ภาสกร จำลองราช
อยากให้อ่านรายงานชิ้นหนึ่งของบางหน่วยงานทางการไทย ซึ่งเขียนไว้ดังนี้
“1. เมื่อ 23 เม.ย. 67 พ.อ.หม่องชิดตู่ เป็นตัวกลางประสานงาน ได้พูดคุยกับ พลเอกอาวุโส โซวิน ผบ.ทบ.เมียนมา และ กกล.ฯ กลุ่มต่อต้านฯ (กกล.ฯ KNLA) เพื่อหาทางออก ในการลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยมีข้อสรุปและการดำเนินการ ดังนี้
1) ไม่ให้มีการสู้รบในพื้นที่ จ.เมียวดีฯ โดยกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของประชาชน สมม.
2) ทมม. ที่อยู่ในบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 (ฝั่งเมียนมา) จะเคลื่อนย้ายกลับไปยังที่ตั้งหน่วย พัน.ร.275 ค่ายผาซอง โดย กกล.ฯ KNA ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ และวางกำลังดูแลความปลอดภัยบริเวณค่ายผาซอง เมื่อ 23 เม.ย. 67 เวลา 07.00
3) ให้ จนท. ซึ่งเคยปฏิบัติงานในสำนักงานสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 (ฝั่งเมียนมา) เช่น ศุลกากร, ตม. ฯลฯ กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
4) คาดว่า การดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน 2 – 3 วัน”
——-
ผมเกิดคำถามทันที
1.อะไรเป็นมูลเหตุหรือแรงจูงใจที่ทำให้ พ.อ.ชิตู กลับลำไปร่วมมือกับ SAC และพูดคุยกับ พล.อ.โซวิน นายทหารเบอร์ 2 ของ SAC โดยที่อ้างว่ากลัวกองทัพพม่าจะทิ้งระเบิดบ่อเงินบ่อทองทั้ง ชเวโก๊กโก่และเคเคปาร์ค แหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยนั้น ดูจะไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะถ้ากลัวก็น่าจะกลัวตั้งแต่ต้นก่อนที่ปฏิบัติการยึดเมียวดีจะเกิดขึ้น ทำไมถึงเพิ่งมากลัวเอาตอนนี้
ที่สำคัญคือการที่แหล่งอาชญากรรมระดับโลก ณ ริมแม่น้ำเมย ซึ่งยังประกอบธุรกิจสีดำและคุมขังทรมานเหยื่อจากทั่วโลกนับหมื่นคนไว้ได้ถึงทุกวันนี้โดยไม่กลัวสงครามการสู้รบใดๆ สาเหตุหนึ่งเนื่องจาก “ดิลลับ” ของเหล่าบิ๊กๆ ทั้งนายพลบางคนจากกองทัพพม่า นายตำรวจใหญ่และนักการเมืองจากฝั่งไทย บิ๊กในบางมณฑลของจีน รวมทั้งพวกเสือหิวอีกหลายคน โดยมี พ.อ.ชิตู เป็นผู้จัดการใหญ่คอยจัดสรรผลประโยชน์
แม้ที่ผ่านมาสื่อมวลชนทั่วโลกต่างขุดคุ้ยถึงความเลวร้ายของแหล่งอาชญากรรมเหล่านี้ แต่กิจกรรมของอาชญากรก็ยังดำเนินได้เป็นปกติ หากมีสัญญาณถึงความไม่แน่นอนของสงคราม พวกเขาก็หนีข้ามแม่น้ำเมยมาหลบภัยอยู่ฝั่งแม่สอดได้ตามอำเภอใจเพราะต่างก็มีหนังสือเดินทางเข้าไทยตั้งแต่เหยียบสนามบินสุวรรณภูมิจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับการเข้าพักในโรงแรม
2.ถ้าสถานการณ์เป็นจริงตามรายงานข้างบน มิใช่ SAC เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ แต่ไทยเองก็ได้รับประโยชน์เนื้อในระยะสั้นเพราะขบวนรถขนส่งสินค้าสามารถข้ามไป-มาได้เป็นปกติ ซึ่งสอดรับกับคำสัมภาษณ์ของผู้บริหารประเทศไทยบางคนที่มุ่งเน้นผลประโยชน์จากการค้าขายจนละเลยเรื่องความมั่นคงของชาติ ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่างานนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย หรือรัฐบาลไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในวงพูดคุยระหว่าง พ.อ.ชิตูและพล.อ.โซวินด้วยหรือไม่
สาเหตุหนึ่งที่ผมสงสัยเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลไทยส่งต่อความช่วยเหลือไปยังชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยการสู้รบใน 3 หมู่บ้าน ปรากฏว่าหน่วยงานของกองทัพไทยได้ใช้บริการ BGF ที่เชื่อมประสานกับ KNU เพียงแต่พยายามปกปิดซ่อนเร้นเพื่อไม่ให้มีชื่อหน่วยงานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการครั้งนั้น อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าเพียงแค่ KNU ออกแถลงการณ์ท่าทีถึงปฏิบัติการส่งต่อความช่วยเหลือในครั้งนั้นและพาดพิงหน่วยงานของกองทัพไทย วันรุ่งขึ้นมือที่มองไม่เห็นยังสามารถลบข้อความในแถลงการณ์ของ KNUทิ้งได้
ที่ผมเป็นกังวลประเด็นนี้เพราะว่าแหล่งธุรกิจในอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย ฝั่งเมียวดี เป็นสิ่งที่มวลมนุษย์ส่วนใหญ่ต่างแสดงความรังเกียจ เพราะมีทั้งขบวนการค้ามนุษย์ที่เหี้ยมโหด การต้มตุ๋นออนไลน์ที่สร้างความทุกข์ให้กับสังคมไทยและทั่วโลก และในบางอาคารยังเป็นโรงงานผลิตยาเสพติดด้วย สิ่งเหล่านี้มีหลักฐานมากมายโดยเฉพาะคำบอกเล่าจากเหยื่อจำนวนมากที่หนีรอดหรือได้รับการช่วยเหลือออกมาได้ โดย BGF นอกจากรับทรัพย์จากค่าเช่าที่ดินที่ตั้งของแหล่งอาชญากรรมเหล่านี้แล้ว ทหารBGF ยังทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้เหยื่อหนี และดูแลปกป้องกลุ่มจีนเทา รวมทั้งมีรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องอีกหลายด้าน
ถ้าหากรัฐบาลไทยหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงเลือกใช้บริการของ พ.อ.ชิตูและ BGF ก็ไม่แตกต่างจากการพึ่งพาอาชญากรหรือฆาตกร โดยที่เราไม่สามารถตอบสังคมโลกได้เลย ยิ่งรัฐบาลไทยยังคงอ้ำๆ อึ้งๆ รีๆ รอๆ กับการจัดการแหล่งอาชญากรรมที่อยู่ติดระเบียงบ้าน ก็ยิ่งเป็นระเบิดเวลาที่จะทำให้ประเทศชาติพลอยรับเคราะห์ไปด้วย
หวังว่าปฏิบัติการของ พ.อ.ชิตูที่ตกลงกับ พล.อ.โซวินในครั้งนี้ รัฐบาลไทยหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยจะไม่อยู่เบื้องหลังการดีลในครั้งนี้
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.