เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงชายแดนไทยเปิดเผยว่า นายทักษิณ ชิณวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลไทย ได้ส่งตัวแทนประสานงานไปยังกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆและฝ่ายต่อต้าน SAC เพื่อหาทางออกจากสถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่า และหลังจากนั้นนายทักษิณและผู้แทนกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ได้หารือกัน 2 รอบโดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 ที่ โดยกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ประกอบด้วยตัวแทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party-KNPP)องค์การแห่งชาติคะฉิ่น Kachin National Organization (KNO) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือเอ็นยูจี (National Unity Government-NUG) ได้พบกับนายทักษิณที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นกลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทเรื่องการเจรจาสันติภาพซึ่งนำโดยสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานใต้ซึ่งมี พล.อ.เจ้ายอดศึกเป็นผู้นำ ได้เข้าพบกับนายทักษิณอีกครั้ง
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการพบปะแต่ละครั้งได้มีการหารือกันถึงสถานการณ์ในประเทศพม่าซึ่งในขณะนี้สถานการณ์สู้รบกำลังดุเดือดโดยเฉพาะด้านเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยงซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งนี้ในวงหารือต้องการให้นายทักษิณเข้ามามีบทบาทในการทางออกของสงครามระหว่าง SAC และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้าน ทั้งนี้นายทักษิณได้ให้ความสนใจ และหลังจากนั้นได้พยายามหาทางติดต่อกับผู้นำ SAC เพื่อต้องการทัศนะต่างๆ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบใดๆจาก SAC
“ท่านนายกฯทักษิณมองว่า จะยังเคลื่อนใดๆไม่ได้ หากยังไม่ได้รับสัญญาณจากผู้นำ SAC ว่าจะมีท่าทีอย่างไร หากเคลื่อนแต่ด้านกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเดียว ท้ายที่สุดโต๊ะเจรจาก็ต้องล้ม ที่น่าสนใจคือ นายกฯทักษิณไม่เห็นด้วยกับแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยฝั่งเมียวดี เพราะเป็นสิ่งที่รับไม่ได้”แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นเรื่องการเข้าพบนายทักษิณเป็นเรื่องที่ผู้นำกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ค่อนข้างระมัดระวังมาก เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นห่วงผลกระทบที่จะตามมาหากกลายเป็นประเด็นด้านการเมืองในประเทศไทย ดังนั้นจึงพยายามปิดลับเรื่องการเข้าพบนายทักษิณ
ขณะที่ สาละวินเพรส รายงานในวันเดียวกันนี้ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ของไทยได้พบกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่ม รวมถึงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และหารือถึงวิธีการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ในเมียนมา
ทั้งนี้นอกเหนือจาก KNU, RCSS/SSA, KNPP, KNO แล้วยังมี NUG โดยพบปะครั้งนี้เมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน องค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ที่กำลังต่อสู้กับSAC เกิดขึ้นในเวลาที่ SAC เผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก
โดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำทหารเมียนมา และมีวิสัยทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดีในช่วงวิกฤติ บางคนมองว่าทักษิณเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะเข้าเป็นคนกลางในกิจการเมียนมา ทักษิณเชื่อว่าแรงงานเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยรวมถึงโรงงานและอุตสาหกรรมประมงของไทย ทักษิณยังคิดที่จะอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยจากชายแดนไทยมาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย