ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุ การแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาต้องไปไกลกว่าฉันทามติ 5 ข้อของประเทศอาเซียนซึ่งล้มเหลวในการยุติความรุนแรงและไม่อาจฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยได้ พร้อมย้ำว่าหลังรัฐประหารเมียนมาปี 2021 มีผู้เสียชีวิตด้วยน้ำมือกองทัพพม่าราว 5,280 ราย ทั้งยังเกิดเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงหลายเรื่อง ทั้งการใช้โดรนทิ้งระเบิดโจมตีไม่เลือกเป้าหมาย การบังคับเกณฑ์ทหาร การซ้อมทรมาน การละเมิดทางเพศ และการสังหารหมู่
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) เผยแพร่รายงานการประชุมตัวแทนประเทศภาคีด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกซึ่งจัดขึ้นกลางเดือนมิถุนายน 2024 รวมถึงข้อเสนอแนะและท้วงติงจาก โวลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งระบุว่าสถานการณ์ในเมียนมากำลังเข้าขั้นวิกฤติ ประชาคมโลกควรตระหนักว่าการยุติความขัดแย้งรุนแรงในเมียนมาจำต้องใช้มาตรการที่จริงจัง ต้องการความสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจอื่นๆ นอกเหนือจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และต้องเปิดให้ประชาชนเมียนมามีส่วนร่วมในการผลักดันแนวทางแก้ปัญหาเพื่อที่คนทุกกลุ่มจะสามารถยอมรับได้
ทั้งนี้ ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ประกอบด้วย 1) จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที 2) ต้องเริ่มต้นการเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกอย่างสันติ 3) ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจา 4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA) และ 5) ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ในระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา การผลักดันแนวทางตามฉันทามติ 5 ข้อไม่เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับการใช้กำลังรุนแรงต่อพลเรือนของกองทัพพม่าก็ไม่ยุติลง แต่กลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ข้าหลวงใหญ่ฯ โวลเคอร์ เติร์ก ระบุว่า ไม่ควรมีใครถูกบังคับส่งตัวกลับเมียนมาในช่วงเวลานี้เป็นอันขาด เพราะรัฐบาลทหารพม่าซึ่งไร้ความชอบธรรมหลังก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2021 พ่ายแพ้ศึกหลายครั้งในการต่อสู้กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทั่วประเทศช่วงปีที่ผ่านมา จึงหันไปใช้วิธีการรุนแรงยิ่งกว่าเดิมตอบโต้กลุ่มต่อต้าน จนผิดหลักการสงครามสากลที่ห้ามทำร้ายพลเรือน โดยมีหลักฐานบ่งชี้ว่ากองทัพพม่าใช้โดรนทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศทำลายโรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่สำคัญทางศาสนา ตลอดจนพื้นที่อาศัยของชุมชน ทั้งยังมีการใช้อาวุธปราบปรามประชาชนฝ่ายต่อต้านจนมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 5,280 คน รวมถึงเด็ก 667 คน และผู้หญิง 1,022 คน ทั้งยังมีผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDP) เพิ่มราว 3 ล้านคน และผู้ถูกจับกุมอีกราว 26,865 คน
ด้วยเหตุนี้ ข้าหลวงใหญ่ฯ จึงระบุว่าควรสนับสนุนให้เครือข่ายภาคพลเมืองและคนรุ่นใหม่ทั่วเมียนมาเข้าร่วมในกระบวนการเจรจาหาแนวทางยุติความขัดแย้ง เพราะคนกลุ่มนี้คือความหวังที่อาจนำไปสู่ระบอบการปกครองรูปแบบใหม่ในเมียนมาได้ เพราะจะเริ่มจากผู้คนที่เป็นฐานราก ไม่ใช่การปกครองจากบนลงล่าง เพราะที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วเมียนมาได้กลายเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและการก่อเหตุรุนแรงของกองทัพพม่า ถ้ามีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังและเป็นระบบในอนาคตจะช่วยให้การบริหารจัดการและการกำกับดูแลหรือถ่วงดุลอำนาจเป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาลและรับฟังเสียงประชาชนมากขึ้น
ในวงประชุม UNHRC ยังมีคำเตือนถึงประเทศภาคีสหประชาชาติอื่นๆ ให้เข้มงวดและจริงจังเรื่องการระงับความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์หรือปฏิบัติการฝึกซ้อมรบร่วมกับกองทัพพม่า เพราะอาวุธและความช่วยเหลือเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ตัวแทนประเทศภาคีบางส่วนแย้งว่าต้องยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในและต้องเคารพในอำนาจอธิปไตยอย่างเท่าเทียมจึงจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาได้ และมีผู้ที่แย้งว่าประเทศที่เป็นต้นทางความขัดแย้งไม่เปิดรับกระบวนการเจรจาที่กล่าวมา จึงต้องพยายามผลักดันแนวทางอื่นๆ ที่ประเทศต้นทางจะสามารถยอมรับได้ด้วย
ส่วนพื้นที่ที่น่ากังวลมากที่สุดในเมียนมาขณะนี้คือรัฐยะไข่ ซึ่งช่วงปี 2016-2017 เคยเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวโรฮิงญาโดยกองทัพพม่ามาแล้ว เมื่อเกิดความขัดแย้งระลอกใหม่หลังการรัฐประหารปี 2021 ชะตากรรมของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่จึงเลวร้ายหนักกว่าเดิม พบการบังคับเกณฑ์ชาวโรฮิงญาทั้งจากฝั่งกองทัพพม่าและฝั่งกองทัพอาระกัน (Arakan Army หรือ AA) หนึ่งในกลุ่มติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ที่จับอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ทำให้ชาวโรฮิงญาถูกกดดันและตกเป็นเป้าโจมตีจากทั้งสองฝ่าย โดยมีรายงานว่าชาวโรฮิงญาถูกฆ่าตัดคอ ถูกซ้อมทรมาน และถูกละเมิดทางเพศเป็นจำนวนมาก
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่หนีภัยข้ามแดนไปยังบังกลาเทศเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาระลอกแรกที่ข้ามฝั่งไปตั้งแต่ปี 2017 และปัจจุบันยังต้องอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดน จึงต้องเผชิญกับปัญหาความแออัดและไม่สามารถกระจายความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึงจนเกิดปัญหาสุขภาวะด้านต่างๆ ตามมา
หลังการประชุม UNHRC ที่นครเจนีวาจบลง กระทรวงการต่างประเทศของไทยรายงานว่า มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีโอกาสหารือกับ ตาน ส่วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ระหว่างเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 19 ที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2024 แต่ไม่มีการระบุรายละเอียดว่าการพบปะครั้งนี้เกี่ยวพันกับเรื่องอะไรบ้าง
อ้างอิง:
—————-