เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 เวลา 13.00 น. ณ โรงเรียนสามพร้าววิทยา ต.สามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ที่ดินและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร จัดเวทีเสวนาและรับฟังปัญหาของชาวบ้านชุมชนสามพร้าว กรณีถูกขับไล่ที่ “แปลงโคกขุมปูน” จากโครงการก่อสร้างวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก
ทั้งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)สามพร้าว ได้ปิดประกาศคำสั่งให้รื้อสิ่งปลูกสร้างให้พ้นจากที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ริมถนนบ้านสามพร้าว-มรภ.อุดรธานี ตั้งแต่ฝั่งตรงข้ามศูนย์อนามัยเขต 8 อุดรธานี มาจนถึงซอยทางเข้าหอพักจันทร์เคียงดาวเพื่อก่อสร้างวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก วิทยาเขตอุดรธานี ทำให้ชาวบ้านซึ่งมีทั้งที่อาศัยอยู่ก่อนการประกาศที่ดินสาธารณประโยชน์ และอยู่หลังประกาศกว่า 150 ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน จึงได้ออกมาคัดค้านโดยได้ยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่เรื่องยังคงยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน จนเมื่อกระทั่งวันที่ 26 มีนาคม 2567 ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐ 4 แห่งเพื่อทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาถูกขับไล่ออกจากที่ดิน “แปลงโคกขุมปูน”
อย่างไรก็ตามในการจัดเวทีครั้งนี้ กมธ.ที่ดินฯ ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยมีผู้เข้าร่วมงานเวทีทั้งหมดกว่า 80 คน ซึ่งมีตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)สาขาภาคอีสานมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ก่อนปิดท้ายงานเวทีด้วยการรับยื่นหนังสือร้องเรียนปัญหาจากตัวแทนชาวบ้านชุมชนสามพร้าว
นายวุฒิรักษ์ แพงตาแก้ว เลขานุการประจำ กมธ.ที่ดินฯ กล่าวว่า ปัญหาตรงนี้ก็ถือว่าไม่ยุติธรรมกับชาวบ้าน เพราะ 1.ที่มีปัญหาอยู่ตอนนี้ก็คือการขาดการรับฟังความคิดเห็น 2.ไม่ได้แจ้งข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ชาวบ้านพลาดโอกาสในการยืนยันหรือพิสูจน์สิทธิ์ขณะที่มีการประกาศที่ นสล. นั่นจึงเป็นกระบวนการที่หนึ่งที่จะต้องแก้ไขในเชิงนโยบาย และในเชิงพื้นที่ควรจะมีการชี้แจงหรือประชุมร่วมกับชาวบ้านด้วย ควรมีการทบทวนกระบวนการด้วยซึ่งตรงนี้สำคัญ
“ชาวบ้านยังคงยืนยันว่ายังมีสิทธิ์ในที่ดินตรงนี้ เมื่อชาวบ้านยืนยันสิทธิ์ก็ต้องให้สิทธิ์เขาก่อน ในการพิสูจน์ได้ว่าเขานั้นอยู่มาก่อนซึ่งทุกคนก็ยืนยันและเราก็เห็นเอกสารยืนยันที่มีความชอบธรรมก่อนจะประกาศการเป็นที่ดินของรัฐอยู่ด้วย ในเบื้องต้นนี้ กมธ.ที่ดินรับเรื่องร้องเรียนไว้เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ขณะนี้มีเรื่องปัญหาที่ดินของชาวบ้านเข้ามาเยอะมาก สิ่งที่เหมือนกันคือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่กับหน่วยงานภาครัฐ” นายวุฒิรักษ์ กล่าว
ด้านนายภพธรรม สุนันธรรม รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติภาคอีสาน กล่าวว่าอย่างแรกคือจะต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินให้แก่ประชาชนก่อน เพราะต่างยืนยันว่าบางส่วนได้ถือครองที่ดินมาตั้งแต่ปี 2450 ก่อนที่รัฐจะประกาศเป็นที่สาธารณะประโยชน์ โดยอาศัยทำกินต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินตรงนี้มานานแล้วมีสิทธิ์ในเรื่องที่อยู่อาศัย ในแนวทางก็คงต้องดูข้อมูลว่าความชัดเจนของเอกสารสิทธิ์ที่ชาวบ้านถือครองมาจะนำไปโต้แย้งกับภาครัฐยังไง ในการเจรจาหาทางออกว่าชาวบ้านที่อยู่มานานแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ตอนนี้จะเช่าระยะยาวหรือจะทำประโยชน์อย่างไรเพราะว่าตอนนี้ส่งผลกระทบในเชิงปริมาณมากถึง 129 หลังคาเรือนหรือเกือบ 1 พันคน ถ้าจะหาที่รองรับใหม่เป็นเรื่องยากมาก เพราะไม่รู้ว่าคนเหล่านี้จะไปอยู่อย่างไร ทำอาชีพอะไร
—————-