Search

ในวันเรี่ยวแรงอ่อนล้าของอดีตสาวฉันทนา กับการดูดายของรัฐบาล

ธนก บังผล

ไม่น้อยกว่า 40 ปี ที่ น.ส.อรุณี ศรีโต หรือ “ป้ากุ้ง” ของน้องๆ วงการแรงงาน ผู้อาวุโสวัย 71 ปี กับ น.ส.อุบล ร่มโพทอง หรือ “ป้าอุบล” วัย 69 ปี อดีตสาวฉันทนาในยุคแรกเข้ามามีส่วนผลักดันสิทธิประโยชน์ต่างๆมากมายให้ผู้ใช้แรงงานได้รับประโยชน์อันพึงมีพึงได้

ในแวดวงสาวฉันทนา เวลาที่ผ่านมาอย่างยาวนานไม่มีใครปฏิเสธว่าสิ่งที่ป้ากุ้งและป้าอุบล สร้างไว้นั้นมีคุณูปการกับเหล่าผู้ใช้แรงงานมากมาย โดยเฉพาะการเรียกร้องสิทธิลาคลอด 90 วันให้กับเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมทอผ้า ส่งผลให้องคาพยพการจ้างงานของประเทศไทยได้รับอานิสงส์ถ้วนทั่ว

ป้ากุ้งและป้าอุบล มีจุดเริ่มต้นบนเส้นทางนักสหภาพแรงงานหญิงจากการที่ทั้งคู่เข้าทำงานที่บริษัทไทยเกรียงสิ่งทอ หรือที่คนงานเรียกว่าโรงงานไทยเกรียง จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านเวลา 40 กว่าปี ทั้ง 2 ป้า ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย คือยังคงผลักดันประเด็นสวัสดิการให้กับสาธารณะเช่นเดิม เปลี่ยนจากเคยเรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงาน มาเป็นผลักดันเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาทเป็น 1,000 บาทถ้วนหน้า

จากประสบการณ์หนุ่มสาวร่วมชุมนุมกับคนเดือนตุลา มาถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ต “ป้ากุ้ง” กับ “ป้าอุบล” ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมากมาย โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่นับวันยิ่งเบาลงเรื่อยๆ รัฐให้ความสำคัญกับปัญหาของกลุ่มผู้ใช้แรงงานน้อยลง

“ป้ากุ้ง” เมื่ออายุเพียง 17 ปี  ก็เริ่มต้นหาเลี้ยงชีวิตด้วยการเข้าไปเป็นสาวโรงงานทอผ้าไทยเกรียง จ.สมุทรปราการ แกว่าเมื่อปี 2514 นั้น ได้ค่าแรงวันละ 10 บาท ก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 2 สลึง พอสิ้นเดือนมาก็ยังพอมีเงินเก็บบ้าง

“ไทยเกรียงเป็นโรงงานที่ใหญ่มากนะ มีพื้นที่กว่า 100 ไร่ จำนวนแรงงาน 4,500 คน  ส่วนใหญ่แล้ว 80 เปอร์เซ็นต์เป็นแรงงานผู้หญิง ทางโรงงานจะหุงข้าวไว้ให้ทุกวัน ใครจะกินเท่าไรก็ได้ แต่เราต้องซื้อกับข้าวเอง ทางโรงงานจะหาบ้านพักหรือหอพักให้พนักงานได้อาศัยอยู่ในละแวกใกล้กัน”ป้ากุ้งย้อนอดีตบรรยากาศของสาวฉันทนาเมื่อ 50 ปีก่อน

“พอมีเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งตอนนั้นวัยหนุ่มสาวเพื่อนๆที่โรงงานอยู่หอพักเดียวกันมาชวนนัดหยุดงานไปชุมนุมก็เลยไปกับเขา  สังคมสมัยนั้นคนงานพักอาศัยรวมกัน พอจะนัดอะไรกัน สักบ่าย 2 โมงเราก็บอกต่อๆกันว่าเลิกงาน 4 โมงแล้วเจอกัน การจะนัดรวมตัวคนงานนั้นไม่ยากเหมือนทุกวันนี้ที่ข้าวของแพง ค่าครองชีพสูง ไหนจะมีค่าโทรศัพท์ที่ต้องจ่ายทุกเดือน ค่าเช่าหอ ค่าวินมอไซค์นั่งเข้าไปโรงงาน ค่าข้าวกลางวันอีก ทำให้คนงานต้องทำล่วงเวลาเพื่อจะมีรายได้เพิ่มขึ้น การจะนัดรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องอะไรสักอย่างในโรงงานวันนี้เลยทำให้เกิดได้ยากมาก ทำให้คนงานลำบากขึ้น”

 

หลังจากซึมซับการชุมนุมของหนุ่มสาวนักศึกษาในเหตุการณ์เดือนตุลาแล้ว ป้ากุ้งต้องใช้เวลาอีก 10 ปี จึงได้เริ่มตั้งสหพันธ์สิ่งทอขึ้นมา เนื่องจากการเป็นตัวแทนในนามสหพันธ์ทำให้การต่อรองกับนายจ้างง่ายกว่า โดยเรียกร้องให้เจ้าของโรงงานเพิ่ม “แต๊ะเอีย” หรือโบนัส ซึ่งเถ้าแก่ให้แรงงานผู้ชาย 500 บาทต่อปี แต่ให้กับแรงงานผู้หญิงเพียง 100 บาท ป้ากุ้งจึงเริ่มเรียกร้องให้ปรับเป็น 200 บาทก่อน

ป้ากุ้ง มองว่ากระบวนการต่อรองสมัยนั้นง่ายกว่าสมัยนี้  การรวมกลุ่มของสหภาพแรงงานสมัยนั้นมีภาพที่เหมือนขมิ้นกับปูน เจ้าของกิจการจะพยายามกำจัดไม่ให้ในโรงงานมีสหภาพ

“ด้วยความที่เป็นผู้หญิงเราก็มีเทคนิค พอรวมกลุ่มกันไปเสนอต่อผู้จัดการ เราก็บอกว่าขอให้ผู้จัดการมีกำไรแล้วแบ่งให้พวกเราบ้างเท่านั้น โรงงานเราก็รัก เราไม่ปล่อยให้โรงงานจ่ายไม่ไหวหรือเลิกกิจการหรอก ยังไงเราก็รักโรงงาน บนโต๊ะเจรจาเขาก็มองว่าผู้หญิงพูดดี” ป้ากุ้งเล่าเรื่องซึ่งหลังจากนั้นก็มีการนัดให้แรงงานหญิงในโรงงานทอผ้า 3,000 กว่าคนหยุดงาน โดยพิสูจน์ให้นายจ้างเห็นว่าผลผลิตมันเดินไม่ได้ จนในที่สุดการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมในการเพิ่มแต๊ะเอียก็สำเร็จ คือทั้งโรงงานได้ 500 บาทเท่ากันทุกคน

หลังจากป้ากุ้งได้เข้าเป็นกรรมการสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียง ตั้งแต่ปี 2526 – 2528 และในปี 2528 นี้เองที่ป้ากุ้งได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพฯ ทำให้เกิดการผลักดันสิทธิของผู้หญิงอย่างจริงจัง

เมื่อได้ลองชิมลางมีบทบาทในการผลักดันเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้กับแรงงานหญิงในโรงงานไทยเกรียงแล้ว ป้ากุ้งได้พาเอาความตั้งใจของตัวเองไปสู่นโยบายสาธารณะด้วยการเรียกร้องให้มีกฎหมายประกันสังคม ในปี 2533

บนเส้นทางนักสหภาพแรงงานหญิง “ป้ากุ้ง” ยังได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่ต่างๆ เช่น เป็นรองประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ,กรรมการสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานฯ ฝ่ายสตรีและเยาวชน ,ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ  ,ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี

“เรามาเริ่มจริงจังปี 2533 ที่รณรงค์เรื่องกฎหมายประกันสังคม ออกไปสู่สังคมภายนอกซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งมีคนเยอะ ถ้าไปย้อนดูอดีตจะพบว่าบทบาทการต่อสู้เรียกร้องในยุคนั้น คนงานที่ผลักดันสวัสดิการต่างๆจะมาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหลัก”อดีตนักสหภาพฯฉายภาพการรวมตัวต่อสู้ในยุคนั้น

หลังจากนั้น ในปี 2536 สหภาพออกมาเรียกร้องให้ผู้หญิงสามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ 90 วัน จนประสบความสำเร็จและบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน

การออกมาเรียกร้องให้ผู้หญิงสามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ 90 วัน ป้ากุ้งบอกว่าเกิดขึ้นในปี 2536 สมัยที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดูแลกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกรมแรงงานตอนนั้นยังอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย โดยได้มีการพาแรงงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์เดินขบวนแสดงพลัง ภาพที่สื่อนำไปเผยแพร่บนหน้าหนังสือพิมพ์ทำให้ พล.อ.ชวลิต นำประเด็นนี้เสนอเข้าที่ประชุม

“ในอดีตเวลาเราออกมาขับเคลื่อนหรือเรียกร้องประเด็นอะไร เวลาเราให้สัญญาณคนที่อยู่กะดึกเข้างานเที่ยงคืนออก 8 โมงเช้า ว่าเราจะไปเดินที่ถนนราชดำเนินตอนเช้า ขอ 3 รถบัส ก็ปรากฏว่ามากันเพียบ คนงานที่อื่นก็ไม่ชัวร์เท่าไทยเกรียงเพราะโรงงานเราคนเยอะ  นายกรัฐมนตรีจะออกมารับเรื่อง เราสามารถเจรจากับรัฐบาลได้” คืนวันเก่าๆของพลังกรรมกรที่ทำงานอย่างได้ผลทำให้ป้ากุ้งสนุกกับการต่อสู้เรียกต้องความเป็นธรรม

เมื่อตัด “ฉับ”มาสู่ยุคปัจจุบัน ในขณะที่การเรียกร้องให้เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท กลับไม่ได้รับความเอาใจใส่จากกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบเลย เสียงของป้ากุ้ง และอดีตสาวโรงงานทั้งหลายกลายเป็นเพียงเสียงเล็กเสียงน้อยที่หายไปในเวลารวดเร็ว

“ป้ากุ้งมองว่าเนื่องจากวันเวลามันเปลี่ยนไป ขบวนการแรงงานที่เมื่อก่อนเป็นกำลังหลักในการต่อรอง แต่วันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็กๆเท่านั้น เรามีคนไร้บ้าน สมัชชาคนจน มีการรวมกลุ่มของพี่น้องเยอะแยะ มีประเด็นของเขา เป็นเรื่องดีนะที่เขาลุกขึ้นมาเพื่อเจรจาต่อรอง รู้จักท้องถิ่นของเขาว่าต้องการปกป้องอะไร การต่อรองกันไปมาเหมือนสมัชชาคนจนที่ล้อมทำเนียบรัฐบาลหลายปีก่อน จากที่เราเคลื่อนไหวผู้แทน รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี เรียกเราให้เข้าไปคุยในทำเนียบ

“แต่พอสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี หนักเลย เพราะไม่เคยเจอคุณทักษิณมาเจรจาเลย ทำให้ประชาชนต่อรองยากขึ้น แม้แต่พาคนมาเดิน 5 หมื่นคนเพื่อเรียกร้องผลักดัน คุณทักษิณก็ยังไม่สนใจเลย สมัยที่รัฐบาลผสมหลายพรรค เช่น นายกชวน ,บิ๊กจิ๋ว และเติ้งเสี่ยวหาร เขาเปิดห้องประชุมมาคุย ชาวบ้านเจรจาง่ายกว่านี้ นักการเมืองสมัยนั้นสนใจปัญหาชาวบ้านมากกว่าสมัยนี้” ป้ากุ้งซึ่งผ่านการเรียกร้องสิทธิมามากมายให้ความเห็น

ป้ากุ้ง มองด้วยว่า อำนาจประชาชนที่จะออกมาเดินกดดัน ชี้แจงปัญหา มันใช้พลังงานมาก ทุกวันนี้ประชาชนมีพลังงานต่อรองเฉพาะตอนเลือกตั้งเท่านั้น เวลาที่เขาต้องการอำนาจ

“คือสวัสดิการของคนที่ทำงานให้กับประเทศชาติมานานแล้ว เขาออกมาเพราะทำงานในระบบไม่ได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีสวัสดิการอะไรเพราะว่าบ้านเราระบบประกันสังคมกับสวัสดิการของรัฐมันค่อนข้างน้อยนิด พอเกษียณออกไปแล้วก็ไม่ได้สบาย เป็นคนแก่ที่ลำบาก โดยเฉพาะคนงานที่ออกมาแล้วก็ต้องไปห่อข้าวต้มขายเป็นแม่ค้าหาบเร่ วินจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่ก็ออกมาจากโรงงาน ซึ่งในโรงงานถ้ามีค่าแรงมากก็ไม่สามารถมีเงินออม น่าจะออกมาแล้วมีเงินบำนาญสัก 1 หมื่นบาท แต่ตอนนี้มีบำนาญเต็มที่ 2-3 พันบาท มันยังชีพไม่ได้ มันไม่พอ ยิ่งถ้าแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบมาก่อนก็จะได้ 600 บาท

“รัฐบาลมีเงินไปลงทุนเยอะแยะ แต่ทำไมเรื่องสวัสดิการของผู้สูงอายุถูกรัฐเมินเฉยเกินไป ผู้สูงอายุตอนนี้มีไม่น้อย ต้องพยายามให้รัฐบาลเข้าใจว่า ควรจะต้องมีการปรับปรุงเบี้ยคนชราหน่อย ปีนี้ 1,000 บาท ปีหน้า 1,500-2,000 บาท ได้ไหม ให้เป็นเหมือนโครงสร้างไปเลย ตอนนี้แค่ถ้วนหน้าก็ยังยาก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพิ่งโทรบอกป้ากุ้งว่าคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เลื่อนประชุมการพิจารณาเบี้ยผู้สูงอายุที่ทำเนียบรัฐบาล จากวันที่ 22 เม.ย. ไปวันที่ 30 เม.ย. สงสัยป้าคงต้องไปพรรคเพื่อไทยบ้างแล้ว ทำตามกำลังเรา มันต้องให้มีกระแสหน่อย ว่าจะมีการเอาเรื่องนี้มาพูดคุยกันเป็นเรื่องเป็นราวหรือไม่” ป้ากุ้งบอกถึงแนวทางการต่อสู้ครั้งล่าสุด

วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นวันแรงงานแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานจะเดินทางไปยังลานคนเมือง  ป้ากุ้งซึ่งเป็นรองประธานจัดงาน บอกว่าอาจจะทำหนังสือขึ้นมา 1 ฉบับเป็นเรื่องการขอเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เผื่อได้ยืนข้างนายกรัฐมนตรีบนเวทีก็จะยื่นให้เลย

“เงินผู้สูงอายุก็กระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน ที่สำคัญคือเป็นการให้กำลังใจกับคนที่ทำให้ชาติบ้านเมืองมานาน และอยู่ในวัยที่ร่วงโรย ส่วนใหญ่ไม่ได้มีฐานะอะไร เงิน 600 บาทเขาจะเอาไปซื้ออะไรกินได้ มันกี่ปีแล้วไม่ขยับ กว่าจะได้ 1,000 บาทก็ต้องอายุ 90 ปี แล้วจะมีคนอายุถึง 90 สักกี่คน” ป้ากุ้ง ทิ้งด้วยคำถาม

ในวันที่อายุของป้ากุ้งเข้าสู่ตัวเลข 71 แล้ว แต่ยังมีประเด็นสาธารณะต้องผลักดัน ต้องออกมาเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้สูงอายุทั้งประเทศ อดถามไม่ได้ว่าป้ากุ้งเหนื่อยหรือเปล่า

“ตลอดชีวิตที่ผ่านมาส่วนใหญ่อยู่กับการผลักดันให้จริงจัง มีบทเรียนว่าถ้าเราไม่เอาจริงเอาจัง เราจะไม่ได้ ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม เดี๋ยวนี้เราร่วงโรย เราแก่ พยายามพักผ่อนให้มาก เมื่อก่อน 2-3 ทุ่มยังตะลอนไปดูคนงานโรงงานต่างๆ ตอนนี้ป้ากุ้งงดกิจกรรมเหล่านั้นหมด

“สมัยนี้ใช้โทรศัพท์ไปถาม เราร่วงโรยแต่ใจยังใช้ได้อยู่ วันก่อนไปนั่งใต้ถุนกระทรวง พม. เอาโทรโข่งมาพูดใส่รองปลัดตรงนั้น เสียงยังพอใช้ได้อยู่ น้องๆเขาแซวว่าหัวหน้าม็อบเก่ายังเสียงดังอยู่ เราก็เลยบอกว่าเสียงดังกว่าเก่าเพราะหูตึง รู้ว่าการต่อรองตอนนี้มันยากขึ้น แล้วหัวหน้ารัฐบาลเขาเห็นสวัสดิการตรงนี้เป็นประชานิยม สนใจน้อย แต่นี่เป็นสวัสดิการที่ยั่งยืน” ป้ากุ้ง ทิ้งท้ายสรุป

ขณะที่ “ป้าอุบล” คู่หูป้ากุ้งซึ่งทันสมัยสุดในกลุ่มป้าๆที่สามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีในการสื่อสาร ผู้ร่วมอุดมการณ์กับป้ากุ้งมาอย่างยาวนาน มิตรภาพของทั้ง 2 คนเริ่มต้นจากการเป็นสาวโรงงานที่ไทยเกรียงเหมือนกัน

ป้าอุบล อยู่กับประเด็นสาธารณะมานาน ทำให้การเรียกร้องเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ กับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มี “คนใน” ที่ไว้ใจได้คอยส่งความเคลื่อนไหว

“การประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เลื่อนไปประชุมในวันที่ 30 เมษายนนี้ โดยจะเป็นการประชุมทางออนไลน์แทน เขาให้เหตุผลว่ากลัวจะมีคนไปแทรกแซง ป้าเลยถามเขาว่าเรื่องการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท มีการพูดถึงหรือเปล่า เขาตอบว่าไม่มั่นใจว่าจะพูดถึงไหม แต่วาระที่เด่นๆคือเรื่องเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เขาพยายามจะเอาเงินตรงนี้มาจ่ายให้ได้ก่อนสิ้นปี

“เขาพูดอย่างนี้นะคนที่ให้ข่าวมา ป้าเลยไม่มั่นใจว่าวันที่ 30 เมษายนนี้ การประชุมออนไลน์จะพูดเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุหรือเปล่า เพราะยังไม่เห็นวาระการประชุม ทางนั้นเขายังบอกอีกว่าป้าไม่ต้องมั่นใจว่าจะได้หรอกนะ ที่แน่ๆคืออาจจะไปคุยอีกทีปีใหม่ เขาว่าอย่างนี้ เป็นงบใหม่เดือนตุลาคม” ป้าอุบล เริ่มบทสนทนาด้วยความเคลื่อนไหวในที่ประชุม

ป้าอุบล วิเคราะห์ถึงการไม่ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องให้เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุว่า มันเป็นต้นทุนที่ผูกขาดและจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เขาให้แล้วจบเลย

“มันเป็นต้นทุนที่เขาขยับไม่ได้ แต่ถ้ามองอย่างป้าว่าเป็นหนี้กับเงิน 1 หมื่นบาท กับเป็นหนี้ที่ให้ความถาวรกับคนมันต่างกัน เวลาที่เขาจะอนุมัติให้เป็นสวัสดิการเขาก็บอกว่าคนจนมันเยอะ แล้วข้าวของตอนนี้แพงมากเลย ป้าก็ไม่เข้าใจรัฐบาลเหมือนกันที่เขามองว่านี่คือต้นทุนที่ขยับไม่ได้ เป็นต้นทุนถาวรของประเทศเขาพูดแบบนี้

“ถ้ามองย้อนกลับไปก็คนกลุ่มนี้ที่สร้างความถาวรให้ประเทศเหมือนกัน เพราะคนที่อยู่ในโรงงานแบบพวกป้า ถึงกำหนดเราก็ต้องเสียภาษี พวกป้ารับเงินวันละ 10-20 บาท โรงงานหักภาษีตลอด พวกเราถูกหักมาตลอด เขามองว่ามันไม่ใช่ต้นทุนที่เขาหลีกเลี่ยงได้ทำให้เขาต้องหาเงินตลอด เขาใช้คำพูดแบบนี้ ป้าคุยกับคนที่อยู่ใน พม. เขาบอกว่าเขาคุยกันแบบนี้”

ป้าอุบล เข้าไปทำงานที่ไทยเกรียงตั้งแต่ปี 2516 ตอนอายุ 17 ปี บอกเล่าถึงเงินเก็บหลังเกษียณจากการเป็นสาวฉันทนาตั้งแต่ปี 2543 ว่ามีเงินในบัญชีประมาณ 2 หมื่นบาท

“ตอนนี้ป้าไม่มีเงินที่จะเข้ามาเก็บ แต่จะบอกว่าไม่มีเงินเก็บก็ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มป้ามีออมทรัพย์ ป้าก็ออมเดือน 100-200 บาท พยายามจะเก็บไว้เพราะว่าวันข้างหน้ามันต้องมีเงินเก็บบ้าง ก็เลยว่าแผนว่าอย่างน้อยเดือนละ 100 บาทเก็บออมไว้ ก็พยายามแบบนี้มา 20 กว่าปีที่เกษียณจากโรงงาน แล้วพยายามไม่ถอนไม่กู้ออกมา เพราะนึกถึงวันข้างหน้า  

“มันก็ใช้ได้ไม่นานหรอกนะแต่อย่างน้อยมันก็ต้องมีบ้าง เป็นค่ารถไปหมอคิดแค่นี้ นี่คือที่เราพยายามผลักดัน 1,000 บาท มันยังช่วยได้มากหน่อย ถามว่าเหลือไหมมันไม่เหลือหรอก นี่เป็นประเด็นสำคัญ แต่เขาก็มองแค่เป็นต้นทุนถาวรที่รัฐบาลไม่มีทางหลีกเลี่ยง” ป้าอุบล เล่าให้ฟัง

ความคับข้องหนึ่งที่บรรดาป้าๆ ซึ่งเรียกร้องสิทธิต่างๆให้ผู้ใช้แรงงานมามากมาย แต่มาวันนี้จะผลักดันเบี้ยคนชราให้ผู้สูงอายุทั้งประเทศกลับถูกการวางเฉยไม่ให้ความสำคัญจากนักการเมือง

“รัฐบาลรุ่นนี้ไม่ใส่ใจด้วย แต่ตอนช่วงที่เขาหาเสียงกันมีนโยบายเพิ่มเงินให้เบี้ยคนชราเกือบทุกพรรค พอเข้าไปแล้วไม่มีใครพูดถึงเลย เหมือนเขาเองเงิน 1 หมื่นบาทมามอมเมาประชาชนให้มีความหวังแล้วก็มีเงื่อนไขเยอะแยะ แต่เข้าใจทุกคนนะว่าถ้าได้ 1 หมื่นบาท บ้านหลังหนึ่งมี 3 คน ได้ 3 หมื่นบาท

“เงินตรงนี้เอาไปปลดหนี้ไม่ได้ เสียค่าเติมอะไรก็ไม่ได้ เหมือนทุนซื้อทุน แล้วร้านค้าเล็กๆจะไปซื้อเครื่องมาสแกนแอพพลิเคชั่นจ่ายเงินเหรอ มันก็คงไม่ใช่มั้ง ถ้ามองจากมุมส่วนตัวป้านะ”

การเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยคนชราเป็น 1,000 บาท แบบถ้วนหน้า ป้าอุบลบอกว่ามีเป้าหมายอยากให้ระดับขั้นบันไดค่อยๆไต่ไปถึง 3,000 บาทนั้น ทางป้าๆ กลับไม่มีเงื่อนไขใดๆในการผลักดันสวัสดิการนี้ แถมยังต่อรองได้ด้วย หากต้องเพิ่มจาก 1,000 บาท ไป 2,000 บาทในปีต่อไปแล้วรัฐบาลไม่มีงบประมาณ

“มันเป็นสวัสดิการที่ถาวร วันข้างหน้าถ้ารัฐบาลไม่มีก็บอกไม่มี เราก็ยังมีทุนอยู่ 1,000-1,200 บาทก็ว่าไป บางคนนะไม่ใช่ว่าลูกเขาไม่ให้เงิน แต่ว่าลูกก็ไม่แข็งแรงทำให้พ่อแม่ไม่แข็งแรงไปด้วย บอกว่าหมอฟรี รักษาฟรี แต่ก็ต้องรอเงินค่ารถนะ นี่คือในชุมชนที่ป้าอยู่”

ป้าอุบล ตัดพ้ออีกว่า รัฐบาลมองผู้สูงอายุไม่ใช่เป้าหมายในการหาเสียง ไม่ใช่ฐานเสียง ให้คุณให้โทษไม่ได้

ในขณะที่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำซึ่งผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาลทุกปีในวันที่ 1 พฤษภาคม เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ป้าอุบลบอกว่าดีใจ ถ้ามองในฐานะคนงานแต่ว่าต้องขึ้นค่าแรงแบบถ้วนหน้า จะเลือกปฏิบัติว่าอาชีพนั้นต้องได้มากกว่าอาชีพนี้ไม่ได้ เพราะทุกคนก็ทำงานเหมือนกัน

“ป้ากุ้ง” กับ “ป้าอุบล” ในวัยที่หลายคนมีความสุขกับการได้นอนอยู่บ้านเลี้ยงหลาน แต่ทั้ง 2 ยังคงออกมาตากแดด เรียกร้องสิทธิที่สาธารณชนคนธรรมดาควรได้รับจากรัฐบาล

บางคนอาจถามว่าบรรดาป้าๆเหล่านี้ทำไมไม่อยู่เฉยๆ กับบ้านแล้วหาความสุขเล็กน้อยในครอบครัว อายุขนาดนี้จะยังเรียกร้องอะไรอีก

บางทีความสุขของป้ากุ้งกับป้าอุบล อาจเคยเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ที่ได้เห็นพวกเธอเหล่าบรรดาสาวโรงงานได้สิทธิประโยชน์หรือเงินชดเชยกลับมาบ้าง มันเป็นความปลื้มปีติเล็กๆภายในก้นบึ้งหัวใจที่หาคำมาบรรยายได้ยากยิ่ง

2 ป้าคือร่มเงาของสาวฉันทนามาโดยตลอดแม้จะเกษียณแล้ว และยังเป็นผู้คุ้มครอง-คุ้มภัย จากสิทธิต่างๆที่ได้เคยเรียกร้องไว้ให้กับคนรุ่นหลัง

อดีตการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แรงงานกลุ่มต่างๆ สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ก็มีผลงานไว้ให้แรงงานรุ่นใหม่ได้อานิสงส์มากมาย แต่ในวันที่ป้าๆอยู่ในวัยไม้ไกล้ฝั่งและผลักดันสิทธิประโยชน์ให้ผู้สูงอายุเพื่อให้ตัวเองได้อานิสงส์ด้วย แต่ทำไมช่วงดูยากเย็นเหลือเกิน

On Key

Related Posts

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →

แหล่งอาชญากรรมริมเมยป่วนหลังถูกกดดันหนัก มาเฟียจีนพล่าน-ชักไม่มั่นใจกองกำลังกะเหรี่ยงเทา เตรียมฉวยจังหวะช่วงตรุษจีนกลับประเทศ แนะรัฐสบช่องเก็บข้อมูลแก๊งอาชญากร

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงRead More →

ทัวร์จีนเมืองชายแดนป่วน นักท่องเที่ยวแดนมังกรหายไป 80% ผู้ประกอบการโอดกรุ๊ปทัวร์ยกเลิกแทบเหี้ยน เผยโลกโซเชียลจีนกระหึ่มหวาดกลัวหนัก เชื่อคนหายนับแสนราย ตั้งคำถามทำไมช่วยไม่ได้เหมือน “ซิงซิง”

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จาRead More →