Search

กสม.ลงพื้นที่ตรวจสอบส่งกลับเด็กไร้สัญชาติ 19 คน ชี้เป็นปัญหาช่องว่างการสื่อสารระหว่าง พม.กับเอ็นจีโอ กมธ.ต่างประเทศหวั่นกระทบหลักการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ความคืบหน้ากรณีเด็กไร้สัญชาติ 19 คนที่ถูกส่งจาก จ.ลพบุรี กลับไปยัง จ.เชียงราย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เด็กกลุ่มนี้อยู่ระหว่างบวชเรียน ทำให้มีข้อกังวลว่าเด็กจะถูกผลักดันกลับประเทศเมียนมาและลาวเหมือนกรณีเด็กไร้เอกสารทางทะเบียนราษฎร 126 คน จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จ.อ่างทอง ซึ่งถูกทางการไทยผลักดันกลับเมียนมาท่ามกลางการคัดค้านของหลายๆ ฝ่าย

วันที่ 29 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ศาลากลางจังหวัดเชียงราย น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ และทีมงาน ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐประกอบด้วย ว่าที่ ร.ต. ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย  นายโสภณ แก้วล้อมทรัพย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่ ตม.เชียงราย ตม.แม่สาย  บ้านพักเด็กและครอบครัว สพฐ.เขต 1  เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหากรณีส่งเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านหมี่ใหญ่ จ.ลพบุรี ที่ไม่มีสัญชาติไทย กลับภูมิลำเนา จ.เชียงราย อาจทำให้เสียสิทธิทางการศึกษา โดยหลังจากการประชุมคณะ กสม.ได้ลงพื้นที่รับฟังสถานการณ์ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 อ.แม่สาย 

น.ส.ศยามล กล่าวว่า ด้วยมีประเด็นข้อห่วงกังวลว่าจะมีการผลักดันเด็ก 19 คนกลับภูมิลำเนาทาง กสม.จึงมารับฟังจากพื้นที่ โดยเบื้องต้นทราบว่าเด็กทั้ง 19 คนยังอยู่ในประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองและพักอยู่ที่ บ้านพักเด็กและครอบครัว ที่ อ.แม่จันโดย กสม.ได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวที่ไปที่มาของเด็ก และมีกระบวนการขั้นตอนปฏิบัติอย่างไรในการคุ้มครองเด็ก ทั้งระบบ และกรณีของเด็ก 19 คน โดยทาง พมจ.ชี้แจงว่าขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนสืบหาพ่อแม่ของเด็กทั้ง 19 คน ตอนนี้ยังไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนของเด็กนักเรียนทั้งหมด ซึ่งดำเนินการโดยสหวิชาชีพ ที่จะติดตามประวัติเด็ก และคาดว่าอาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือน 

น.ส.ศยามลกล่าวว่า ในกลุ่มนี้มีเด็กสัญชาติไทย 1 คน ที่ได้เจอพ่อแม่แล้ว และอยู่ระหว่างการประสานข้อเอกสารยืนยัน  หากหาพ่อแม่ไม่ได้  ไม่มีเอกสารยืนยัน หรือ เจอพ่อแม่แต่ไม่มีความพร้อมที่จะดูแลเด็กให้ปลอดภัย ทาง พม.และบ้านเด็กฯ ก็จะประสาน ร.ร.ในพื้นที่ ให้เด็กได้ศึกษาต่อเนื่อง ตามนโยบายกระทรวงศึกษาที่เด็กสามารถเรียนได้หมดทุกคนแม้จะมีหรือไม่สัญชาติ ขณะนี้เด็กได้จบชั้น ป.1 แล้ว แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงปิดเทอมก็จะพักอยู่ในบ้านพักเด็กฯ โดยจะมีการจัดกิจกรรมการพัฒนาเด็ก

ส่วนทาง ตม.เชียงราย ได้ชี้แจงว่าได้ดำเนินการเพียงการสอบว่าเด็กๆ มีที่มาอย่างไร แบบไหน และไม่ได้ดำเนินการส่งกลับ ไม่มีนโยบายแบบนั้น และไม่ได้ดำเนินคดีใด ๆ และไม่ได้แจ้งข้อหาใด ๆ กับบ้านพักเอกชน และหมดขั้นตอนการดำเนินการของ ตม.แล้ว เป็นการทำงานของสหวิชาชีพในการดูแลเด็ก

สำหรับเหตุการณ์ในคืนวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ทางมูลนิธิบ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน ได้ทำหนังสือร้องไปยัง กสม.นั้น น.ส.ศยามลกล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวจากที่ได้รับฟังการชี้แจง ทราบว่า ทางหน่วยงานรัฐเห็นว่าเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า หน้างาน ก็ต้องไปสอบก่อน ส่วนทางครูน้ำเห็นว่าการในการส่งเด็กกลับและมีการสอบเด็กจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคืนหลังจากเดินทางมาจาก จ.ลพบุรี ทางครูน้ำไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าจะกระทบจิตใจเด็ก ๆ นับเป็นบทเรียนว่าไม่ควรทำแบบนั้น ส่วนกรณีที่มีประเด็นเรื่องการนำเด็กไปเรี่ยไร จากการรับฟังข้อมูลทราบว่า เด็ก 19 คนนี้ไม่ได้ถูกนำไปเรี่ยไร  พบว่าเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ที่ส่งกลับเพราะเมื่อตรวจพบว่าเด็กไม่มีเอกสารแสดงตัวตนจึงส่งกลับมาพื้นที่ต้นทาง 

“มองว่าการแก้ไขปัญหาต้องมีการสื่อสารกันมากขึ้น องค์กรเอกชนสื่อสารกับ พม.ให้มากขึ้น เพราะต้องทำงานร่วมกัน ต้องบอกว่า ครูน้ำหวังดี ในช่วงเวลานั้น เนื่องจากบ้านพักไม่สามารถรับเด็กที่มีมากขึ้นได้ จึงส่งไปบวชสามเณรก่อน  1 เดือน ระหว่างรอว่าจะดูแลอย่างไรจะรีบกลับมา แต่เด็ก ๆ ได้ที่เรียน แต่รู้ว่าภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่างของเอกชนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พ.ม.ก็จำกัดในสถานที่รับดูแล พม.กับ บ้านพักเด็กฯ อาจต้องส่งเสริมเอกชนด้วย เป็นหน้าที่ พม.ต้องดูแล และเอกชนต้องแจ้ง พม.ในการส่งเด็กเดินทางเข้าไปนอกพื้นที่” กสม.กล่าว

กสม.กล่าวว่า ในประเด็นข้อจำกัดของเอกชนและภาคประชาสังคมในการทำงานดูแลคุ้มครองเด็กที่จะทำงานกับหน่วยงานภาครัฐท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่มีแนวโน้มจะมีเพิ่มขึ้นนั้น ทาง พมจ.ก็ชี้แจงที่ประชุมว่า ขณะนี้ทาง พม.เองก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงระเบียบเงื่อนไข กฎกระทรวง เป็นในเชิงส่งเสริมให้เป็นระบบทำงานร่วมกัน เพื่อให้เอกชนเข้าสู่ระบบทำงานร่วมกันรัฐ

อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ (30 มีนาคม) จะเป็นการประชุมรับฟังจากภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน และเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับการดูแล และสิทธิเด็กในพื้นที่ ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เพื่อจะได้จัดทำรายงานและข้อเสนอแนะในการทำงานด้านสิทธิและคุ้มครองเด็กต่อไป 

ขณะที่เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายนพพล ปัทมะ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณากรณีเด็กไร้สัญชาติ จำนวน 19 คน ที่อาจถูกผลักดันกลับเมียนมา แกละมีการเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ตามที่มีข่าวว่าเด็กไร้สัญชาติ 19 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่จังหวัดเชียงราย อาจถูกผลักดันกลับไปเมียนมา   กมธ. พิจารณาเรื่องดังกล่าวและไม่เห็นด้วยในการผลักดันเด็กดังกล่าวกลับเมียนมา เนื่องจาก 1. การผลักดันเด็ก ไม่ว่าจะมีหรือไร้สัญชาติอาจฝ่าฝืนพ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เพราะรัฐมีหน้าที่ที่ต้องให้การสงเคราะห์เด็กดังกล่าว 2. อาจเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (UN Conventions on the Rights of the Child) 3. ในขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังผลักดันเรื่องจุดมนุษยธรรมที่แม่สอด เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในเมียนมา ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทของไทยอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค กมธ. เห็นว่าการผลักดันเด็ก 19 คนกลับเมียนมา น่าจะเป็นการกระทำที่สวนทาง และกระทบต่อหลักการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ 4. การคุ้มครองเด็กไร้สัญชาติมิเพียงแต่เป็นการดำเนินการทางมนุษยธรรมเท่านั้น แต่เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สร้างเกียรติภูมิของประเทศ ทำให้ไทยมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศอย่างสง่างาม 

———–

On Key

Related Posts

หวั่นภาพพจน์การท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตติดลบ หลังพบใช้แรงงานข้ามชาติอื้อแต่คุณภาพชีวิตย่ำแย่-เด็กนักเรียนกว่า 300 คนเสี่ยงหลุดจากระบบหลังสถานศึกษาถูกปิด

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ด้านนายฐิติกันต์ ฐิติพฤRead More →

เด็กกะเหรี่ยงสอบไล่ในป่า-ซ่อนตัวจากเครื่องบินรบของกองทัพพม่า หวั่นอาคารเรียนตกเป็นเป้าโจมตี หัวหน้าฝ่ายการศึกษาKNUเผยจัดสอบนักเรียนกว่า 3 พันคนผ่านไปได้ด้วยดี ขณะที่ SAC ยังโจมตี รร.-วัด-รพ.ต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 นายลอ เอ้ มู หัวหน้าฝ่าRead More →