เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า องค์กรที่เคลื่อนไหวปฏิวัติการเมืองในพม่าและองค์กรภาคสังคมในพม่า 195 องค์กรได้เรียกร้องให้ผู้นำกองทัพอาระกัน (Arakan Army – AA) ซึ่งขณะนี้สามารถยึดครองเมืองกว่าครึ่งในรัฐอาระกันหรือรัฐยะไข่ได้แล้ว ให้ปกป้องพลเรือนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่ากองทัพอาระกันได้เผาบ้านของชาวโรฮิงญา ในเมืองบูทีดองและข่มเหงชุมชนในพื้นที่ในช่วงที่บุกยึดเมืองได้สำเร็จ
ในแถลงการณ์ของกลุ่มที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่22 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีใจความสำคัญระบุว่า แม้ทางผู้นำของกองทัพอาระกันได้ให้สัญญาว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมหรือการจับกุมชาวโรฮิงญา แต่ขณะนี้พบว่าทหารของกองทัพอาระกันกำลังละเมิดสัญญาดังกล่าวในพื้นที่
ทั้งนี้ในแถลงการณ์อ้างว่า มีรายงานการสังหารหมู่ การจับกุม และการสังหารชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านตั่นเจ้าก์เค และหมู่บ้านยวดหน่วยเต่าว์ ในเมืองบูทีดอง และที่หมู่บ้านตะเยโต้ก ทางตอนเหนือของเมืองมงดอว์ ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม โดยกองทัพอาระกันยังเผาและทำลายบ้านเรือนของพลเรือนชาวโรฮิงญาในเมืองบูทีดอง ในคืนวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยองค์กรต่างๆระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นถือเป็นอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ขณะที่กองทัพอาระกันสามารถยึดเมืองบูทีดองได้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากยึดฐานทัพพม่าที่เหลือในเมืองดังกล่าวได้ ถือเป็นชัยชนะล่าสุดเหนือกองทัพพม่า อย่างไรก็ตาม กองทัพอาระกันออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าไม่เป็นความจริง โดยระบุว่า บ้านของพลเรือนชาวโรฮิงญาที่ถูกไฟไหม้นั้นเพราะถูกกองทัพพม่าโจมตีทางอากาศ ซึ่งข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นต้องการทำลายความปรองดองและความร่วมมือกันในสังคม และเป็นการโฆษณาเพื่อปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนาของรัฐบาลทหารพม่า โดยทางกลุ่มนั้นได้ปฏิบัติตามหลักการต่อสู้ของตนอย่างเคร่งครัดภายใต้หลักจรรยาบรรณของกองทัพ และไม่เคยมุ่งเป้าไปยังสิ่งที่ไม่ใช่ทางทหาร นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเหลือผู้คนอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ในแถลงการณ์ร่วม ยังเรียกร้องให้กองทัพอาระกัน ดำเนินการสอบสวนภายในเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหา และดำเนินการกับผู้กระทำความผิด หากมีการก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาจริง
ซึ่งรัฐบาลเผด็จการทหารกดขี่และได้ทรมาน ได้ทำการสังหาร การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อชาวโรฮิงญามาโดยตลอด ปัจจุบันภายใต้กฎหมายการเกณฑ์ทหารที่ประกาศใช้เมื่อเร็วๆนี้ กองทัพพม่าได้ใช้กำลังลักพาตัวชาวโรฮิงญาและส่งพวกเขาไปยังสนามรบแนวหน้า และใช้เป็นโล่มนุษย์ รวมถึงใช้เป็นทหารเพื่อสร้างความรุนแรงในนามของพวกเขา รวมถึงการเผาบ้านเรือนของชาวยะไข่มากกว่า 200 หลัง ในเมืองบูทีดอง
นอกจากนี้ องค์กรที่ร่วมออกแถลงการณ์ได้ระบุว่า รัฐบาลทหารบังคับให้ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ในเมืองบูทีดองและเมืองชิตต่วย เข้าร่วมประท้วงต่อต้านกองทัพอาระกัน องค์กรเหล่านี้กล่าวหาว่ารัฐบาลพม่าส่งเสริมความเข้าใจผิดของประชาชนชาวโรฮิงญา เพื่อสร้างความขัดแย้งทางชาติพันธุ์
ทั้งนี้ มีชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศเมื่อปี 2560 หลังจากที่กองทัพพม่ากวาดล้างชาติพันธุ์โรฮิงญาอย่างโหดร้าย บรรดาผู้ที่หลบหนีกล่าวว่า ชาวโรฮิงญาตกเป็นเป้าวิสามัญฆาตกรรม ข่มขืน และบ้านเรือนถูกลอบวางเพลิงโดยกองกำลังความมั่นคงของทางการพม่า
ผู้สืบสวนของสหประชาชาติกล่าวว่า ปฏิบัติการดังกล่าวมีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา “ความปลอดภัยของทุกคนในรัฐยะไข่เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่งในช่วงระหว่างนี้ ที่การต่อสู้อันดุเดือดระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอาระกัน ชาวโรฮิงญาที่ถูกกดขี่และถูกแสวงประโยชน์จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครอง และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกครั้ง”
องค์กรภาคสังคมของพม่าระบุในแถลงการณ์เรียกร้องให้สาธารณชนรับรู้ว่า มีบางกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา เช่น กองทัพ Arakan Rohingya Salvation Army (ARSA) กองทัพ Arakan Rohingya Army (ARA) และกองทัพ Rohingya Solidarity Organization (RSO) ซึ่งกำลังร่วมมือกับรัฐบาลทหาร ไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวโรฮิงญาทั้งหมด
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.