เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 สำนักข่าวลาว Laotian Times รายงานว่าระบบการไฟฟ้าของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.)ลาว กำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ เนื่องจากรายงานของกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ระบุว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของลาวเพิ่มขึ้นถึง 45 % ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การผลิตไฟฟ้ายังผันผวนเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าของลาวพุ่งทะลุความต้องการสูงสุดถึง 21% ตั้งแต่ปี 2564 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7 % ในช่วงปี 2022-2024
สำนักข่าวลาวรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลของกระทรวงพลังงานฯว่า ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นโดยคาดไม่ถึงนี้มาจากการความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในอุตสาหกรรมเหมืองแร่คริปโต ซึ่งทำให้อุปสงค์การผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้วที่ไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำผลิตได้ต่ำมาก
ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ลาวต้องนำเข้าไฟฟ้าจากไทย จีน และเวียดนาม กว่า 1.7 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ขณะที่ประเทศส่งออกไฟฟ้าได้เพียง 994.8 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงไปยังกัมพูชา พม่า และไทย ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ลาวขาดดุลการค้าไฟฟ้าสุทธิ 827.8 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง นอกจากนี้ ลาวพึ่งพาพลังงานน้ำจากเขื่อนไฟฟ้ากว่า 95% ซึ่งต้องอาศัยปริมาณฝนอย่างมาก แม้ในปีที่ฝนตกมากเช่นปี 2565 การผลิตไฟฟ้าเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดภาวะภัยแล้งในปี 2566 ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนลดลงถึง 10 % เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 และคาดว่าลดลงมากกว่า 10% ในปี 2567 ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณไฟฟ้าจากเขื่อนอาจจะลดลงมากถึง 20% ขณะที่ความต้องการไฟฟ้ากลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำนักข่าวลาวระบุอีกว่าเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลลาวกำลังพิจารณามาตรการระยะสั้น รวมถึงการปรับการใช้ไฟฟ้า การเก็บภาษีการขุดคริปโตเพิ่มขึ้นเพื่อลดการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังได้วางแผนการใช้จ่ายและการอนุมัติโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วประเทศ และหาผู้ลงทุนในการโครงการเขื่อนใหม่ๆ เช่น เขื่อนน้ำงึม 3 ในระยะยาว ลาววางแผนที่จะมีการใช้แหล่งพลังงานที่หลากหลายในระบบ ด้วยการเพิ่มพลังงานจากถ่านหิน และพลังงานลมในแขวงคำม่วน สะหวันนะเขต และเซกอง รัฐบาลมุ่งหวังที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อสร้างเสถียรภาพ และมีข้อเสนอว่ารัฐบาลลาวควรเร่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อการส่งออกและแก้ไขนโยบายเพื่อให้การบริโภคไฟฟ้าภายในประเทศมีความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาสัมปทานสำหรับโครงการเขื่อนไฟฟ้าที่กำลังจะหมดอายุลง
ทั้งนี้ ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวมากที่สุด จำนวน 4,462 เมกะวัตต์ จากเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาจำนวน 10 เขื่อน และโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา 1 โรง โดยนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ไทยได้ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก 3 โครงการและลำน้ำสาขา 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเขื่อนหลวงพระบาง โครงการเขื่อนปากลาย โครงการเขื่อนปากแบง และโครงการเขื่อนเซกอง 4 เอ 4 บี มีอัตราราคาซื้อไฟเฉลี่ยที่ 2.7-2.8 บาท โดยขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กำลังเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างแผน PDP2024 จากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งในร่างแผนดังกล่าว ระบุการนำเข้าไฟฟ้าจากสปป.ลาว เพิ่มขึ้นอีก 3,500 เมกะวัตต์ ภายใน ปี 2580