สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีการจัดกิจกรรม 10 ปี: บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ผู้พิทักษ์สิทธิแห่งบางกลอย ณ ใจแผ่นดิน ในระหว่างวันที่ 17-18 เม.ย. โดยในงานมีการจัดนิทรรศการรูปแบบต่าง ๆ เช่น ภาพถ่ายความทรงจำของบิลลี่ ดนตรีเพื่อชุมชน และการฉายภาพยนตร์สั้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของบิลลี่ การบังคับบุคคลให้สูญหาย และสิทธิจองชุมชนชาติพันธุ์ โดยมี ชาวบ้าน นักสิทธิมนุษยชน และตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยง เข้าร่วมงาน

ในช่วงค่ำวันที่ 17 เม.ย. ก่อนการฉายภาพยนตร์สั้น มีการจัดพิธีตามความเชื่อของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อรำลึกถึงนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนแห่งบางกลอยที่เสียชีวิตไปแล้ว 3 ท่าน ได้แก่ ‘ปู่คออี้’ นายคออี้ มีมิ ผู้อาวุโสของชุมชน ‘บิลลี่’ นายพอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่หายตัวไป และ แม่กิ๊ป ต้นน้ำเพชร สตรีผู้ออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้ชุมชน

นอกจากนี้เช้าวันที่ 18 เม.ย. มีกิจกรรม “กล่องความทรงจำ” เพื่อให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาของชุมชน ผ่านเรื่องเล่าความทรงจำ โดยส่วนใหญ่สะท้อนความต้องการกลับคืนถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมที่ใจแผ่นดินในผืนป่าแก่งกระจาน ปัญหาสิทธิสถานะบุคคล ปัญหาสาธารณูปโภค ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวบ้าน

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า บทเรียน 20 ปี ของกรณีทนายสมชาย นีลไพจิตร และ 10 ปี ของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ทำให้ประเทศไทยสามารถมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่มีบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดบังคับบุคคลให้สูญหายที่ดีกว่าในอดีต และอนาคตเหตุบุคคลสูญหายจะเป็นคดีอาญาที่มีบทลงโทษหนักและมีการดำเนินการทางกฎหมายที่รวดเร็วขึ้น การปฏิบัติการจับกุมของเจ้าหน้าที่จะต้องทีการบันทึกภาพ-เสียงตลอดกระบวนการควบคุมและจับกุมตัว ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์บุคคลสูญหาย

นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านในนามกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น กล่าวว่า ตอนที่พี่บิลลี่หายตัวไป ตนเพิ่งเรียนจบชั้น ม.2 ยังเป็นเด็กและไม่ได้สนใจปัญหาของชุมชน จนปี 2559 ตัดสินใจลุกขึ้นมาร่วมกับพี่น้องเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมให้กับชุมชน ที่มีการจับกุมและถูกดำเนินคดีหลายกรณี สำหรับเหตุการณ์สูญเสียบิลลี่เป็นแรงบันดาลใจต่อจิตสำนึกของตน เพราะเชื่อว่าหากพวกเราไม่เริ่มต้นสู้ เราคงต้องอยู่อย่างหวาดกลัวต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ

“10 ปีที่ผ่านมา จากที่ไม่เคยมีทางออก ตอนนี้เริ่มมีความหวัง เราเรียกร้องจนมีคณะกรรมการ 3 ฝ่าย มีแนวทางผลักดันให้ชาวบ้านสามารถกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน แต่ยังมีอุปสรรคอยู่อีกมาก” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

น.ส.อัญชลี อิสมันยี ศิลปินนักดนตรี กล่าวว่า เหตุการณ์การหายตัวไปของบิลลี่เมื่อปี 2557 ทำให้ตนที่เป็นคนเพชรบุรีและไม่เคยรู้เรื่องราวของคนบางกลอยมาก่อน  ได้สนใจปัญหาและมีโอกาสลงพื้นที่จนเห็นข้อเท็จจริงที่เกิดกับคนบางกลอย ได้รับรู้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงเกิดขึ้นกับชุมชนกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน เสมือนเป็นรอยต่อความคิดให้ตนมองเห็นความจริงว่ารัฐกำลังรังแกชาวบ้าน ซึ่งย้อนแย้งต่อการรับรู้ของสังคมไทยที่มี จ.เพชรบุรี ที่พยายามเชิดชูวัฒนธรรมคนเมืองเพชร ที่มีความหลากหลายหรือการอยู่ร่วมกันของคนที่มีความแตกต่างอย่างสงบสุข ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ตนลุกขึ้นมาสื่อสารสถานการณ์ของชุมชนแห่งนี้ผ่านการเล่นดนตรี

“ตนพยายามใช้ดนตรีและบทเพลงสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคม เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้คือการต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายที่สุด สามารถจับหัวใจให้กำลังใจ เยียวยา สร้างอุดมการณ์ และส่งต่อความเข้าใจ ให้คนในสังคมไทยลุกขึ้นมาร่วมสู้กับชาวบ้าน” น.ส.อัญชลี กล่าว

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →