สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw Nee) โฆษกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) ให้สัมภาษณ์ถึง ต่อสถานการณ์ภายในเมืองเมียวดี หลังปฏิบัติการทางทหารของกองกำลังผสม นำโดยกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง Karen National Liberation Army-KNLA ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการทหารของ KNU และ กองทัพประชาชน (People’s Defense Force-PDF) ขับไล่ทหารของสภาบริหารแห่งรัฐพม่า (SAC) ออกจากเมืองเมียวดีได้ทั้งหมด พะโดซอตอนี ว่า KNU จะยังไม่เข้าไปจัดการปกครองภายในเมืองเมียวดี เพราะต้องรอให้ปฏิบัติการทางทหารเสร็จสิ้นก่อน โดยเฉพาะการสกัดกั้นกองกำลังทหารพม่าที่ส่งมาโจมตีเมืองเมียวดี

พะโดซอตอนีกล่าวว่า ล่าสุดกองกำลังทหารพม่ายังไม่สามารถเข้ามาถึงเมืองเมียวดีเพราะถูกสกัดอยู่ที่ภูเขาตอน่อ โดยส่วนตัวมองว่าการที่พม่าจะยึดคืนเมืองเมียวดีได้ อาจจะยากกว่าเดิม เพราะทหารพม่าที่เป็นกำลังหลักส่วนใหญ่คือเยาวชนที่ถูกเกณฑ์มาซึ่งยังไม่มีทักษะมากพอ และขวัญกำลังใจมีน้อยลง แม้กองทัพพม่ายังมีเครื่องบินรบ มีรถถัง ที่ทำให้ทหาร KNU ต้องตั้งรับให้ได้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนในเมืองเมียวดีจะมั่นใจได้หรือไม่ว่าจะมีทหาร KNU และฝ่ายต่อต้านคอยคุ้มกันดูแล โฆษก KNU กล่าวว่าขอให้ประชาชนเชื่อมั่นกองกำลังผสมของเราทั้ง KNLA, KNDO และ PDF ที่อยู่แนวหน้าว่ายังมีความปลอดภัย มีความแข็งแรง ที่สำคัญคือ ประชาชนมาช่วยกัน ทำให้การบุกยึดเมืองเมียวดีของกองทัพพม่าจะยากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งต้องรอให้ปฏิบัติการทางทหารแล้วเสร็จ จึงจะเข้าไปบริหารจัดการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลายฝ่ายรู้สึกกังวลเรื่องการค้าขายและระบบเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากการสู้รบ

พะโดซอตอนีกล่าวว่า ชายแดนเมืองเมียวดี กับอำเภอแม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเมียนมา จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ KNU พยายามไม่ให้กระทบมากที่สุด โดยเฉพาะการค้าขายต้องไม่กระทบกับประชาชนทั้งสองประเทศ และเป็นสิ่งที่ต้องคุยกับทางการไทยด้วย ขั้นตอนสำคัญขณะนี้จึงต้องรอให้ปฏิบัติการทางการทหารแล้วเสร็จ จึงเข้าสู่ขั้นตอนการบริหารจัดการเมือง ซึ่งทาง KNU ได้พูดคุยเตรียมการไว้แล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

“ตอนนี้สถานการณ์ยังไม่มั่นคง เราต้องสู้รบก่อน ระหว่างนี้ต้องมีการวางแผนจัดนโยบายเพื่อใช้ทุกพื้นที่ เราคำนึงถึงประโยชน์ที่ดีที่สุดกับประชาชน แต่เราจะไม่ทำเหมือนที่ทางการพม่าทำ ต้องมีเป็นลำดับขั้น เพื่อไปถึงเป้าหมายก็ต้องร่วมกัน” พะโด่ซอตอนี กล่าว

โฆษก KNU กล่าวว่า ในทางการทหาร KNLA ที่เป็นกองทัพของ KNU ทำงานร่วมกับ PDF ที่เป็นกองทัพของ NUG แต่ในทางการเมือง เรายังไม่ได้ทำงานร่วมกันขนาดนั้น เพราะเป้าหมายของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ขณะนี้คือการสู้รบจนกว่าจะชนะ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องมีการรบกันถึงขั้นไหนจึงจะมีการเจรจาได้ พะโดซอตอนีกล่าวว่า จะไม่มีพื้นที่เจรจากับรัฐบาลทหาร SAC อีกแล้ว เพราะในอดีตที่มีการเจรจา รัฐบาลพม่าไม่เคยจริงใจ ดังนั้นครั้งนี้หลังการสู้รบได้ชัยชนะแล้ว จึงจะมาคุยกันว่าจะไปสู่เป้าหมายการเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตยอย่างไร

“ขณะนี้ KNU มีการจับมือกับ 5 กลุ่มคือ KNU, KNPP, CNF, KIO และ NUG เพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ภายใต้จุดร่วม 3 อย่างคือ ทหารจะต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2008 และทหารต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยจะต้องมีการปฏิรูปกองทัพใหม่สำหรับการปกครองในระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย” โฆษก KNU กล่าว

พะโดซอตอนีกล่าวว่า การสร้างรัฐกอทูเลไม่ได้มีเพื่อชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเท่านั้น แต่ทำเพื่อทุกชาติพันธ์ที่จะอยู่ร่วมกันในดินแดนกอทูเล ไม่ใช่แค่ Karen State นี่จึงเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ที่ต้องย้ำไปถึงพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง และ พม่า รวมถึงประชาชนไทยบริเวณชายแดนเมียวดี-แม่สอด ขอให้เชื่อมั่นว่าการสู้รบครั้งนี้ทำเพื่อประชาชนทุกคนที่ต้องการกำจัดปีศาจร้ายหรือความชั่วร้ายออกจากกอทูเล

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรฐัมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ได้เตรียาลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยระบุว่าปัจจุบันสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมามีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไทยในหลายมิติทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การสู้รบตามแนวชายแดน และการค้าชายแดนหยุดชะงัก อันกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดําเนินชีวิตของประชาชนและความมั่นคงแห่งชาติ

คำสั่งระบุว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินการทางการทูต ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการสื่อสารต่อสาธารณะ รวมถึงการบริหารสถานการณ์พื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมา เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กําหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม จึงมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมาโดยมีองค์ประกอบ หน้าที่และอํานาจ ประกอบด้วย 1.นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน 2. นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธาน 3. ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ 4. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกรรมการ 5. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ 6.ผู้อํานวยการสํานักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นกรรมการ 7.ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นกรรมการ 8. ผู้บัญชาการทหารบ เป็นกรรมการ 9. ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติเป็นกรรมการ 10. อธิบดีกรมสารนิเทศ เป็นกรรมการ 11. อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เป็นกรรมการ 12. อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เป็นกรรมการ 13. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ 14.ข้าราชการสํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือ ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในมิติการต่างประเทศ มิติการค้าและเศรษฐกิจชายแดน มิติความมั่นคง รวมทั้ง บทบาทและท่าทีของต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลั่นกรอง ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกําหนดมาตรการ หรือแนวทางการบูรณาการ และประสานงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดําเนินการเพื่อปกป้อง และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะ พื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมา รวมถึงการดําเนินการทางการทูตเชิงรุกที่จําเป็นเพื่อสนับสนุนให้เกิดสันติภาพในเมียนมา ให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการต่างประเทศ นโยบายด้านเศรษฐกิจ นโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้ง ยุทธศาสตร์หรือแผนที่เกี่ยวข้อง ต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

นอกจากนี้คณะกรรมการชุดนี้ยังต้องเร่งรัดและติดตามการขับเคลื่อนและการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ในการปฏิบัติตามนโยบาย แนวทาง หรือมาตรการที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี กําหนดและดําเนินการประชาสัมพันธ์ ชี้แจงหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล ในมิติต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมาทั้งในส่วนการดําเนินการทางการทูต ความมั่นคง เศรษฐกิจ และ การแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมา ให้ประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที รายงานผลการดําเนินงานต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ตามห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทํางาน หรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุน การปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจําเป็นและเหมาะสม

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →