เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ประมาณ 40 คน ได้จัดกิจกรรม “สืบชะตาลำน้ำเซบาย สืบสานการอนุรักษ์ทรัพยากร” บริเวณสะพานลำน้ำเซบาย อำเภอป่าติ้วและอำเภอเมืองอำนาจเจริญ พร้อมทั้งอ่านคำประกาศที่มีข้อเสนอให้รัฐบาลและฝ่ายค้านเอาจริงเอาจังกับอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ และฝุ่น PM 2.5 อย่าพูดแต่ลมปาก เพราะทุกวันนี้อากาศเปลี่ยนแปลงมากและร้อนมาก ถ้ายังปล่อยปละละเลยควบคุมไม่ได้อนาคตข้างหน้าสถานการณ์โลกร้อนจะยิ่งร้อนกว่าวันนี้แน่นอน
นางมะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง กล่าวว่าได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสืบชะตาลำน้ำเซบายเป็นปีที่ 7 โดยต้องการสร้างสำนึกร่วมกันของคนลำเซบายให้ตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากลำน้ำเซบาย และการอนุรักษ์ทรัพยากร เราไม่ต้องการที่จะให้นโยบายของรัฐมาทำลายทรัพยากรที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลรักษา โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษ แย่งชิงทรัพยากรจากชุมชน
“ตลอดระยะเวลาการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง เรายืนหยัดคัดค้านโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกะวัตต์ าาด้วยจิตสำรนึกแห่งการปกป้องบ้านเกิด ยืนหยัดปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ยืนหยัดปกป้องอากาศที่บริสุทธิ์เอาไว้ให้แก่ลูกหลายในอนาคต โดยลุกขึ้นมาสู้ด้วยความหวงแหน ลุกขึ้นมาสู้ด้วยแรงกายแรงใจ”นางมะลิจิตร กล่าว
นายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า สถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยได้เข้าสู่วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพราะร้อนขึ้นกว่า 40 องศา และปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ ส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้าน เพราะการดำเนินโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการได้ ดังนั้นกระบวนการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งที่เคลื่อนไหวก็เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ไม่เข้าใจนิเวศของพื้นที่แต่มองฐานทรัพยากรเพื่อจัดการให้กับทุน จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2559 ถึงปัจจุบัน ทางกลุ่มได้ใช้เหตุผลหลักความเชื่อตามวัฒนธรรมชุมชน ตลอดไปจนถึงการทำข้อมูลด้านวิชาการ งานวิจัย การเก็บข้อมูล เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น รวมถึงการใช้ข้อมูลทางวิชาการในการอ้างอิงข้อมูลในการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลมาตลอด
“เราเน้นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่ม หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมและได้ผนวกกับเอาวัฒนธรรมประเพณี วิถีในชุมชนและคิดค้นกิจกรรมที่ชาวบ้านได้ดำเนินวิถีชีวิตมาตลอดให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมและทำต่อเนื่องประจำทุก ๆ ปี เช่นการดำนารวม การเกี่ยวข้าวนารวม กิจกรรมปั่นจักรยานบอกรักลำเซบาย การบวชป่า กิจกรรมสืบชะตาลำน้ำเซบาย ฯลฯ ถึงแม้ว่าโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะดำเนินการเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม”นายสิริศักดิ์ กล่าว