Search

องค์กรภาคประชาชนกะเหรี่ยง-สส.ไทย-นักสิทธิ จี้รัฐไทยชะลอส่งกลับ 31 ทหารพม่าค่ายแตกแนะตรวจสอบข้อกล่าวอาชญากรสงคราม-ยกระดับมาตรฐานไทย

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เครือข่ายสันติภาพกะเหรี่ยง (Karen Peace Support Network-KPSN) ลงข้อความผ่านเฟซบุ๊กเนื้อหาว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ทหารพม่า 31 นายจากกองพันเคลื่อนที่เร็ว ที่ 557, 339 และ 311 ซึ่งประจำการอยู่ในหมู่บ้านโพซิมู อำเภอดูปลายา รัฐกะเหรี่ยง ได้หลบหนีออกจากฐาน ซึ่งทหารของ SAC (State Administration Council หรือ สภาบริหารแห่งรัฐ) ที่หลบหนีกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับการสังหารพลเรือน 4 ราย รวมถึงสตรีมีครรภ์ 5 เดือน ก่อนที่จะมุ่งหน้าต่อไปและข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย ยังหมู่บ้านเปิ่งเคลิ่ง ใน อ.อุ้มผาง จ.ตาก

“พวกเรา KPSN เรียกร้องให้ทางการไทย ไม่ส่งผู้กระทำผิดเหล่านั้นกลับไปยังทางการเมียนมาโดยไม่สอบสวนการมีส่วนร่วมในการสังหาร เพื่อที่ทหารกลุ่มนี้จะได้รับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นนี้” เครือข่ายสันติภาพกะเหรี่ยง ระบุ

ขณะที่องค์กรสตรีกะเหรี่ยง (Karen Women’s Organization-KWO) โพสต์ข้อความว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ทหารพม่า 31 นายหลบหนีเข้าประเทศไทย ทหารเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าสังหารพลเรือน 4 รายรวมทั้งสตรีมีครรภ์ด้วย ขณะนี้พวกเขาอยู่ในความดูแลของกองทัพไทย องค์กรสตรีกะเหรี่ยงจึงขอเรียกร้องให้กองทัพไทยดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นกลาง ก่อนที่จะส่งคนเหล่านี้กลับไปพม่า หากพิสูจน์ได้ว่าคนเหล่านี้ควรถูกส่งตัวไปยังหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อรับผิดชอบอาชญากรรมสงครามของพวกตน

นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.พรรคเป็นธรรม กล่าวว่าถึงกรณีที่ทหารพม่า 31 คนหนีเข้ามาฝั่งไทยและได้รับการเรียกร้องจากภาคประชาสังคมพม่าให้ดำเนินคดีทหารกลุ่มดังกล่าวเนื่องจากได้สังหารพลเรือนรวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์ ว่าสถานการณ์การสู้รบบริเวณชายแดนไทย-พม่ายังเกิดขึ้นต่อเนื่องทำให้มีทั้งทหารพม่าและกองกำลังต่างๆรวมทั้งประชาชนที่หลบหนีการสู้รบเข้ามา ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องคำนึงใน 2 มิติคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทย-เมียนมา และความสัมพันธ์ระดับพหุภาคี

นายกัณวีร์กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดรับคนที่หนีตายจากการสู้รบ ขณะเดียวกันต้องยึดมั่นในหลักการหากผู้ที่หนีภัยเข้ามาเป็น SAC ที่เป็นอาชญากรสงคราม จำเป็นต้องพิจารณาให้ดี เพราะเป็นผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจำเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทยต้องส่งกลับคนกลุ่มนี้ เพราะหากส่งกลับอาจกลายเป็นการสนับสนุนคนที่ก่ออาชญากรรมสงครามได้ เช่น การเผาบ้าน การสังหารผู้บริสุทธิ์

“การใช้อำนาจทางทหารไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้บริสุทธิ์ เขาจะไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศเพราะเป็นอาชญากรสงคราม เขาต้องได้รับการลงโทษจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายในประเทศตัวเองและกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาให้ดี” นายกัณวีร์ กล่าว

นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอทช์ (Human Rights Watch) ประจำประเทศไทยกล่าวว่า กรณีนี้เป็นการทดสอบจุดยืนของรัฐบาลไทยว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยมีเรื่องเช่นนี้มาก่อน และที่ผ่านมาใช้วิธีผลักดันหรือส่งกลับประเทศ แต่กรณีนี้มีข้อกล่าวหาว่าทหารพม่าที่เข้ามาได้ก่ออาชญากรรมสงคราม จึงมีเสียงเรียกร้องไม่ให้ส่งกลับ เพื่อให้ดำเนินคดี แต่ไทยเคยตั้งข้อสงวนไว้อาจเป็นข้ออ้างให้หลบเลี่ยงไม่ต้องทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ

“ผมเชื่อในกฎหมายระหว่างประเทศ ตรงนี้วัดใจกันเลยว่าคุณจะยืนอยู่ตรงไหน คุณจะเป็นรัฐบาลที่ร่วมมือสืบสวนในข้อหาอาชญากรรมระหว่างประเทศหรือไม่ ยิ่งคุณกำลังต้องการตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ถ้าจริงจังกับตำแหน่งนี้ก็ควรตรวจสอบกรณีนี้จริงจังด้วย” นายสุณัย กล่าว

ขณะที่นายมานพ คีรีภูวดล รองประธาน คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าปัญหาคือแม้ประเทศไทยเป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่เราไม่ได้ลงนามหรือให้สัตยาบันในกรณีนี้ อย่างไรก็ตามหากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะเป็นการกระทำต่อพลเรือนโดยเฉพาะผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ รัฐบาลก็ควรหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อทำให้เห็นว่าปฏิบัติการของทหารพม่ากลุ่มนี้ไม่อาจยอมรับได้

On Key

Related Posts

ผวาเหมืองทองเกลื่อนน้ำกก กองกำลังว้าจับมือจีนขุดแร่ทำลำน้ำขุ่น ชาวท่าตอนผวาเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลไทยปกป้อง หวั่นสารพิษปนเปื้อนลงสายน้ำแหล่งประปาของคนเชียงราย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 น.ส.หอม ผู้ประสานงานมูลRead More →

เพลงชาติกะเหรี่ยงดังกระหึ่มแม่น้ำสาละวินหลังปลอดทหารพม่าในรอบกว่า 20 ปี ชาวบ้าน 2 ฝั่งแดนร่วมจัดงานวันหยุดเขื่อนคึกคักหลังพื้นที่ปลอดทหารพม่า “ครูตี๋”ใช้บทเรียนแม่น้ำโขงถูกทำลายปางตายแนะชุมชนสู้

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่บริเวณหาดทรายริมแม่นRead More →