เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุม CU Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่าย จัดงานเสวนาทางวิชาการ “สู่การดูแลทะเลร่วมกันอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” เพื่อสะท้อนข้อกังวลของภาควิชาการ ภาคประชาชน กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม ต่อการแก้ไขกฎหมายการประมง
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง กล่าวว่า นี้กล่าวร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มี 8 กลุ่มได้แก่ 1.การผ่อนปรนบทลงโทษเชิงป้องกันที่ถูกออกแบบเพื่อขัดขวางการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม 2.การรื้อฟื้นการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล 3.การรื้อฟื้นการเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเล 4.การลดทอนกลไกการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง 5.การลดทอนกลไกเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงาน 6.ลดทอนการควบคุมเครื่องมือประมงทำลายล้าง 7.ผ่อนคลายกฎระเบียบที่คุ้มครองสัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ และ 8.ความพยายามกีดกันทางการค้าด้วยข้อกำหนดการนำเข้าและกำแพงการค้า
“การแก้ไขกฎหมายประมงฉบับนี้จะไม่นำประเทศไทยกลับไปสู่การเป็นเจ้าสมุทร แต่เป็นการถดถอยของประมงไทยที่ทำลายความยั่งยืนทางทะเล และเสี่ยงกระทบกับเศรษฐกิจ”สมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุ
ดร.อดิศร พร้อมเทพ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และอดีตอธิบดีกรมประมง กล่าวว่าการแก้ไขกฎหมายเป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่ที่กำลังจะแก้ไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน ตนจึงมีคำถามว่าแก้ไปทำไม แก้ไปเพื่อใคร ตนไม่เห็นมีใครได้ประโยชน์ใดๆ จากการแก้ไขครั้งนี้ แม้กระทั่งประมงพาณิชย์ นอกจากนี้การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้มีหลายมาตราที่ดูแล้วขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศ

“เราอยากเป็นเบอร์หนึ่งของโลก เราส่งออกทูน่ากระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลกมานานแล้ว การแก้ไขกฎหมายที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมแบบนี้ มันจะกระทบต่อเศรษฐกิจไปอีกหลายเรื่อง” ดร.อดิศร กล่าวและว่ารัฐบาลกำลังทำให้กฎหมายฉบับนี้ลุกลามกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมทูน่าต่อภาคการผลิตและสินค้าส่งออกอื่นๆ
ดร.พฤษา สิงหะพล มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) กล่าวว่าประเด็นผลกระทบต่อ FTA หรือเขตการค้าเสรี ที่ไทยพยายามเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป โดยภายใต้เงื่อนไขการเจรจา FTA ระหว่างไทยและสหภาพยุโรปการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกกำหนดไว้ แม้สหภาพยุโรปจะไม่ใช่คู่ค้ารายใหญ่ในอุตสาหกรรมประมง ที่ถือครองสัดส่วนการส่งออกอาหารทะเลไม่ถึง 5% แต่ประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และเกาหลีใต้ ที่ถือครองสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่า 60% ประเทศเหล่านี้ล้วนมีทิศทางในการกำหนดมาตรการการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากไทย ไปในรูปแบบทิศทางเดียวกันกับสหภาพยุโรป คือการเพิ่มความโปร่งใส และปฏิเสธสินค้าที่เกิดจากการละเมิดสิทธิแรงงาน
ขณะที่ ดร.กฤษฏา บุญชัย เลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่ากฎหมายประมงที่กำลังปรับปรุงแก้ไขเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ทะเลอย่างทำลายล้าง เช่น ความพยายามลดทอนเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ที่มีการถอนคำว่าอวนลากออก ถ้าเราใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างเราอาจจะคิดว่าประมงพื้นบ้านเสียประโยชน์ และประมงพาณิชย์ได้ประโยชน์ แต่จริงๆ มันคือการสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย
นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการประมงยั่งยืนเป็นแค่เรื่องวาทกรรม ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดไม่เคยคิดที่จะออกกฎหมายที่สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว หนำซ้ำยังมีความทำลายประมงพื้นบ้านที่มองว่าไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ วันนี้เครื่องมือประมงพาณิชย์ยังคงทำประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งอยู่ แต่ในอนาคตถ้าคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็น่าตกใจถ้าเครื่องมือประมงทำลายล้างพวกนี้ถูกอนุญาตโดยกรมประมงประจำจังหวัด หรืออนุญาตให้ทำประมงในเขตประมงชายฝั่งตามร่างพ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่เครื่องมือประมงพื้นบ้าน ก็คงต้องสิ้นอาชีพกัน
“ผมเอาชีวิตต่อสู้กับการทำประมงทำลายล้าง เอาชีวิตของเราเป็นเดิมพัน แต่พรรคการเมืองไม่ได้ฟังเสียงประมงพื้นบ้านเลย คุณกำลังไปฟังสิ่งที่เป็นทุนนิยมล้าหลัง เราจะเป็นเจ้าสมุทร แต่คุณฟังผิดด้าน คุณไม่ได้ดูหลักสากล การทำประมงยั่งยืน เราพึ่งพาใครไม่ได้ในกรรมาธิการแม้แต่คนเดียว อีกไม่นานเราจะเห็นการลดลงของสัตว์น้ำวัยอ่อนและการล่มสลายของประมงพื้นบ้าน ”นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงฯระบุ
ด้าน เพ็ญพิชา จรรย์โกมล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าว่า เป็นห่วงถึงเรื่องการละเมิดสิทธิของแรงงานประมงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารูปแบบของการละเมิดจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบการค้าทาสสมัยใหม่มีการยึดหน่วงเอกสารประจำตัว รูปแบบการจ่ายค่าจ้างที่ซับซ้อน การสร้างภาระหนี้สินให้กับแรงงาน ตลอดถึงการเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตขณะทำงาน กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มองแรงงานเป็นหนึ่งในนั้นโดยการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้มีความพยายามนำเรื่องของแรงงานแยกออกไป