เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 มีรายงานข่าวจากแวดวงองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ได้ทำหนังสือถึง นายมานิต สุขสมจิตร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา ขอให้ทบทวนมติ เรื่องการพิจารณาค่าตอบแทนและต่อสัญญาจ้าง ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา ได้ประชุมและมีมติให้ต่อสัญญาจ้างนายประสงค์เพียง 1 ปี แต่ไม่เพิ่มค่าตอบแทน
ทั้งนี้ นายประสงค์ ให้เหตุผลว่า เห็นว่ามติดังกล่าวไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งเนื่องจากก่อนที่คณะกรรมการฯ จะพิจารณา ต่อสัญญาจ้าง ควรพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้ก่อนคือ 1.ผลการดำเนินการที่ผ่านมาของตนในการบริหารสถาบันอิศรา ว่าเป็นอย่างไร 2. การหารายได้ของสถาบันอิศรา จะเห็นได้ว่าเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีผู้สนับสนุนรายใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก
“นอกจากนั้น ในช่วงปีที่ผ่านมา กองทุน กทปส. สำนักงาน กสทช. ไม่สนับสนุนทุนโครงการพัฒนาองค์ความรู้ฯ แต่ข้าพเจ้าก็สามารถหาผู้สนับสนุนจากภาคเอกชนได้กว่า 4 ล้านบาท ทำให้สามารถปิดอบรมหลักสูตร บยสส.รุ่นที่ 3 ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันตลอดระยะเวลาที่ข้าพเจ้าเป็นผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา สามารถหารายได้เป็นบวกให้กับองค์กรมาโดยตลอด ดังนั้นการที่คณะกรรมการฯ ต่อสัญญาให้กับข้าพเจ้าเพียงหนึ่งปี ขณะที่การต่อสัญญาในแต่ละครั้งในช่วงที่ผ่านมาได้ต่อสัญญาครั้งละ 2 ปี มาตลอด เสมือนกับข้าพเจ้าได้บริหารงานบกพร่องไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงขอเรียนให้คณะกรรมการฯ กรุณาทบทวนมติในการต่อสัญญาจ้างให้กับข้าพเจ้าไม่น้อยกว่าสัญญาเดิมที่ผ่านมาและพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนให้กับข้าพเจ้าด้วย” หนังสือระบุ (อ่านรายละเอียดในหนังสือขอให้ทบทวนมติ)
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมบอร์ดมูลนิธิสื่อฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างดุเดือดโดยได้มีการซักถามและชี้แจงกันในหลายประเด็น โดยกรรมการบางคนได้ซักถามนายประสงค์ในหลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะกรณีที่มีคนในแวดวงสื่อมวลชนกังขาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เช่น เรื่องการนำสถาบันอิศรา ไปตั้งเป็นบริษัทอิศรา ไทย เพรส เดเวลอปเมนท์ จำกัดว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะอาจกระทบต่อภาพลักษณ์และจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อที่มุ่งแสวงเงินรายได้มากกว่าการพัฒนาสื่อ รวมถึงอาจถูกมองว่าเป็นการใช้เทคนิคตามกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพพจน์ความเป็นสถาบันของสื่อโดยรวม
นอกจากนี้ การใช้ชื่อ “อิศรา” ไปตั้งชื่อเป็นบริษัท ได้มีการไปขออนุญาตองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ก่อนนำไปจดทะเบียน เนื่องจาก “อิศรา อมันตกุล” เป็นบุคคลสำคัญของวงการสื่อมวลชนไทย และเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรกที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาจนเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชู และเป็นแบบอย่างที่ดีของวงการสื่อมวลชนจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามกรรมการหลายคนเห็นว่าเรื่องนี้ยังมีสื่อมวลชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของการตั้งบริษัทอิศราไทยเพลส และได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดที่ประชุมจึงมติ ให้นายประสงค์ และนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปราณี ซึ่งเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้ ไปทำความเข้าใจกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยต่อไป
ข่าวแจ้งว่า สำหรับวาระในการพิจารณาค่าตอบแทนและต่อสัญญาจ้าง ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรานั้น ที่ประชุมก็ได้มีการพูดกันอย่างกว้างทั้งผลงานและความสามารถ โดยนายประสงค์ ได้อยู่ในตำแหน่งมาอย่างยาวนาน 12 ปี โดยการต่อสัญญาแต่ละครั้งนั้นไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลงานไว้อย่างชัดเจน และเพื่อให้การพัฒนาสถาบันอิศราเป็นอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ที่ประชุมจึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่จัดทำคุณสมบัติ หลักเกณฑ์การสรรหา “ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา” ให้มีมาตรฐานที่ชัดเจนตามมาตรฐานทั่วไป เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งอย่างเป็นธรรม โดยกำหนดให้ทำเรื่องนึ้ให้เสร็จภายใน1ปี
“เรื่องนี้ ที่ประชุมได้พิจารณากันอย่าถี่ถ้วนและรอบคอบแล้ว จึงมติเอกฉันท์ต่อสัญญาจ้างนายประสงค์ 1 ปี และไม่เพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว” รายงานข่าวระบุ