Search

จับสัญญาณจีนต้อนรับ เต็ง เส่ง แต่มินอ่องหล่ายไม่เคยได้เยือน

ภาพจาก The New Light of Myanmar

เต็ง เส่ง อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ได้รับเชิญไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการในวาระครบรอบ 70 ปี ‘หลักปัญจศีล’ ซึ่งจีนยึดเป็นหนึ่งในแนวทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะที่ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าคนปัจจุบัน ไม่เคยได้ไปเยือนจีนเลยนับตั้งแต่ก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 จึงมีผู้ประเมินว่าจีนกำลังเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อกดดันรัฐบาลทหารพม่าเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งในเมียนมา

สำนักข่าว Global New Light of Myanmar ซึ่งเป็นสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารพม่า รายงานว่า เต็ง เส่ง อดีตประธานาธิบดีเมียนมาระหว่างปี 2011-2016 และอดีตนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2007-2011 พร้อมคณะรัฐบาลและตัวแทนองค์กรด้านความสัมพันธ์จีน-เมียนมา เดินทางไปยังประเทศจีนเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2024 

วัตถุประสงค์ในการเดินทางเยือนจีนของเต็ง เส่ง ที่ประกาศต่อสาธารณะคือการไปเข้าร่วมพิธีฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งหลักปัญจศีล หรือ หลัก 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (Five Principles of Peaceful Coexistence) ซึ่งอดีตรัฐบาลจีนลงนามรับรองร่วมกับอดีตผู้นำอินเดียและพม่าเมื่อปี 1954 และถูกยึดเป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานด้านต่างประเทศของจีนมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในปี 2021 ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลทหารพม่าคนปัจจุบัน ยังไม่เคยมีโอกาสเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ แม้จะมีความพยายามแถลงข่าวจากฝั่งรัฐบาลทหารพม่าหลายครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่ามิน อ่อง หล่าย จะเดินทางเยือนจีน แต่เหตุการณ์เหล่านั้นยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง 

ประกอบกับทางการจีนไม่เคยแสดงท่าทีไม่พอใจการลงมือของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มภราดรภาพซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าขณะปฏิบัติการ 1027 เพื่อยึดฐานที่มั่นของกองทัพพม่าในรัฐฉานเมื่อเดือนตุลาคม 2023 ทั้งยังส่งกำลังคนไปรับชาวจีนที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการฉ้อโกงและอาชญากรรมทางไซเบอร์ในพื้นที่รัฐฉานกลับประเทศจีน ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าจีนสนับสนุนปฏิบัติการดังกล่าวของฝ่ายต่อต้านเพราะจีนได้รับผลประโยชน์ในการกวาดล้างเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติไปด้วย

ขณะที่สำนักข่าวอิรวดี สื่ออิสระของเมียนมา รายงานมาตลอดว่าตัวแทนระดับสูงของรัฐบาลจีนหาทางเข้าพบอดีตผู้นำรัฐบาลทหารพม่าหลายครั้งนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2021 โดยไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็มีการเข้าพบกับอดีตประธานาธิบดี ตาน ฉ่วย และลูกสาวของนายพลอูนุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าหลังประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ แต่การพบอดีตประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ถูกจับตามองมากที่สุด เพราะเขาถูกนับเป็นผู้นำการปฏิรูปของเมียนมาคนหนึ่ง เนื่องจากสมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้เปิดทางให้พลเรือนมีส่วนร่วมร่วมในรัฐบาล จนนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยพม่า (NLD) ของอองซาน ซูจี ทั้งยังมีการสั่งระงับโครงการเขื่อนชองกลุ่มทุนจีนและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกอีกด้วย

หลังรัฐประหารปี 2021 แม้จะมีการประชุมความร่วมมือระหว่างจีนและเมียนมาเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่จีนมักจะส่งตัวแทนระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงอื่นๆ มาเข้าร่วม โดยผู้มีอำนาจระดับสูงสุดที่มิน อ่อง หล่าย ได้พบปะพูดคุยคือหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน แต่ยังไม่มีโอกาสได้พบสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ขณะที่การเดินทางเยือนจีนครั้งนี้ของ เต็ง เส่ง มีรายงานจากฝั่งจีนว่า สี จิ้นผิง จะเข้าร่วมพิธีฉลองครบรอบ 70 ปีหลักปัญจศีลด้วยเช่นกัน

ส่วน The Global Times สื่อของรัฐบาลจีน รายงานว่าการยึดหลักปัญจศีลอาจเป็นแนวทางทำให้โลกพบกับสันติภาพและความสงบสุขได้ เพราะแตกต่างจากแนวทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของโลกตะวันตกซึ่งรวมถึงการแทรกแซงกิจการในประเทศอื่น แต่ปัญจศีลคือหลัก 5 ข้อ ได้แก่ 1. การเคารพอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของแต่ละประเทศ 2. ไม่รุกรานกันและกัน 3. ไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศซึ่งกันและกัน 4. รักษาความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน และ 5. อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

ขณะที่บทวิเคราะห์ในเว็บไซต์ Fulcrum ภายใต้สังกัดสถาบันวิชาการของสิงคโปร์ที่ศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ISEAS – Yusof Ishak Institute ระบุว่ากระแสต่อต้านจีนและการพุ่งเป้าโจมตีสถานทูตจีนในเมียนมาเกิดขึ้นหลังจากการก่อรัฐประหารในปี 2021 ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนและการดำเนินธุรกิจหลายอย่างของจีนในเมียนมา ซึ่งรวมถึงการรื้อฟื้นโครงการเมกะโปรเจกต์ของกลุ่มทุนจีนในรัฐต่างๆ ของเมียนมาที่กำลังจะเกิดขึ้นในสมัยของอดีตรัฐบาลพลเรือน รัฐบาลจีนจึงมีท่าทีเย็นชาต่อมิน อ่อง หล่าย เห็นได้จากการที่เขาไม่เคยมีโอกาสเยือนจีนอย่างเป็นทางการเลยนับตั้งแต่ประกาศตัวเป็นผู้นำรัฐบาลทหารพม่าคนล่าสุด 

เมื่อเกิดปฏิบัติการ 1027 ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่านั้น จีนยังรับเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการเจรจาไกล่เกลี่ยและหาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มต่อต้าน จึงเป็นสัญญาณชัดเจนว่าจีนต้องการมีส่วนร่วมในการยุติความขัดแย้งในเมียนมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจีนด้วยเช่นกัน

อ้างอิง:

Global New Light of Myanmar, Global Times, Irrawaddy, Xinhua

On Key

Related Posts

จี้รัฐทำแผนรับมือน้ำท่วมเชียงรายหลังพบเหมืองทองต้นน้ำกก นักวิชาการหวั่นซ้ำรอยปีที่แล้ว แนะรัฐเจรจากับพม่า-กองกำลังชาติพันธุ์-เร่งตรวจสารปนเปื้อนและเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 นายสืบสกุล กิจนุกร อาจาRead More →

หวั่นภาพพจน์การท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตติดลบ หลังพบใช้แรงงานข้ามชาติอื้อแต่คุณภาพชีวิตย่ำแย่-เด็กนักเรียนกว่า 300 คนเสี่ยงหลุดจากระบบหลังสถานศึกษาถูกปิด

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ด้านนายฐิติกันต์ ฐิติพฤRead More →