เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 มีรายงานข่าวว่า เครื่องบินรบของกองทัพพม่าซึ่งบินขึ้นจากฐานบินเอลา กรุงเนปิดอ ได้ปฏิบัติการทิ้งระเบิดโจมตีกองกำลังฝ่ายต่อต้านซึ่งประกอบด้วยกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) แห่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) ห่างจากชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก 10 กม. แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหาย
รายงานข่าวแจ้งว่า การสู้รบในพื้นที่เพื่อแย่งชิงถนนสายเอเชีย AH1 ช่วงเมืองกอกะเร็กยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพพม่าได้ส่งกองกำลังเสริมจำนวนหลายร้อยนายเพื่อเข้าไปยังเมืองเมียวดี แต่ถูกสกัดกั้นจากกองกำลังฝ่ายต่อต้าน อย่างไรก็ตามล่าสุดกองทัพพม่าได้รับความช่วยเหลือจากกองกำลัง BGF ของ พ.อ.ชิตู ทยอยนำทหารพม่าเข้าไปยังเมืองเมียวดีโดยใช้เส้นทางที่ BGF ควบคุมอยู่ผ่านพื้นที่ชเวก๊กโก โดยยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่าคือต้องการรักษาเมืองเมียวดีไว้ให้ได้ แม้บริเวณโดยรอบจะถูกควบคุมโดยกองกำลังฝ่ายต่อต้าน เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าต้องรายได้จากการเก็บภาษี
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้พื้นที่ทางตอนใต้ของเมืองเมียวดีตั้งแต่ฝั่งตรงข้าม อ.อุ้มผาง จ.ตากไปจนถึงฝั่งตรงข้ามด่านเจดีย์สามองค์ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของ KNU กองพล 6 เกือบหมดแล้ว
ส่วนกรณีที่ทหารพม่า 31 รายที่หลบหนีข้ามมายังฝั่งไทยหลังจากฐานที่มั่นบริเวณตรงข้าม อ.อุ้มผางถูกตีแตก ล่าสุดทหารไทยได้ส่งทหารกลุ่มนี้ซึ่งมี 33 คนเนื่องจากมีการหนีเพิ่มเติมข้ามมาอีก 2 คน กลับไปยังฝั่งเมืองเมียวดีแล้วโดยไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ แต่เป็นข้อตกลงกันทางทหารระหว่างผู้นำกองทัพไทยและกองทัพพม่า

ทั้งนี้เมื่อกว่า 1 สัปดาห์ก่อน ทหารพม่า 31 คน จากค่ายโพชิมือซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักจนต้องถอนกำลังหนีออกจากค่ายกองบังคับการควบคุมยุทธการที่ 13 ค่ายโพชิมือ ตรงข้ามบ้านเปิงเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ได้หนีเข้ามายังฝั่งประเทศไทยและอยู่ในความดูแลของทหารไทยและทหารพม่ากลุ่มนี้ถูกนำตัวมายังพื้นที่ด้านความมั่นคงแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอดและทหารไทยเตรียมส่งกลับคืนให้กองทัพพม่าแต่ถูกคัดค้านจากองค์กรภาคประชาชนหลายแห่งเนื่องจากทหารพม่ากลุ่มนี้ได้ฆ่าพลเรือนรวมถึงผู้หญิงท้อง จึงมีข้อเรียกร้องให้ดำเนินคดีฐานเป็นอาชญากรสงคราม อย่างไรก็ตามไม่มีคำตอบใดๆจากกองทัพไทยและในที่สุดได้มีการส่งกลับทหารพม่ากลุ่มนี้คืน SAC
ด้านสำนักข่าวออนไลน์พม่า Khit Thit Media รานยงานว่า พล.ท. ต่า มลา ซอ ผู้บัญชาการยุทธวิธีของ KNLAให้สัมภาษณ์ว่าการยึดฐานบัญชาการ ติ่นงาหยี่ หน่อง ของสภาบริหารแห่งรัฐพม่า (SAC) เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จของการปฏิวัติกะเหรี่ยง โดยสามารถยึดปืนใหญ่ 2 กระบอก 122 มม. เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ โดยฐานยุทธการดังกล่าวตั้งอยู่บนถนนสายเอเชีย ซึ่งมีความสำคัญเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะมองด้านทางการเมืองหรือในเชิงเศรษฐกิจ นับได้ว่ามีความเสียหายมากจากมุมมองทางทหาร
ผู้บัญชาการกะเหรี่ยงกล่าวว่า ฐานทัพบัญชาการองสภาบริหารแห่งรัฐพม่าบนถนนสายเอเชียถูกโจมตีและยึดได้นั้นเป็นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกองทัพพม่า เรียกได้ว่าคือชีวิตและความตาย จึงพบว่ารองผู้บัญชาการพม่านายพลโซวิน ต้องมาสั่งการที่ฐานบัญชาการมะละแหม่งด้วยตัวเอง
“ขณะนี้สภาทหารพม่ากำลังเล่นครามจิตวิทยาอย่างต่อเนื่อง สร้างข่าวและเรื่องราวสมรู้ร่วมคิดที่หลากหลายเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้สนับสนุนการปฏิวัติของพวกเขา” พลโท ต่า มลา ซอ กล่าว
ผบ.กะเหรี่ยงกล่าวอีกว่าต้องเรียนรู้จาก 2 ศึกที่สูญหายไปในประวัติศาสตร์การปฏิวัติกะเหรี่ยง ในยุทธการเจดีย์สามองค์เมื่อปี พ.ศ. 2531 ความตึงเครียดระหว่างพันธมิตรในเรื่องข้อพิพาทเรื่องดินแดน จนต้องจับอาวุธ และในที่สุดเจดีย์สามองค์ก็ตกไปอยู่ในมือของศัตรู เช่นเดียวกับในยุทธการเมธอว์ พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นการยึดฐานที่อยู่บนชายแดน
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสภาทหารพม่ากำลังขวัญเสีย แต่ด้วยอาวุธและทรัพยากร สภาทหารพม่าจึงวางแผนที่จะทำสงครามระยะยาว ทำลายกำลังและอาวุธของกองกำลังปฏิวัติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สงครามบนถนนสายเอเชียจะเรียนรู้จากการต่อสู้ในอดีตและไม่ทำผิดพลาดอีก” ผบ.กะเหรี่ยงกล่าว
หมายเหตุ ภาพจากแฟ้มภาพ