ธนก บังผล
กว่าครึ่งชีวิตที่คู่ภรรยา-สามี คือนางหนูเดือน แก้วบัวขาว และนายวิทยา แก้วบัวขาว ออกมาต่อสู้เพื่อรักษาที่ดินทำกินใน ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งคนตั้งแต่รุ่นปู่ย่าถากถางปลูกพืชผลเลี้ยงปากท้องกันมาเกือบ 100 ปี
สาเหตุที่ต้องออกมาปกป้องผืนดิน เพราะที่ดินที่เคยทำมาหากินตั้งแต่บรรพบุรุษถูกกลุ่มนายทุนใช้อิทธิพลคุกคามรังแกด้วยการสวมโฉนดลงบนที่ดินของชาวบ้านแล้วเอาไปขายต่อให้คนอื่น ส่วนใบจองที่ชาวบ้านเคยลงชื่อขอไว้ก็บินไปมาในพื้นที่ 16,000 ไร่ โดยไม่สนใจสายตาชาวบ้านหรือความถูกต้องใดๆทั้งสิ้น
ทั้งนี้บิดาของนายวิทยา แก้วบัวขาว สามีนางหนูเดือน เคยถูกจำคุก 1 ปีหลังจากถูกนายทุนกล่าวหาว่าบุกรุกในที่ดิน(ของตัวเอง) โดยบิดาของนายวิทยาและชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันบุกเบิกที่ดินหนองกินเพล ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2512-2513 ได้มีนายทุนที่เป็นนักการเมืองเข้ามาหาเสียงในหมู่บ้าน โดยอ้างว่าหากได้รับเลือกเข้าไปเป็นส.ส.จะดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ให้ และต่อมาเมื่อนักการเมืองรายนี้ได้รับเลือกเข้าไปได้ให้ชาวบ้านไปร่วมกันลงชื่อที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน
นักการเมืองคนดังกล่าวได้เริ่มต้นออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน 5 ราย และได้เปลี่ยนจากการขอออกโฉนดให้ชาวบ้านเป็นการขอซื้อแทน ชาวบ้านบางส่วนยอมขาย แต่ส่วนใหญ่ไม่ขาย ที่สำคัญคือคนที่ขายก็ไม่ได้เงินเพราะจ่ายเป็นเช็ค แต่เช็คเด้ง แต่พ่อนายวิทยาไม่เคยขายที่ดินผืนนี้กลับถูกนำไปออกโฉนดทับโดยสำนักงานที่ดินอำเภอวารินฯ ซึ่งครั้งนั้นได้มีการออกโฉนดให้นายทุนถึง 1 หมื่นไร่
นายวิทยาได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานต่างๆ มานานนับสิบปี แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงได้ทูลเกล้าถลายฎีกาผ่านสำนักราชเลขาธิการฯ และสำนักราชวัง และได้รับคำแนะนำให้ฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครอง เพื่อให้ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ โดยนายวิทยาได้ยื่นฟ้องกรมที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกมาทับที่ของนายวิทยา โดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน แต่กรมที่ดินไม่ดำเนินการใดๆ
“ผมไม่รู้จะทำอย่างไรดี เพราะกว่า 20 ปีที่ต่อสู้มา เราต้องทุกข์ลำบาก แม่ผมได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจเป็นอย่างมากจนล้มป่วยและเสียชีวิตเมื่อปี 2553 ลูกคนโตต้องลาออกจากโรงเรียน ผมเองก็ต้องติดคุกเพราะถูกเขาฟ้องต่อศาลยุติธรรมว่าบุกรุกที่ ทั้งๆ ที่เป็นที่ดินของผมเอง แต่แทนที่เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งออกมาแล้ว หน่วยงานราชการจะเร่งกันให้ความเป็นธรรมและเยียวยาพวกเรา กลับยื้อออกไปอีก” ครั้งหนึ่งนายวิทยาเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวชายขอบ
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา นางหนูเดือน กับยายทองสา มาเลิศ ชาวบ้าน ต.บุ่งหวาย เดินทางจาก จ.อุบลราชธานี นั่งรถเดินทางกว่า 600 กิโลเมตรไปปูเสื่ออยู่หน้ารัฐสภา เกียกกาย เพื่อรอยื่นหนังสือให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เช้าตรู่จนบ่ายโมงกว่า แต่ไม่น่าเชื่อว่าบรรดาเหล่าผู้มีเกียรติทั้งหลายไม่มีใครมองเห็นเลย
“ตอนแรกพี่คิดว่าไปนั่งแล้วเรามีความเดือดร้อนมาก ตรงนั้นมีทั้งวุฒิสภา มีทั้ง ส.ส. นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เข้าไปประชุมกัน คิดว่าน่าจะมีคนเห็น นักข่าวก็ผ่านเข้าไปเยอะมากนะคะ แต่ก็ไม่มีใครสนใจลงมาดูเราเลย พี่ก็ยังงงอยู่ว่าทำไม คือเรามีความหวังว่าที่เราไปอย่างน้อยๆก็น่าจะมีคนมาสนใจ คนที่มาสนใจเราก็คือ รปภ.รัฐสภา เขามาถามว่าพี่จะเข้าไปร้องเรียนในสภามั้ย เดี๋ยวผมจะพาเข้าไป พี่ไปเขียนหนังสือร้องทุกข์มั้ย แต่คนอื่นเขาไม่ได้มาสนใจเลย โดยเฉพาะคนที่เขาเป็นใหญ่ในสภา” นางหนูเดือน เล่าถึงวันที่เธอแบกความหวังเข้าเมืองกรุงครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ให้ฟัง
ด้วยความตั้งใจอยากจะมอบหนังสือร้องเรียนให้นายกรัฐมนตรี โดยใจความสำคัญคือขอให้สั่งการไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีที่ดินใน ต.หนองกินเพล กับ ต.บุ่งหวาย เป็นคดีพิเศษ เพราะดีเอสไอเคยลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการออกโฉนดไม่ชอบ ออกมาทับใบจองเดิม
“เราชุมนุมกับพีมูฟมานานมากก็ไม่มีใครสนใจ เรายื่นหนังสือกับนายกฯ นายกฯก็ไม่เคยรับหนังสือเลย เราก็เดือดร้อนมาก อย่างแฟนพี่ก็ถูกนายทุนเข้ามาขุดหน้าดินในที่ดินทำกินของตัวเองสุดท้ายแฟนพี่ต้องติดคุกเพราะบุกรุกที่ดินตัวเอง แฟนของชาวบ้านอีกคนก็ถูกสำนักงานที่ดินมารังวัดปักหมุดในที่เขาให้กับคนอื่น เพราะคนอื่นก็มาฝังหลักทำรั้วลวดหนามล้อมเอาที่ของเขา ไถไร่มันทิ้ง พอลูกชายเขาขึ้นไปมีปากเสียงกับคนที่ล้อมรั้วทับที่ เขาก็ทุบแกจนสลบ ตอนนี้เหมือนกับคนสติไม่สมประกอบไปเลย ” คนที่นางหนูเดือนพูดถึงก็คือลูกชายของยายทองสา ที่พากันไปนั่งหน้ารัฐสภาแล้วไม่มีใครสนใจ
นางหนูเดือน ยอมรับว่าไม่รู้จะทำอย่างไรให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลหันมามองความเดือดร้อนของพวกตนอีกแล้วเพราะสู้มาทุกทาง
“พี่อยากให้นายกฯสนใจ เพราะพีคิดว่านายกฯเป็นผู้บริหารสูงสุด คิดว่าถ้าเขาสั่งให้ตรวจสอบน่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ตอนนี้เขาไม่สั่ง เขาไม่รับรู้เลย คนที่มาดูเราก็ไม่มีอำนาจ อย่างเช่น รปภ.หน้ารัฐสภา อย่างมากเชาก็พาเราไปร้องเรียน” นางหนูเดือน ตัดพ้อ แต่สิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นก็ทำให้การเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนให้นายกรัฐมนตรีของชาวบ้านครั้งนี้ดูน่าหดหู่มากขึ้นไปอีก คือการที่ไม่มีหน่วยงานไหนรับเรื่องไว้เลย
“พี่นั่งรถไปหน้าสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ก็ออกมาบอกว่าขบวนเสด็จกำลังจะผ่านเดี๋ยวตำรวจจะมาจับพวกพี่ไปนะ พวกพี่มานั่งอะไรอยู่ตรงนี้ เข้าไปข้างในเดี๋ยวเขาจะรับหนังสือ พอเข้าไปข้างในเขาก็บอกว่าเดี๋ยวผมโทรหากระทรวงมหาดไทยก่อน เพราะกระทรวงมหาดไทยดูแลกรมที่ดิน เขาก็โทรไปคุยอะไรไม่รู้แล้วมาบอกว่าพี่ยังไม่ต้องยื่นหนังสือกับผมก็ได้ ไปยื่นกับกระทรวงมหาดไทยเลย ถ้าเขาไม่รับหนังสือค่อยกลับมาหาผมใหม่”นางหนูเดือนพร้อมยายทองสาพากันเดินทางต่อไปยังกระทรวงมหาดไทยเป็นจุดที่ 3 แม้ไม่ค่อยรู้จักเส้นทางนักสำหรับคนต่างจังหวัด แต่ก็เพียรพยายามไปจนถึง
“พี่ถึงกระทรวงมหาดไทยมีเจ้าหน้าที่มารับเรื่อง มาคุยว่าต้องมีเอกสารอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เขาอ้างว่าเอกสารไม่ครบ ก็เลยไม่รับหนังสือให้กลับไปเตรียมเอกสารมาใหม่ก่อน พี่ก็กลับไปที่สำนักนายกฯอีก คราวนี้พอพวกพี่กลับไปหาก็ปิดไปแล้ว กลับไปก็ไม่มีใครอยู่แล้ว พวกพี่ก็เลยกลับบ้านเพราะว่าไม่รู้จะไปนอนที่ไหน สรุปคือเขาหลอกพี่ไปกระทรวงมหาดไทย และมหาดไทยก็หลอกให้เรามาเตรียมเอกสาร แทนที่จะรับหนังสือพี่ไว้ แค่ต้องการให้เขารับหนังสือที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีใครรับ” นางหนูเดือน เล่าถึงเหตุการณ์ล่าสุดวันที่ความหวังถูกทำลายครั้งแล้วครั้งเล่า
แต่แม้จะถูกคนในระบบราชการเมินเฉย นางหนูเดือนก็ยังยืนยันว่าจะสู้และปกป้องรักษาที่ดินทำกินของครอบครัวให้กลับมาให้ได้
“พี่จะสู้ ยังไงก็จะสู้ให้ถึงที่สุดเพราะว่ามันเป็นที่ทำมาหากิน ที่เขามาขุดทุกวันนี้พี่ก็เจ็บช้ำน้ำใจมากเลย ต้นไม้ที่เราปลูกเอาไว้จะได้เก็บผลเขาก็ตัดทิ้ง เอารถแมคโครมาฟาดของเรา แจ้งหน่วยงานให้ออกมาก็ทำอะไรไม่ได้ แจ้งตำรวจทางตำรวจก็บอกว่าทำอะไรเขาไม่ได้เพราะเขามีโฉนด ยุติธรรมจังหวัดก็บอกว่าไม่รู้จะห้ามเขายังไง ร้องเรียนไปทุกหน่วยงานแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีการเพิกถอนโฉนด” นางหนูเดือนกล่าวด้วยความอ่อนล้า
ตลอดหลายสิบปีที่ต่อสู้มา นางหนูเดือนบอกว่า “เหนื่อยมาก” ทั้งดิ้นรนทำมาหากินหนี้สินท่วมหัว แล้วยังต้องแบ่งเวลาออกมาเคลื่อนไหวเพื่อรักษาที่ดินของครอบครัวและชาวบ้าน ซึ่งถ้าทิ้งไปก็อาจทำให้วันหนึ่งไม่เหลืออะไรเลย
“ตอนนี้พี่เก็บมะม่วงหิมพานต์ที่ปลูกไว้เอาไปขาย ราคาก็ลงทุกวัน จ้างคนมาเก็บก็ไม่คุ้ม กิโลกรัมละแค่ 22-23 บาท กว่าจะได้ 1 กิโลกรัม แล้วต้องมาเดินทางบ่อยๆ เวลาจะเก็บมะม่วงก็ไม่มี เดี๋ยวพอผ่านเดือนเมษาไปฝนตก เราก็เก็บไม่ได้ ก็ไม่ได้ตังค์ วนเวียนอยู่อย่างนี้ทุกปีพี่ก็ไม่รู้จะทำยังไง”
นางหนูเดือน เชื่อว่าถ้ามีการตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 แล้วยอมรับว่ามีโฉนดทับที่ดินของครอบครัว การแก้ปัญหาของชาวบ้านใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จะมีทางให้เดินต่อได้ ซึ่งขณะนี้นอกจากกรมที่ดินจะไม่ยอมรับว่ามีการออกโฉนดทับที่ชาวบ้านแล้วยังกล่าวหาชาวบ้านว่าทำรังวัดทับโฉนด
ซึ่งดีเอสไอเคยลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วมีมติว่ามีการออกโฉนดไม่ชอบ โดยกรมที่ดินกลับอ้างว่าเรื่องใบจองเป็นคดีเดียวกับที่ชาวบ้านไปฟ้องศาลปกครอง ต้องรอให้ศาลปกครองมีคำสั่ง เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งให้กรมที่ดินไปตรวจสอบเพื่อเพิกถอนโฉนด กรมที่ดินกลับบอกว่าตรวจสอบแล้วการออกโฉนดเป็นการชอบด้วยกฎหมายปัญหานี้จึงสะดุดอยู่ตรงที่กรมที่ดินไม่ยอมรับว่าการออกโฉนดทับที่ชาวบ้าน และเมื่อชาวบ้านร้องเรียนก็อ้างว่าใบจองถูกขายให้นายทุนไปแล้ว โดยแปลงที่อ้างว่าเป็นใบจองของชาวบ้านนั้นก็บินไปอยู่แปลงอื่นซึ่งไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน และสามารถบินกลับมาที่เดิมได้ทุกครั้งเมื่อชาวบ้านเริ่มมีปัญหารุนแรงขึ้นกับนายทุน
“ทุกวันนี้พี่ก็ยังเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินได้อยู่ ที่ทำไม่ได้คือแปลงที่เขามาขุด แปลงอื่นยังทำอยู่เหมือนเดิม แต่คิดว่าถ้าแปลงนี้เขายังเข้ามาขุดได้ แปลงอื่นก็น่าจะเข้ามาทำอีก มันจะทยอยมาเรื่อยๆ ถ้าไม่มีกระบวนการแก้ปัญหาให้จบ พวกพี่ก็คงไม่เหลืออะไรเลย ต้นไม้ที่เราปลูกไง้ก็คงถูกขุดทิ้ง เพราะว่าคนที่มีโฉนดก็เปลี่ยนวิธีไม่มาสู้กับเราแล้ว แต่เอาไปขายเปลี่ยนมือให้คนอื่น ซึ่งคนที่มีเครื่องมือจะทำร้ายเราก็คือพวกรับเหมาขุดดินถมดิน ที่เขาซื้อโฉนดไปถูกๆ ไร่ละ 1-2 หมื่นบาท เพราะที่ดินโซนนี้มันมีปัญหาเขาก็ซื้อกันแค่นี้” นางหนูเดือนเล่าถึงสถานการณ์ที่ยิ่งยืดเยื้อออกไป ชาวบ้านที่แบกรับทุกข์ก็ยิ่งถูกกระทำมากกขึ้น
“อย่างแปลงของพี่ลาวัลย์ กับแม่ทองสา นายทุนเขาก็เอาโฉนดไปขายให้คนในพื้นที่ คนที่รับเหมาถมที่ก็จะมีลูกน้อง มีเครื่องมือ มีรถบรรทุก พอเราห้ามเขา เขาไม่ฟัง เขาก็บุกเข้ามาตัดรั้วทำลายสิ่งของ เขาใช้วิธีนักเลงกับเราเลย กรณีแม่ทองสาถูกเขาใช้อิทธิพลมาก ขนาดบางคนใน อบต.บุ่งหวาย ยังต้องไปเอาเงินจากเขามาจัดงาน เขาก็จะมีภาพเป็นคนดีสมทบเงินทำบุญแต่เขามีลูกน้องเยอะ แม่ทองสาก็ร้องไห้ตอนเขามาวัดพื้นที่แก ด่าแกเสียๆหายๆ เอาลูกน้องมาทั้งทหาร ตำรวจ พกปืนมาด้วยมายืนริมป่าข้างที่แก มาแบบข่มขู่ไม่อยากให้เราขัดขวาง มีแต่นักเลงทั้งนั้น น่าสงสารแม่ทองสามากเลย ตอนที่แกฟ้องแล้วแพ้คดี แกก็ไปคัดค้านจนเขาไปยึดที่นาแกอีก 2 ไร่ ขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้นายทุน เขาเรียกค่าเสียหาย เราก็ไปค้านจนเขาขายที่ไม่ได้ เขาก็ยื่นเจรจากับแก ตอนนี้แกก็ไปทำสัญญากับเขา เขาจะยกที่ให้แก 5 ไร่ ทำเป็นสัญญาซื้อขาย
“กองทุนยุติธรรมจังหวัดก็บอกว่าไม่รู้จะช่วยยังไงเพราะแกไปทำสัญญาซื้อขายกับเขาแล้ว เพราะเขาบอกว่าจะขายให้คนอื่นถ้าแม่ทองสาไม่เอา ปัญหาคือที่ดิน 5 ไร่ที่เขาจะให้แม่ทองสาซื้อนั้นไม่รู้อยู่ที่ไหน หาที่ให้ไม่ได้หลักโฉนดก็ไม่มี เคยเอาที่ดินมารังวัดแล้วครั้งหนึ่งปรากฏว่าที่ดินอยู่กับชาวบ้านข้างเคียงด้วยส่วนหนึ่ง อยู่ในที่ดินแกด้วย ถ้าแม่ทองสาเอาโฉนดแปลงนี้มาแกก็ต้องไปทะเลาะกับชาวบ้านที่อยู่ที่ดินข้างเคียง ต้องทะเลาะกับเพื่อนบ้าน จริงๆเขาก็เห็นกันมาตั้งแต่เกิด เหมือนกับบุคคลที่ 3 ที่ซื้อโฉนดมาแล้วมาไล่แม่ทองสาออก แกเลยบอกว่าไม่อยากได้แล้วถ้าต้องไปไล่เพื่อน” นางหนูเดือน บอกเล่าปัญหาของที่ดินแปลงอื่นๆ ซึ่งถูกนายทุนปั่นหัวให้ชาวบ้านทะเลาะกันเอง
จริงๆแล้วนางหนูเดือนกับชาวบ้าน เคยมีความหวังหลังศาลปกครองมีคำสั่งให้กรมที่ดินไปตรวจสอบเพื่อเพิกถอน แต่จากวันนั้นผ่านมาจะ 10 ปีแล้ว ปัญหาที่คิดว่าจะจบกลับยิ่งลุกลามไปเรื่องอื่นๆมากขึ้น
ความหวังเดียวของชาวบ้านที่จะจบเรื่องนี้ได้คือให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาในระดับนโยบายคือสั่งให้อธิบดีกรมที่ดินตั้งคณะกรรมการมาตรา 61 ตามคำสั่งศาลปกครองเท่านั้น
นางหนูเดือนและชาวบ้านหนองกินเพลต้องสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจเงินมากว่าครึ่งชีวิต แต่เสียงของชาวบ้านคนเล็กคนน้อย กลับถูกเมินครั้งแล้วครั้งเล่า แม้พยายามสู้ด้วยกติกาของบ้านเมือง และกติกาของสังคมไทย แต่เสียงของพวกเขากลับไม่มีใครได้ยิน แม้อุตสาห์ไปนั่งถึงประตูรัฐสภา แต่ก็เสมือนคนไร้ตัวตนที่ไม่มีคนเห็น
นี่คือเสียงตะโกนที่แทบไม่มีใครได้ยิน
————
อนึ่ง เรื่องราวของชาวหนองกินเพลและการถูกออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ทำกิน ได้เป็นกรณีศึกษาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง ม.ร.ว.อคิน ระพีพัฒน์ และคณะได้ลงพื้นที่ทำการวิจัยในหัวข้อ ความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมคดีที่ดินราษฎรยากจน อ่านรายละเอียดได้ใน https://transbordernews.in.th/home/?p=4814