เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 นางหนูเดือน แก้วบัวขาว ชาวบ้านหมู่ที่ 5 หนองกินเพล ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการออกโฉนดของสำนักงานที่ดินทับใบจองในพื้นที่ทำกิน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินได้มาชี้ตำแหน่งรังวัดในพื้นที่ซึ่งครอบครัวได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนให้กับกลุ่มนายทุนที่อ้างว่ามีโฉนด ซึ่งทำให้นายวิทยา(สามี)และตนถูกข่มขู่คุกคามจากกลุ่มนายทุนที่นำรถแม็คโครมาขุดทำลายต้นไม้ในที่ดินทำกิน
“หลังจากนั้นวันที่ 18 พฤษภาคม พวกนายทุนยังจ้างให้รถแม็คโครมาขนต้นไม้ของเราทั้งหมดออกไป โดยเนื้อที่ตรงนั้นประมาณ 2 ไร่ ไม่เหลือต้นไม้ใดๆแล้ว คนที่จ้างรถมาขุดก็เป็นหลานของผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ที่มีที่ดินอยู่ติดกัน โดยนายทุนพยายามจะทำให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ หลังไปฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลว่านายวิทยา ปิดทางสาธารณะประโยชน์ จริงๆแล้วมันไม่มีทางสาธารณะประโยชน์ในที่ดินของเรา สำนักงานที่ดินก็สรุปตามคำสั่งศาลปกครองแล้วว่ามีแต่โฉนดของคนอื่นที่ทับซ้อนกัน ปัญหาคือผู้ใหญ่บ้านเป็นนายหน้าให้กับนายทุนด้วยเขากำลังทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดทาง เมื่อก่อนก็เคยต่อสู้เรื่องที่ดินร่วมกับเราแต่เขาแพ้คดีแล้วถอยออกไป ก็คุยกันแล้วว่านั่นเป็นสิทธิของเขาแต่ที่เราสู้มันก็เรื่องก็เรา แต่ไม่ควรมาทำแบบนี้ เขาก็บอกแต่ว่ามีโฉนดไหม พูดแบบนายทุน” นางหนูเดือน กล่าว
นางหนูเดือน ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของที่ดินทำกินซึ่งถูกโฉนดทับซ้อนนั้น ทางนายทุนได้นำรถไถมาไถกลบดินเข้าหากันเกิดรอยทางขึ้นซึ่งสำนักงานที่ดินนอกจากจะไม่ห้ามให้ใครเข้ามาทำประโยชน์แล้วยังไปชี้ให้รถมาขุดอีกด้วย
“บุคคลที่อ้างว่ามีโฉนดไม่ให้เราเข้าไปดู ไม่บอกอะไรเราเลย วันนั้น 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประมาณบ่าย 3 โมง ก็มีคนมายิงปืนหลายนัดใกล้กับเถียงนาห่างที่ดินเราประมาณ 200 เมตร ก็มีทั้งข่มขู่ด้วยการเอารถแม็คโครมาขุดและยิงปืน” นางหนูเดือนกล่าว
ทั้งนี้ ข้อพิพาทในที่ดินซึ่งชาวบ้านได้ฟ้องศาลตั้งแต่ปี 2549 และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อปี 2558 ให้ตรวจสอบที่ดินที่มีการออกโฉนดให้แก่บุคคลอื่นทับที่ดินของชาวบ้าน แต่กรมที่ดิน โดยเจ้าพนักงานที่ดิน จ.อุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่แจ้งว่าใบจองเลขที่ 184 ที่ฟ้องกันมานานกว่า 10 ปี ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ฟ้องและไม่มีใบจองอยู่จริง
นางหนูเดือน กล่าวว่า คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย ได้ประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ทำการสอบสวนเรื่องร้องเรียนให้ตั้งมาตรา 61 แล้วให้จังหวัดแจ้งผู้ที่มีชื่อในเอกสารสิทธิทุกแปลงให้ยุติการดำเนินการใดๆในพื้นที่ หลังจากถูกกลุ่มนายทุนคุกคามข่มขู่จึงได้เดินทางไปยังสำนักงานที่ดินสาขาวารินชำราบ เพื่อนำมติที่ประชุมคณะทำงานไปสอบถามกับที่ดินว่าเหตุใดยังมีการเข้ามารื้อทำลายในที่ดินที่ครอบครัวได้ครอบครอง
โดยคณะทำงานได้มีมติในประชุมว่าให้ จ.อุบลราชธานีตรวจสอบและรวบรวมรายงาน เอกสารให้ได้ข้อเท็จจริงประกอบการตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ให้รัฐและเอกชนรายงานความคืบหน้าต่อคณะทำงาน ฯ รวมทั้งให้ จ.อุบลราชธานี แจ้งผู้ถือเอกสารสิทธิให้หยุดดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเพื่อชะลอความเดือดร้อนของชาวบ้าน
“เมื่อวันก่อน(20 พฤษภาคม) ได้ไปยังสำนักงานที่ดินสาขาวารินชำราบ เจ้าหน้าที่ไม่อยู่ สอบถามกับฝ่ายวิชาการที่ดินก็ได้รับคำตอบว่าไม่ทราบ เพราะไม่ได้เข้าประชุม จริงๆไม่จำเป็นต้องเข้าประชุมกันทุกคนแต่เจ้าพนักงานที่ดินสาขาวารินชำราบไม่มีใครทราบเรื่องมติของคณะที่ทำงานเมื่อวันที่ 4 เมษายนเลย ปัญหาคือสำนักงานที่ดิน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ยังออกไปส่องกล้องแล้วชี้ตำแหน่งที่ดินให้บุคคลที่มีโฉนดเพื่อเข้าไปทำลายทรัพย์สินของเรา เพราะถ้าที่ดินไม่ไปเขาก็จะไม่รู้ว่าตำแหน่งที่ดินของเขาอยู่บริเวณไหน ไปถามที่ดินส่วนวิชาการไม่มีใครรู้เรื่องมติที่ประชุมนี้เลย เหมือนไม่ได้ดูรายงานการประชุมและไม่ดำเนินการใดๆ” นางหนูเดือน กล่าว
นางหนูเดือน กล่าวด้วยว่า จากการโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จึงทราบว่าเพิ่งมีหนังสือจากจังหวัดไปแจ้งสาขาวารินชำราบเมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ตนไปยื่นหนังสือให้กับสำนักงานที่ดิน นอกจากนี้ยังได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรรมสิทธิมนุษยชนที่ลงพื้นที่วันนั้นด้วย
“มติคณะทำงานกระทรวงมหาดไทยออกมาเกือบ 2 เดือนแล้ว ถ้าวันนั้นเราไม่ไปยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เขาก็คงไม่ออกหนังสือจากจังหวัดไปยังสำนักงานที่ดิน จ.อุบลราชธานี สาขา อ.วารินชำราบ ก็คิดว่าหลังจากนี้ทางกลุ่มนายทุนจะไม่นำรถแม็คโครเข้ามาขุดหรือปรับพื้นที่ในที่ดินของเรา ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อปี 2548 ให้สำนักงานที่ดิน จ.อุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ตรวจสอบเอกสารสิทธิ แต่ที่ดินให้คำตอบว่าเอกสารสิทธินั้นออกโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งๆที่มีโฉนดทับซ้อนกัน 7 แปลง เป็นการรังวัดทับโฉนดแต่ไม่ได้เป็นการออกโฉนดทับใบจองที่ไปฟ้องศาล ทำให้ปัญหายืดเยื้อมาตั้งแต่ 22 ธันวาคม 2566 จนกลุ่มนายทุนเข้ามาคุกคามในพื้นที่ทำลายพืชผลทางการเกษตร ขุดหน้าดินไปขายกว่า 3ไร่ โดยเรายังอาศัยอยู่ในที่ดินตรงนั้น” นางหนูเดือนกล่าว
ด้าน นายนิกร วีสเพ็ญ ทนายความ กล่าวว่า กรณีที่นางหนูเดือนถูกคุกคาม และเจ้าพนักงานที่ดินยืนยันว่าโฉนดที่ทับที่ดินชาวบ้านนั้นออกโดยชอบด้วยกฎหมาย นางหนูเดือนต้องฟ้องเพิกถอนโฉนดทุกแปลง รวมถึงฟ้องอธิบดีกรมที่ดินให้เพิกถอนโฉนดตามมาตรา 61
“แต่ว่าคุณหนูเดือนยังไม่ฟ้องเขา เพราะฉะนั้นคนที่เข้าไปรุกที่ก็อ้างสิทธิในที่ดินของเขาว่ามีโฉนด เคยไปแจ้งความไว้แล้วแต่ตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน เพราะคนที่มีโฉนดคิดว่าเขาเป็นเจ้าของที่ดิน เขาก็มีสิทธิอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือฟ้องเพิกถอนโฉนดตามคำสั่งศาลปกครอง” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวด้วยว่า กรมที่ดินตกเป็นจำเลยในคดีศาลปกครอง จำเลยจะฟ้องตัวจำเลยเพื่อเพิกถอนที่ดินเป็นไปไม่ได้ ต้องให้นายวิทยา เป็นคนฟ้องเพิกถอนโฉนดออกโดยไม่ชอบ ออกไปทับที่ใบจองของนายวิทยา
“เรื่องใบจองศาลปกครองก็พูดถึงอยู่แล้ว ศาลให้หลักไว้ว่าถ้าใบจองยังไม่ยกเลิกการออกโฉนดทับใบจองถือว่าเป็นการออกโฉนดโดยไม่ชอบอยู่แล้ว ผลของใบจองก็ยังมีผลอยู่ โฉนดแปลงใดที่ออกทับที่ดินจองนายวิทยา โฉนดแปลงนั้นน่าจะออกโดยมิชอบ ซึ่งก็มีระยะเวลาในการฟ้องผมจำไม่ได้แน่นอนว่าต้องฟ้องภายในเวลาเท่าไร” นายนิกร กล่าว
————