เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ที่บริเวณด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก กระทรวงการต่างประเทศไทย และกองทัพบก ได้ทำพิธีส่งมอบสิ่งของความช่วยเหลือชุดแรกไปยังประชาชนในเมียนมาที่กำลังเดือดร้อนและหนีภัยการสู้รบในประเทศเมียนมา ผ่านทางสภากาชาดไทยและสภากาชาดเมียนมา โดยมอบความช่วยเหลือให้นายอู โอง ไว ประธานสภากาชาดเมียนมา สาขาเมียวดี เพื่อนำถุงยังชีพจำนวน 4,000 ชุด ส่งไปยังหมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยง 3 แห่ง ประกอบด้วย บ้านนาบู บ้านไปง์โจง บ้านตามันยา โดยใช้รถบรรทุก 10 คัน ซึ่งมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนจากเมืองเมียวดี ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติร่วมเป็นสักขีพยาน
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่าขบวนรถทั้งหมดจะไปถึงที่หมายภายในวันนี้ โดยจะถึงที่หมู่บ้านนาบูและตามายะในช่วงเที่ยง และไปถึงหมู่บ้านไป่ง์โจงในช่วงบ่ายแก่ๆ คาดหวังว่าการช่วยเหลือจะถึงมือประชาชนที่เดือดร้อนทุกคน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเป็นไปด้วยความโปร่งใส
“เป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างแท้จริง ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภายในประเทศเมียนมา อยากขยายความช่วยเหลือต่อไปยังพื้นที่อื่น ประเด็นสำคัญคือการช่วยเหลือครั้งนี้ เป็นการแสดงความหวังดีของไทยต่อเมียนมา โดยเฉพาะประชาชนชาวเมียนมา อยากจะเห็นเมียนมาสันติ มีเสถียรภาพ และมีเอกภาพ ปัญหาภายในเป็นปัญหาที่กลุ่มต่างๆในเมียนมาต้องแก้ไขกันเอง ประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุน จึงขอให้ทุกฝ่ายก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อกลับไปสู่กระบวนการหารือเพื่อความปรองดอง” นายสีหศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการช่วยเหลือวันนี้ไปถึงพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงได้มีการประสานงานกับกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ได้มีการประสานงานกับทุกภาคส่วน โดยไม่คิดว่าจะเป็นกลุ่มนั้นหรือกลุ่มนี้
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกพื้นที่นี้เป็นพื้นที่นำร่องเพราะมีตัวเลขของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศประมาณ 20,000 คน ซึ่งต้องการความช่วยเหลือ โดยถือว่าเป็นความช่วยเหลือข้ามพรมแดนครั้งแรกและการดำเนินการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ผู้สื่อข่าวถามถึงความพร้อมในการเป็นผู้ประสานงานเจรจาสันติภาพ (Peace Broker) นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับกลุ่มต่างๆในเมียนมาร์พร้อมให้เราเป็นหรือไม่ แต่เรามีความพร้อม ตรงไหนก็ได้และไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศไทย อยากจะให้คนอื่นช่วยสนับสนุนเราด้วย โดยในวันพรุ่งนี้ ตนจะมีโอกาสพบกับนายอาลุนแก้ว กิตติคุณ ผู้แทนพิเศษอาเซียนจากประเทศลาว ซึ่งจะได้มีการหารือกันว่าจะมีการทำงานร่วมกันหลังจากนี้อย่างไร
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเบื้องหลังใจการจัดกิจกรรมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในครั้งนี้ กองทัพบกได้เป็นผู้ประสานกับกองกำลังทหารกะเหรี่ยง BGF และทหารกะเหรี่ยง KNU กองพล 7 เนื่องจากผู้หนีภัยการสู้รบที่ส่งสิ่งของเข้าไปช่วยอยู่ในเขตอิทธิพลของ KNU แต่เส้นทางที่ออกจากสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 เป็นเขตอิทธิพลของ BGF อย่างไรก็ตามทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกองทัพบกต่างเป็นกังวลใจว่าจะกระทบความสัมพันธ์กับสภาบริหารแห่งรัฐพม่าหรือ SAC(State Administration Council) โดยเฉพาะพล.อ.มิน อ่อง หลาย ผู้นำ SAC ดังนั้นจึงพยายามชูบทบาทผ่านกาชาดของไทยและพม่า ทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงกาชาดของทั้ง 2 ประเทศแทบไม่รู้เรื่องด้วย เพียงแต่ตกปากรับคำภายหลัง
ทั้งนี้ทหารหน่วยงานของกองทัพบก ได้ประสานไปยังผู้นำ BGF และ KNU พร้อมลงพื้นที่เข้าไปสำรวจเส้นทางที่ใช้ลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถส่งไปถึงมือประชาชนที่กำลังเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม ได้มีการระมัดระวังอย่างสูงที่ไม่ให้ชื่อของ BGF และ KNU ออกเผยแพร่สู่สาธารณชนในฐานะที่มีส่วนร่วมสำคัญในขบวนการส่งต่อความช่วยเหลือในครั้งนี้
ศ.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าวว่าการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องดี และเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเรียกร้องมานาน และเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำมานานแล้ว อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยต้องยืนยันให้ชัดเจนว่า ความช่วยเหลือนี้จะต้องตกถึงมือประชาชนผู้ประสบภัยอย่างแท้จริงและการจัดการความช่วยเหลือต้องคิดในมาตรฐานสากล เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาผลกระทบด้านลบต่อไทยในเชิงภาพลักษณ์
ศ.สุรชาติกล่าวว่า รัฐบาลไทยต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อหลีกเลี่ยงว่า ความช่วยเหลือนี้จะต้องไม่ใช่การสนับสนุน SAC ในอีกแบบหนึ่ง ที่สำคัญคือรัฐบาลไทยควรยกเลิกข้อตกลงที่ทำกับ SAC ในการห้ามองค์กรเอกชนเข้าใกล้พื้นที่ชายแดน เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป หากความช่วยเหลือระหว่างประเทศมีมากขึ้น รัฐบาลผู้ให้ความช่วยเหลือในอนาคต อาจต้องการการมีส่วนร่วมขององค์กรเอกชนในพื้นที่
“การเตรียมรับกับปัญหามนุษยธรรมยังเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในเชิงนโยบายของรัฐบาลไทย สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้ เป็นสัญญาณที่รัฐบาลไทยควรเปิดการเชื่อมต่อกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในเมียนมาให้มากขึ้น รัฐบาลไทยควรลดท่าทีที่ต้องเกรงใจ SAC แบบไม่จบ เพราะจะทำให้หลายฝ่ายหวาดระแวงไทย ระแวงแม้กระทั่งการให้ความช่วยเหลือของไทย”ศ.กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งร่วมสังเกตการณ์ภารกิจเพื่อมนุษยธรรมครั้งนี้กล่าวว่า ได้เห็นความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่อยากส่งมอบความช่วยเหลือชุดแรกให้เมียนมา หวังว่าต่อไปความช่วยเหลือจะถึงรัฐอื่นๆ มากๆ ขึ้น
“กระบวนการวันนี้เราเฝ้าสังเกตการณ์ในฝั่งไทย และต้องรอติดตามการส่งของไปถึงฝั่งเมียนมา ส่วนตัวจึงห่วงเรื่องความเสียหายของสิ่งของ เพราะถนนไม่ดี อาจใช้เวลาถึงชาวบ้านค่อนข้างนาน ซึ่งการที่เมียนมาส่งผู้แทนมาร่วม แต่เป็นพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ก็แสดงความจริงใจว่าให้ข้าวของส่งไปถึงรัฐกะเหรี่ยงโดยไม่ต่อต้าน ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำงานของรัฐบาล 2 ประเทศและกลุ่มชาติพันธุ์” อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ กล่าว
ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวว่า เป็นโอกาสที่จะสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาวของรัฐไทยที่ต้องทำหลายอย่าง และควรทำโครงการลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ และควรมีการระดมสมองว่าพื้นที่ไหนกระทบที่สุด รัฐบาลไทยควรพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ และภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อหาข้อมูลรอบด้านมากขึ้น
“ในส่วนรัฐบาลไทยก็จำเป็นต้องให้น้ำหนักรัฐบาลเนปิดอว์ เพราะเป็นรัฐที่ปกครอง และการพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ กับตัวละครที่ไม่ใช่รัฐ อาจลำบากกับไทย แต่ส่วนตัวก็ยังเชื่อว่าการพูดคุยอย่างเป็นทางการกับกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจะต้องมีด้วย เพราะประเทศไทยได้รับผลกระทบ เราต้องยืนยันแน่นหนักว่าทำความเข้าใจกับ SAC ว่าเป็นปัญหาที่ไทยต้องพูดคุยกับทุกฝ่าย”ผศ.ดร.ลลิตา กล่าว
ด้านนายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.พรรคเป็นธรรม ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า คำเตือนเรื่องการเปิดระเบียงมนุษยธรรมต่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาต่อรัฐบาลไทยคงไม่มีผลอะไรใดๆทั้งนั้น นี่คือการที่ รอง นรม./รมว.กต. หนีการตอบกระทู้สดในสภาฯ จึงจำเป็นต้องเร่งเกียร์เดินหน้าใช้งบประมาณที่ได้รับจากต่างประเทศให้หมดโดยการไม่ยี่หระต่อการดำเนินการที่อ้างว่าทำเพื่อมนุษยธรรม แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการดำเนินการที่พังทลายหลักการด้านมนุษยธรรมทั้ง 4 ข้อ อย่างตั้งใจ
“คำถามคือแล้วไทยจะอยู่อย่างไรกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่อาจย้ายประเทศที่มีพรมแดนติดกันถึง 2,416 กม. ซึ่งหากปัญหาความไม่สงบในเมียนมาเกิดขึ้นแล้วคนไทยบริเวณชายแดนไทยทั้งหมด 8 จังหวัดที่มีพรมแดนติดกันทั้งทางบกและทางทะเลชายฝั่งต้องถูกผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบเรื่องผู้ลี้ภัยที่จะทะลักเข้ามาในไทยร่วมล้านคน ผลกระทบต่อการให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมที่ของต่างๆ ที่รัฐบาลส่งไป กลับไปอยู่ในมือทหารพม่าที่เข่นฆ่าประชาชนตัวเอง แล้วท่านคิดว่าของต่างๆ เหล่านั้นจะถึงมือผู้ได้รับผลกระทบหรือ” นายกัณวีร์ ระบุ
นายกัณวีร์กล่าวว่า เตือนไม่รู้กี่ครั้ง อย่าเอาของไปให้กาชาดเมียนมา เพราะถูกควบคุมเบ็ดเสร็จโดยทหาร ทำไมแค่นี้ง่ายๆ มองไม่ออก คนที่หนีตายจากผู้ที่ไล่ฆ่า จะยอมไปรับของจากผู้ที่ไล่ฆ่ามั้ย โจทย์ง่ายแต่ไม่มอง หรือมอง แต่ต้องรีบใช้งบ เลยต้องหาทางที่สะดวกที่สุด ที่แสดงว่าตัวเองได้ทำแล้ว ใช้งบหมดแล้ว
“ท่านทำผิดหลักการทั้งหมดของงานด้านมนุษยธรรม ไม่ได้ยึดหลัก humanity ที่มองว่าปัญหาอยู่ตรงไหนต้องรีบแก้ตรงนั้น ท่านผิดหลักการไม่เอนเอียงเพราะท่านโปรทหารพม่าอย่างชัดเจน ท่านผิดหลักความเป็นกลางเพราะไม่ฟังเสียงคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบและเลือกเฉพาะส่วนน้อยที่เข่นฆ่าผู้คน และสุดท้ายท่านไม่มีอิสรภาพในการทำงาน ท่านปล่อยให้การเร่งใช้งบประมาณของท่านที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ เป็นตัวชี้วัดในการดำเนินงานที่ท่านอ้างว่าท่านทำเพื่อมนุษยธรรมมาบังหน้า” นายกัณวีร์ ระบุ