ความคืบหน้ากรณีทีมีชายแต่งกายชุดดำคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐองค์กรหนึ่งจำนวน 3 คนบุกเข้าไปในไร่หมุนเวียนของชาวบ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และได้ทำลายทรัพย์สินในไร่หมุนเวียน เช่น ถ้วย ชาม จอบ เสียม ถังเก็บน้ำ รวมทั้งปล่อยน้ำออกจากถึงสำรองซึ่งชาวบ้านเก็บไว้ดับไฟป่าจนหมด ที่สำคัญยังจงใจทำลาย “จื่อ ลอ มวา ข่อ” (พื้นที่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในไร่หมุนเวียน)ซึ่งเป็นจุดปักหมุดเรียกฝนจากเทพแห่งฝน 

เมื่อวันที่ 7 มิถุนาย 2567 นายดวงดี ศิริ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านห้วยหินลาด ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ให้สัมภาษณ์ว่า นายฐากูร ยะแสง สส.พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลและแจ้งว่าจะนำเรื่องนี้ไปพูดในสภาผู้แทนฯและผลักดันให้ระดับนโยบายเข้ามาแก้ปัญหา ขณะที่ชาวบ้านได้หารือกันและเห็นว่าจะทำหนังสือยื่นไปที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2(เชียงราย)เพื่อให้ผู้กระทำผิดขอโทษชาวบ้านและไม่ทำนิสัยเช่นนี้อีก และเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะชาวบ้านอยากรู้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ทำลายข้าวของและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านไปเพื่ออะไร 

“ทราบว่าทั้ง 3 คนเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้และลูกจ้าง พวกเราไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไรถึงทำเช่นนี้ ชาวบ้านไม่เคยมีปัญหาอะไรกับพวกเขาเลย ไร่หมุนเวียนผืนนี้ก็เป็นไร่ดั้งเดิมทำกันมา 4 ชั่วอายุคนแล้ว ที่ผ่านมาทางป่าไม้ก็บอกจะกันพื้นที่ให้และมีการสำรวจทำแผนที่กันแล้ว เราจึงไม่รู้ว่าเขามีแรงจูงใจอะไรที่ทำเช่นนี้”นายดวงดีกล่าว

ผู้ใหญ่บ้านห้วยหินลาดกล่าวว่า “จื่อ ลอ มวา ข่อ”คือก่อนทำไร่หมุนเวียนหรือหยอดข้าว จะให้ผู้หญิงและผู้ชาย 1 คู่ทำหน้าที่ปักและหยอดในพื้นที่สี่เหลี่ยม เมื่อหยอดเสร็จก็ใช้กระบอกไม้ไผ่เป็นสัญญลักษณ์ปักลงไปเพื่ออธิษฐานขอให้ฟ้าฝนตกลงมาด้วยความอุดมสมบูรณ์ แต่วันเกิดเหตุหลังจากทำพิธีปักกระบอกไปตอนบ่าย เจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวได้มาดึงออกถือว่าเป็นการลบหลู่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์นี้

ทั้งนี้บ้านห้วยหินลาดในเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมกลางหุบเขาชาวบ้านเป็นปกาเกอะญอ ก่อนที่จะถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปูนน้อย ป่าแม่ปูนหลวงและป่าห้วยโป่งเหม็น อย่างไรก็ตามหมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาของคนกับป่าโดยเฉพาะการทำการเกษตรที่พึ่งพิงอยู่กับป่าและกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สำคัญของภาคเหนือ โดยได้รับรางวัลต่างๆมากมายซึ่งผู้นำชุมชนคือพะตีปรีชา ศิริ ได้รับรางวัลจากสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อทเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ หรือ United Nations Forest Hero Award ในปี 2556

————

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.