ภาสกร จำลองราช
กองกำลัง KNLA ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) กองพล 6และ 7 ผนวกกับทหาร PDF สามารถบุกยึดกองพัน 275 ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของทหารพม่าได้ตั้งแต่คืนวันที่ 10 เมษายน 2567และเคลียร์พื้นที่เสร็จสิ้นในเช้าวันรุ่งขึ้น ทำให้ควบคุมพื้นที่เมืองเมียวดีและโดยรอบได้อย่างเบ็ดเสร็จ
มีคำถามที่ดังกระหึ่มตามมา “แล้วอย่างไรต่อ ?”
ปัจจุบันกำลังพลของฝ่ายต่อต้าน SAC (สภาบริหารแห่งรัฐพม่า) ในเมืองเมียวดี มาจาก 3 กลุ่มหลัก
1. KNLA ซึ่งเป็นการสนธิกำลังกันระหว่างกองพล 6 และกองพล 7 ของ KNU เนื่องจากพื้นที่เมืองเมียวดีตอนเหนืออยู่ในความดูแลของกองพล 7 ขณะที่เมียวดีตอนใต้อยู่ในความดูแลของกองพล 6 ดังนั้นในการบุกโจมตีทหารพม่าหลายครั้งที่เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวจึงได้มีการสนธิกำลังกันระหว่างทหารกะเหรี่ยงทั้ง 2 กองพล
2. กองกำลัง PDF (People’s Defense Force-กองกำลังพิทักษ์ประชาชน) ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวที่ออกมาต่อต้าน SAC หลังจากที่ พล.อ.มิน อ่อง หลาย และกองทัพพม่าทำการรัฐประหารเมื่อปี 2564 โดยคนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนจาก KNU ซึ่งในการออกรบมักได้รับเสียงชื่นชมเสมอในแง่ของความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ใจถึง ยอมอยู่แถวหน้าเผชิญกับทหารพม่า ที่สำคัญคือคนหนุ่มสาวระดับปัญญาชนเหล่านี้ยังสามารถใช้ความรู้ดัดแปลงเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือต่อกรกับกองทัพพม่า เช่น สร้างโดรนที่หลบเลี่ยงเครื่องตรวจจับของ SAC ได้ แม้กองทัพพม่ามีโดรนทันสมัยที่ได้มาจากรัสเซีย แต่กลับต้องพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่า
3.กองกำลังกะเหรี่ยง BGF (Border Guard Force-กองกำลังพิทักษ์ชายแดน) ที่นำโดย พ.อ.ชิตู ซึ่งหลังจากประกาศตัดญาติขาดมิตรกับ SAC ปัจจุบัน BGF ได้แปรสภาพเป็น KNA (Karen National Army-กองทัพกะเหรี่ยงแห่งชาติ) โดยในยุทธการขับไล่ทหารพม่าออกจากเมียวดีครั้งนี้ BGF เลือกที่จะเป็นฝ่ายดูแลพื้นที่มากกว่าการส่งกำลังร่วมรบเลย และยังเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อให้ทหารพม่ายอมวางอาวุธเนื่องจาก BGF และทหารพม่าต่างมีความสัมพันธ์แนบแน่นกันมาก่อน
แต่ BGF กำลังกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ถูกตั้งคำถาม เพราะเป็นที่ทราบกันดีพื้นที่ริมแม่น้ำเมยฝั่งเมียวดีคือที่ตั้งของแหล่งอาชญากรรมระดับโลกกว่า 30 แห่ง โดยที่มีชื่อเสียงมากคือชเวโก๊กโก่ และ เคเคปาร์ค ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ BGF
BGF มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่ากองกำลังกะเหรี่ยงกลุ่มอื่น เนื่องจากมีรายได้มหาศาลจากการให้กลุ่มทุนจีนเทาเช่าพื้นที่ทำธุรกิจมืด ไม่ว่าจะเป็นการค้ามนุษย์ การพนันออนไลน์ การต้มตุ๋นออนไลน์ รวมถึงผลิตยาเสพติด และอาชญากรรมอื่นๆ โดยทหาร BGF ทำหน้าที่คุ้มกันแหล่งธุรกิจเหล่านี้ คาดการณ์กันว่าเฉพาะ พ.อ.ชิตู คนเดียวก็มีทรัพย์สินมากมายหลายพันล้านบาท
การดึงให้มาเฟียจีนมาสร้างอาณาจักรอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยของผู้นำ BGF ด้วยการอนุญาตของรัฐบาลทหารพม่า ทำให้เม็ดเงินมหาศาลถูกแบ่งจ่ายให้คนกลุ่มต่างๆ ในขบวนการ ที่สำคัญคือนอกจากสร้างความมั่งคั่งให้กับชิตูแล้ว ยังสร้างความมั่นคงให้เขาอีกด้วย เพราะเม็ดเงินที่เขาโปรยปรายสู่ผู้มีอำนาจ ทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า ได้สร้างอำนาจต่อรองให้เขา อย่างไรก็ตามอีกด้านหนึ่งธุรกิจมืดได้กลับกลายเป็นหอกทิ่มแทงเขาและ BGF เพราะรัฐบาลหลายประเทศต้องการตัวเขา ทำให้ระยะหลัง พ.อ.ชิตูค่อนข้างเก็บตัว
หลังจาก SAC เริ่มถดถอยและถูกกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆรุกไล่ BGF ได้กลับหลังหันมาอยู่กับ KNU และยังคงคุมพื้นที่อาณาจักรอาชญากรรมไว้อย่างเหนียวแน่น
แหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยเป็นพื้นที่ที่คนทั่วโลกต่างจับตามองและสาปแช่ง เพราะเป็นความเลวร้ายที่กระทำต่อมนุษย์ แต่กลับไม่มีใครจัดการได้เลย ขณะที่ไทยกลายเป็นพื้นที่ระเบียงให้แหล่งอาชญากรรม ทั้งไฟฟ้า สัญญาณอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เด็ดขาด แต่รัฐบาลไทยก็เลือกที่จะเพิกเฉย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพราะมีนักการเมืองระดับประเทศ และข้าราชการระดับสูงของไทยจำนวนไม่น้อยได้รับ “ส่วย” จาก BGF ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่เคยเอาจริงเอาจังกับปัญหาข้างบ้านทั้งๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้คนไทยและคนทั่วโลกอยู่ทุกวัน
การยึดพื้นที่เมียวดีไว้ได้เบ็ดเสร็จของฝ่ายต่อต้าน SAC จึงเกิดคำถาม “แล้วอย่างไรต่อ”
แม้ที่ผ่านมา KNU ประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับธุรกิจสีดำ แต่ KNU ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะจุดไต้ตำตอกับคนของตัวเอง ขณะเดียวกันการปล่อยให้กองกำลัง BGF เป็นผู้ปกป้องรักษาเมืองเมียวดี นั่นหมายความว่าอาณาจักรอาชญกรรมริมแม่น้ำเมย จะยังคงประกอบการต่อไปได้เรื่อยๆ หรือไม่?
อีกตัวละครที่น่าสนใจคือ “จีน” เพราะทางการจีนจริงจังกับการปราบปรามมาเฟียจีนเทามาก เพราะมีประชาชนจีนจำนวนมากต่างเดือดร้อน โดยคาดว่าในอาณาจักรอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยมีประชากรเป็นคนจีนและคนชาติต่างๆ ไม่น้อยกว่า 1 แสนคน
ที่ผ่านมาทางการจีนสามารถเข้าถึงกองกำลังชาติพันธุ์ จนสามารถขนคนจีนขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไปแล้วกว่า 900 คน แต่ก็ยังเหลือคนจีนอีกจำนวนมาก ถ้าหาเราศึกษาบทเรียนจากกรณีที่เขตปกครองพิเศษโกก้าง ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งจีนสนับสนุนให้ 3 กองกำลังชาติพันธุ์ปฏิบัติการทลายธุรกิจจีนเทาในเมืองเล่าก์ก่าย เห็นได้ชัดว่าทางการจีนจริงจังกับเรื่องนี้มาก เป็นที่ทราบกันว่ามีการส่งคนของทางการจีนมาฝังตัวอยู่ใน อ.แม่สอด นานนับปี ดังนั้นหากทางการจีนจะสนับสนุนให้กองทัพพม่าบุกเมียวดีโดยอ้างการทลายแหล่งอาชญากรรมก็มีโอกาสเป็นไปได้
วันนี้สงครามในเมืองเมียวดี กำลังจะพัวพันกับแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย ขณะที่กองทัพพม่าก็ไม่ยอมสูญเสียพื้นที่เมืองเมียวดีให้กับกะเหรี่ยงอย่างแน่นอน จึงพยายามส่งกำลังพลพร้อมอาวุธหนักเข้ามา
สถานการณ์ชายแดนริมแม่น้ำเมยจึงอ้าวร้อนเป็นพิเศษ
จับตาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลไทยจะเล่นบทไหน