เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า กองทัพเอกราชคะฉิ่นสามารถยึดฐานที่มั่นของกองทัพพม่าที่หน่อยเจ่หบั่ม เมืองทะไน รัฐคะฉิ่น ซึ่งฐานที่มั่นแห่งนี้ปฏิบัติภารกิจดูแลเหมืองทองและเหมืองอำพัน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เมื่อปี 2558
อีกด้านหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้งกองทัพว้า (UWSA) 35 ปี รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่า ได้ส่งหนังสือยกย่องกองทัพว้าว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า นอกจากนี้ยังแสดงความขอบคุณที่กองทัพว้าช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์สู้รบทางเหนือของรัฐฉาน หรือปฏิบัติการ 1027 โดย NUG มุ่งหวังที่จะทำงานร่วมมือกับกองทัพว้าต่อไป
นอกจากนี้ทางรัฐบาล NUG ยังระบุว่า ชัยชนะในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารพม่านั้นเข้าใกล้ความสำเร็จแล้ว และจะดำเนินการต่อไปเพื่อถอนรากถอนโคนเผด็จการทหารพม่า อีกทั้งจะร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธทุกกลุ่มในการโค่นกองทัพพม่าลงจากอำนาจ โดยเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับประชาชน แต่ขอให้อดทน
ด้านดอว์อองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐและเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่าถูกย้ายไปที่ไหน แต่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า นางซูจียังคงอยู่ในเมืองหลวงเนปีดอว์
สำนักข่าว Irrawaddy วิเคราะห์ว่า จีนน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจย้ายนางซูจีออกจากเรือนจำของกองทัพพม่า โดย 2สัปดาห์ก่อนหน้านี้ นักการทูตจีนนั้นได้เข้าพบกับพล.อ.อาวุโสตานฉ่วย พล.อ.อาวุโสหม่องเอ และพล.อ.เต็งเส่ง อดีตประธานาธิบดีพม่าสายทหาร โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า น่าจับมองว่า ทำไมพล.อ.ตานฉ่วยยังคงมีบทบาทในทางการเมืองพม่า แม้จะเกษียณแล้วก็ตาม ขณะที่ในอดีตนั้น พล.อ.ตานฉ่วยมักใช้นางซูจีเป็นเครื่องมือทางการเมือง หากอยู่ในสถานการณ์ถูกกดดันจากนานาชาติ ซึ่งมีกระแสข่าวลือออกมาแต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า ทูตจีนได้มีโอกาสเข้าพบกับนางซูจีแล้ว
ด้านสำนักข่าว DVB ได้สัมภาษณ์นายอ่องตุหยิ่น ผู้อำนวยการองค์กร Institute for Strategy and Policy ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่กองทัพพม่ากำลังใช้ผู้นำหญิงเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง หรือเป็นเครื่องมือต่อรองเจรจากับฝ่ายต่อต้านติดอาวุธที่กำลังรุกคืบอยู่ขณะนี้ โดยทางนายอ่องตุหยิ่นกล่าวว่า คงประสบความสำเร็จได้ยากในการใช้นางซูจีเป็นเครื่องมือ ถึงแม้นางซูจีจะยังคงมีอิทธิพลในการเมืองในประเทศหรือในระดับสากลก็ตาม เพราะเชื่อว่าสงครามความขัดแย้งคงไม่สงบในเร็ววัน และยากที่จะบอกว่า ปัญหาต่างๆในพม่าจะสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีนี้ หรือหากนางซูจีได้พบกับนักการทูต ก็อาจมีโอกาสที่เธอได้พูดคุยเกี่ยวกับวิธีบรรลุสันติภาพในพม่า แต่หากมีข่าวออกมาว่านางซูจีนั้นได้หารือกับกองทัพพม่าก็อาจจะมีผล ซึ่งนายอ่องตุหยิ่นเชื่อว่า ไม่มีเหตุการณ์พิเศษเกี่ยวกับการย้ายนางซูจีออกจากเรือนจำในเนปีดอว์ครั้งนี้
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.