Search

ชาวอุบลฯ เดินทางไกลกว่า 600 กม. เพื่อวอนนายกรัฐมนตรี ไร้หน่วยงานรัฐเหลียวแลแม้แต่รับหนังสือ

จากกรณีที่ชาวบ้าน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จะยื่นหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อนต่อนายกรัฐมนตรี หลังถูกเอกชนคุกคามทำลายทรัพย์สิน แต่ตลอดทั้งวันที่ผ่านมาชาวบ้านเดินทางไปรอที่รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย กลับไม่มีหน่วยงานไหนรับหนังสือเลย

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางหนูเดือน แก้วบัวขาว กับ นางทองสา มาเลิศ ชาวบ้าน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เดินทางมายัง กทม.เพื่อยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือหลังจากถูกกลุ่มเอกชนคุกคามที่ดินทำกินและทำร้ายร่างกาย โดยชาวบ้านทั้ง 2 คนปูเสื่อรอหน้าอาคารรัฐสภา เกียกกาย ตั้งแต่ 07.30 น. 

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเช้าจนถึงเที่ยงวันนางหนูเดือนและนางทองสา ไม่ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด มีเพียง รปภ.รัฐสภา เท่านั้นที่มาสอบถามว่าทั้ง 2 คนมาทำอะไร ก่อนจะแนะนำว่าหากจะยื่นให้นายกรัฐมนตรีต้องไปที่ทำเนียบรัฐบาล 

นางหนูเดือน กล่าวว่า ได้นั่งรอเพื่อจะยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เช้าจนเที่ยง เห็นขบวนรถวิ่งเข้าออกกันหลายคัน แต่ไม่มีใครประสานให้เข้าไปยื่นหนังสือ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ รปภ.ได้มาสอบถามพร้อมทั้งแนะนำว่าหากจะยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีต้องไปที่ทำเนียบรัฐบาล นั่งรถจากเกียกกายมายังทำเนียบรัฐบาล ถ.พิษณุโลก

“ถ้าพี่ยื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เขาก็ต้องส่งไปให้กรมที่ดินอีก พี่เคยยื่นแบบนี้มาหลายรอบแล้วก็ไม่ได้ผล หรือยื่นไปแล้วไม่ถึงมือนายกรัฐมนตรี เลยคิดว่าตอนบ่ายนี้จะเดินทางไปยังพรรคเพื่อไทย” นางหนูเดือน กล่าว 

ซึ่งหลังจากรอมาตลอดทั้งวัน ผู้สื่อข่าวติดต่อกลับไปยังนางหนูเดือนเพื่อสอบถามความคืบหน้าการเดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนครั้งนี้

นางหนูเดือน กล่าวว่า ระหว่างที่นั่งรอหน้าทำเนียบรัฐบาลมีเจ้าหน้าที่มาบอกให้เข้าไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อเข้าไปเพื่อยื่นหนังสือทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม กล่าวว่าอาจจะใช้เวลานานหากร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ทำเนียบรัฐบาล แนะนำให้ไปศูนย์ดำรงธรรมที่กระทรวงมหาดไทย

“ที่ศูนย์ดำรงธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาลพี่ขอให้เขารับเรื่อง เขาก็บอกว่าถ้ายื่นตรงนี้จะช้า แค่ขอให้ลงเลขรับเรื่องเขายังไม่ลงให้เลย บอกให้ไปศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย พอพี่ไปที่กระทรวงมหาดไทย เขาก็แนะนำให้พี่ไปปรึกษาสำนักงานอัยการที่ จ.อุบลราชธานี สรุปแล้วทั้งวันไม่มีใครรับหนังสือเลย พี่ก็เลยคิดว่าจะกลับบ้าน เพราะอยู่ไปก็คงเหนื่อยเปล่าค่อยกลับมายื่นเรื่องอีกทีตอนประชุมพีมูฟ” นางหนูเดือน กล่าว

ทั้งนี้หนังสือร้องเรียนที่ชาวบ้าน อ.วารินชำราบ ตั้งใจจะยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี มีใจความสำคัญระบุว่า  กลุ่มพิทักษ์สิทธิชุมชนและที่ดินทำกิน ต.บุ่งหวาย และ ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้าน 2 ตำบล ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีนายทุนออกโฉนดทับที่ทำกินและที่สาธารณะประโยชน์ ได้ร้องเรียนหน่วยงานต่างๆมาเป็นเวลาหลายสิบปี และได้ร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรีหลายรัฐบาลที่ผ่านมา และผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมาโดยตลอด เรื่องนายทุนออกเอกสารสิทธิทับที่ทำกินที่อยู่อาศัย และที่สาธารณะประโยชน์เนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่ มีชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 10 หมู่บ้าน ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน และมติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่าโฉนดออกมิชอบ และให้กรมที่ดินดำเนินการตรวจสอบและเพิกถอนเอกสารสิทธิให้ชาวบ้าน เช่น มติของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ,ความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านได้

หนังสือระบุว่า ในช่วงปี 2566 ถึงปัจจุบัน ได้มีกลุ่มเอกชนที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าของโฉนด เข้ามาบุกรุกแผ้วถาง ไถหน้าดิน ขุดดินไปขาย ตัดไม้ยืนต้น ทำลายผลอาสินของดิฉันทั้งสองราย ซึ่งชาวบ้านได้คัดค้านและแจ้งความมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหาเท่าที่ควร อีกทั้งยังถูกเอกชนดังกล่าวแจ้งความกลับด้วย และในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมามีกลุ่มผู้อ้างโฉนด พร้อมพวก ได้เข้าทำการขยายรั้วในที่ดินนางทองสาเข้าทำประโยชน์ โดยขณะนั้นนายสมคิด มาเลิศ บุตรชายนางทองสา กำลังปรับพื้นที่เพื่อปลูกมันตามปกติวิถี จึงได้มีการโต้เถียงกันและได้รุมทำร้ายร่างกายนายสมคิดจนสลบแล้วเอาน้ำสาด พาตัวขึ้นรถและไปโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จากนั้นเวลา 15.30น. นายสมคิดเข้าไปแจ้งความที่ สภ.ห้วยขยุง จึงขอให้ท่านดำเนินการช่วยเหลือ ดังนี้ 

1.ขอให้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ และให้สั่งการ/ประสานงานเพื่อยุติการทำลาย คุกคามจากเอกชนกับเกษตรกรในพื้นที่ หรือการกระทำใดๆในพื้นที่พิพาทจนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จเพื่อบรรเทาความเสียหายและเดือดร้อนที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวบ้านอยู่ในขณะนี้

2.ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้กับประชาชน โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางเป็นคณะทำงาน อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ,กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเร่งรัดสั่งการให้มีการดำเนินการของคณะทำงานเฉพาะกิจนี้โดยด่วนที่สุด

3.ขอให้ประสานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้พิจารณารับกรณีของทั้งสองรายเป็นคดีพิเศษ 

On Key

Related Posts

กระบอกเสียง SAC แฉแหล่งอาชญากรรมเมืองเมียวดีใช้ไฟฟ้า-อินเตอร์เน็ตจากประเทศเพื่อนบ้าน-ติดต่อกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ เผยรัฐบาลทหารพม่าปราบจริงจังส่งกลับชาวต่างชาติแล้วกว่า 5 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 หนังสือพิมพ์ The GlobalRead More →

หวั่นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง “แก่งคุดคู้”-“พันโขดแสนไคร้”รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนสานะคามกั้นแม่น้ำโขง ชาวอุบลโวยถูกกีดกันเข้าร่วมเวทีรับฟัง  เลขาสทนช.แจงกลัวเสียภาพลักษณ์ เครือข่ายภาคประชาชนจวกใช้วิธีสกปรก

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 เวลาประมาณ 9.00 น. ณ ห้Read More →