

“สายน้ำเปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงพวกเรา ดังคำกล่าวของผู้เฒ่าที่ว่า ดื่มน้ำรักษาน้ำ กินปลารักษาแม่น้ำ กินกบรักษาผา อาศัยแผ่นดินรักษาแผ่นดิน” น.ส.แอรีน่า ตัวแทนเยาวชน เริ่มต้นแถลงการณ์ก่อนเข้าสู่ประเด็นสำคัญ

“เป็นประจำทุกปีที่ชุมชนที่มีวิถีชีวิตร่วมกับสายน้ำและเครือข่ายภาคี ร่วมกันจัดกิจกรรมรักษ์แม่น้ำและร่วมกันปกป้องสายน้ำให้ไหลอย่างอิสระ แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ เช่น เขื่อนฮัตจีบนแม่น้ำสาละวิน เขื่อนผันน้ำยวม รวมถึงโครงการพัฒนาของรัฐอื่นๆ เช่น เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย เหมืองแร่ฟลูออไรต์แม่ลาน้อย ฯลฯ ชุมชนจะได้รับผลกระทบ ทรัพยากรป่าไม้ แม่น้ำจะถูกทำลาย ระบบนิเวศจะเปลี่ยนไป วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพวกเรากลุ่มชาติพันธุ์จะสูญสิ้น

นายสิงคาร เรือนหอม อธิบายภาพถ่ายระบบนิเวศในป่าลึกที่ไปบันทึกมา

 เราในนามเยาวชน ลูกหลาน เป็นปัจจุบันและอนาคต เรามีข้อเรียกร้องดังนี้

1.ยุติโครงการสร้างเขื่อนเพื่อให้แม่น้ำไหลอิสระ

2.ยุติโครงการพัฒนาของรัฐที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากร

3.ยกเลิกรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการสร้างเขื่อนผันน้ำยวม เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

4.เผด็จการทหารพม่าที่ก่อรัฐประหาร ต้องยุติการทำร้ายประชาชน และคืนอำนาจให้ประชาชน  

5.ขอให้รัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนจากรัฐกะเหรี่ยง ที่หนีภัยความตายมายังแผ่นดินไทยตามหลักสิทธิมนุษยชน

6.พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การศึกษาที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณสุขที่ดี เพื่อประชาชนในลุ่มน้ำสาละวินมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ปิดฉากด้วยการนำแพ No Dam ลงสู่แม่น้ำสาละวินตามธรรมเนียม เสร็จสิ้นกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลกแบบเรียบง่าย

นายทอง ปันหม่อง ประมงพื้นบ้านโชว์ลอบดักกุ้งลำห้วยได้หลายสิบตัว

น.ส.ลาหมึทอ ดั่งแดนวิมาน แกนนำเยาวชนบ้านท่าตาฝั่ง เผยแผนงานต่อไปคือการจัดค่ายเยาวชน 4 ลุ่มน้ำ รอบที่ 2 ของปี จำนวน 30-40 คน ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อขยายแนวร่วมให้กว้างขวาง และตอกย้ำว่ากลุ่มเยาวชนจะทำงานรณรงค์ด้านการอนุรักษ์ให้ต่อเนื่อง

งานปีนี้ขับเน้นบทบาทเยาวชนเป็นหลัก เช่นเดียวกับการคัดค้านโครงการเขื่อนผันน้ำยวม มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท มีชาวบ้านแม่เงา ต.แม่เงา อ.แม่สะเรียง รับบทบาทคณะวิจัยชุมชนให้ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มี ผศ.ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร เป็นหัวหน้าโครงการ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่างๆในพื้นที่ เพื่อใช้จัดทำข้อคิดเห็นหักล้างอีไอเอของกรมชลประทาน

ก่อนหน้าไม่นาน นายสิงคาร เรือนหอม หัวหน้าคณะวิจัยชุมชน นางดาวพระศุกร์ มึปรอย นายทอง ปันหม่อง พร้อมทีมงาน ล่องเรือ เดินป่า ไปตามแม่น้ำยวม ใช้เวลาหลายวันสำรวจข้อมูล บันทึกภาพระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติตลอดสองฝั่งแม่น้ำที่มีคุณค่าต่อวิถีชีวิต และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มีระบุไว้ในอีไอเอ

ในระยะทาง 30 กิโลเมตร พบระบบนิเวศที่สำคัญคือ วังหรือวน เป็นแหล่งอาศัยของปลา 14 ชนิด ลึกไปเรื่อยๆ มีหาด และเกาะแก่งสวยงามมาก ซึ่งน้อยคนจะได้เห็น บริเวณแก่งมีกองหินหลากสีสัน หลายขนาด แก่งบางช่วงแคบ มีก้อนหินใหญ่ขวาง ต้องใช้ไม้ไผ่ทอดสะพานข้าม พบเพิงผาและถ้ำซึ่งมีขวานหินขัดและหินกะเทาะกระจัดกระจายอยู่จำนวนไม่น้อย

ปิดท้ายด้วยการลอยแพ No Dam ลงสู่แม่น้ำสาละวิน

ตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำยวม ยังมีกุ้งลำห้วย มีรังผึ้งมากมายบนผาหิน ไม่นับพืชพันธุ์ที่ใช้ประกอบอาหารได้สารพัด

เหล่านี้คือคุณค่า และมูลค่าที่ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯจะนำไปใช้เป็นข้อมูลหักล้างอีไอเอ และนำไปเป็นหลักฐานต่อสู้ในชั้นศาลปกครองให้มีคำสั่งยุติโครงการผันน้ำยวม

จากการล่องเรือไปตามลำน้ำยวมด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่ถึง 10 กิโลเมตร เราได้สัมผัสถึงคุณค่าทางธรรมชาติ พบระบบนิเวศหลากหลาย ป่าไม้นานาพันธุ์ ทั้งหมดจะถูกทำลายลงโดยเขื่อนเก็บน้ำ และอุโมงค์ผันน้ำ

ดังนั้น ทั้งเยาวชนสาละวิน และชาวบ้านริมน้ำยวมล้วนมีสิทธิอันชอบธรรมในการต่อสู้กับผู้รุกรานวิถีการพึ่งพิงป่าและแม่น้ำ ต่อต้านการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติที่ยึดโยงกับภูมิปัญญาชาติพันธุ์

มันเป็นภารกิจสำคัญที่พวกเขามิอาจปฏิเสธได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.