เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร กองทัพภาคที่ 3 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการให้ความช่วยเหลือชาวโมร็อกโก 12 คน ที่ถูกบังคับให้ทำงานสแกมเมอร์อยู่ในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยฝั่งเมืองเมียวดี ประเทศพม่า ฝั่งตรงข้าม ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก ว่ากองทัพบกได้สั่งมาถึงหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือชาวโมร็อกโกซึ่งใช้เวลาในการประสานงานอยู่พอสมควร โดยทราบว่ามีชาวโมร็อกโกที่ต้องการความช่วยเหลือ 22 คน และช่วยมาได้แล้ว 20 คน อีก 2 คนสมัครใจทำงานต่อ โดยมีหลายส่วนช่วยกัน เมื่อข้ามมาก็ดำเนินการตามกระบวนการของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเข้าสู่กระบวนการ NRM ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีต่างชาติอื่นๆ มีติดต่อมาให้ช่วยเหลืออีกหรือไม่ พ.อ.ณัฐกรกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้รับสั่งการมา โดยผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือต้องประสานกับระดับบน คือกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) แล้วสั่งการมา ส่วนกรณีที่มีข่าวชาวศรีลังกา 40 คนถูกหลอกลวงอยู่ในแหล่งอาชญากรรมและขอความช่วยเหลือนั้น  เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลทราบว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้เดินทางผ่านประเทศไทย เพราะเมื่อประสานไปที่ ตม.แล้ว พบว่าไม่พบรายชื่อและหมายเลขพาสปอร์ต อาจจะบินมาย่างกุ้งแล้วนั่งรถมา และเช็คแล้วไม่มีมาไทยเลยไม่ว่าจะเป็นทางบกทางเรือ 

เมื่อถามถึงเส้นทางที่คนต่างชาติถูกหลอกข้ามไปฝั่งพม่า พ.อ.ณัฐกรกล่าวว่า คนเหล่านี้เข้าเมือมาถูกกฎหมาย มาทางเครื่องบิน มาทางรถ มีพาสปอร์ต บางส่วนน่าจะรู้อยู่แล้วว่าจะมาทำงาน ไม่น่าจะถูกหลอก โดยพยายามลักลอบออกไป แต่พอไปถึงทำงานไม่เหมือนที่คุยกันไว้ เห็นได้จากมีการติดต่อทางโทรศัพท์ได้ ไม่ใช่ถูกล็อกหรือมัดมือมัดเท้าติดต่อใครไม่ได้ขนาดนั้น แต่ยังติดต่อญาติได้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษวิจารณ์เรื่องชาวต่างชาติลักลอบออกไปตามช่องทางธรรมชาติ เรามีวิธีการสกัดกั้นอย่างไร ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กล่าวว่า แนวชายแดนเราไม่มีรั้ว พื้นที่สามารถเดินข้ามไปมาได้ เพราะเป็นแม่น้ำที่ไม่ลึก เป็นลำห้วย เป็นแผ่นดิน สามารถเดินข้ามได้เลย ซึ่งสภาพพื้นที่เช่นนี้เอื้อต่อกลุ่มคนที่ลักลอบ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น ส่วนใหญ่เป็นการลาดตระเวนเป็นหลัก เราวางกำลัง จุดหนึ่ง10-20 กม. ซึ่งเชื่อว่าคนเหล่านี้ก็เฝ้าดูการปฏิบัติของเราอยู่แล้ว เขาเห็นเราลาดตระเวนก็ดูช่วงเวลาที่เราไม่ได้อยู่ หรือมีงานอื่นเพราะภารกิจเราก็มีหลายอย่าง นอกจากนี้หากเราจะจับก็ต้องจับตอนที่พวกเขาอยู่บนเรือหรืออยู่กลางน้ำ ไม่สามารถจับตอนอยู่บนตลิ่งได้ เพราะเขาเข้ามาถูกกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่าบริเวณริมแม่น้ำเมยฝั่งไทยมีท่าข้ามจำนวนมาก เราเข้มงวดอย่างไรไม่ให้ชาวต่างชาติข้ามไปในแหล่งอาชญากรรม พ.อ.ณัฐกรกล่าวว่า หากผู้ที่ได้รับอนุญาตทำท่าข้ามฝ่าฝืนหรือทำความผิด ก็ถูกปิดท่าได้ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าประกอบการอย่างไร ขนส่งสินค้าอะไร หากขนส่งสินค้านอกเหนือจากที่ขอไว้ก็ผิด ฉะนั้นการที่เอาคนข้ามตรงท่าเขาไม่น่าจะกล้าเสี่ยง ตนเชื่อว่าน่าจะเป็นช่องทางอื่นมากกว่า 

“ปัญหานี้ผมคิดว่าต้องแก้ที่ต้นเหตุ เช่น เกาหลีใต้ เขาทำสีชัดเจนเลยว่าเขตไหนสีแดง โซนรัฐกะเหรี่ยงสีแดง กลับไปต้องรายงานตัว ต้องชี้แจงว่าทำไมมาตรงนี้ เขาแจ้งเตือนประชาชนของเขาเข้มข้น หากเราประสานต้นทาง ว่าถ้ามาตรงนี้  และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการอยู่ เขาต้องแสดงว่าเข้ามาแล้วจะไปพักที่ไหนจะไปทำอะไร ตม.ก็พยายามเข้มงวด”ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจราชมนู

เมื่อถามว่าในระดับอำเภอหรือจังหวัดควรมีมาตรการอย่างไร ไม่ให้คนถูกหลอกข้ามไปฝั่งเมียวดีอีก  พ.อ.ณัฐกรกล่าวว่า เรามีการแจ้งเตือนตลอด คนมาที่นี่มีแค่ 2 ช่องเท่านั้นเองคือเครื่องบิน และทางรถ ถ้าเรามีเงื่อนไข ข้อตกลงกับสถานทูตหรือประเทศต้นทางว่า ห้ามคนของเขาไม่ให้มาในพื้นที่ตรงนี้ ก็จะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น เช่น ประเทศ ก. ขอคุยสถานทูตเลยว่า ขอความร่วมมือไม่ให้คนของประเทศคุณเข้ามาแม่สอด เราก็สามารถสกัดได้ว่า หากมีคนของประเทศเขามาแม่สอด เราก็มีอำนาจหน้าที่ทำได้ 

เมื่อถามต่อไปว่ากรณีคนจีนที่เข้ามาแม่สอดจำนวนมาก หากใช้วิธีการนี้โดยรัฐบาลไทยแจ้งกับรัฐบาลจีนว่าไม่ควรให้คนจีนเข้าจะดีหรือไม่ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กล่าวว่า หากระดับบริหารมีนโยบายเช่นนั้น ระดับปฏิบัติก็พร้อมอยู่แล้ว และน่าจะดีด้วย เพราะเป็นงานนโยบายที่ผู้บริหารระดับประเทศหารือกัน ว่าเป็นพื้นที่สงวน ไม่ให้เข้ามา กำหนดเขตอันตรายไม่ควรเข้า 

ด้านนายนายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้รับการประสานมาว่ามีคนโมร็ออกันต้องการความช่วยเหลือและได้รับการประสานกับสถานทูต ว่ามีรายชื่อใครบ้างและเลขพาสปอร์ต จึงประสานงานกับกองทัพบก เราทราบตลอดว่ากองทัพได้มีการคุยกับเหยื่อตามรายชื่อที่ส่งไป และไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะกลับมา แต่บางคนก็อยากอยู่สมัครใจอยู่ที่นั่นต่อไปแต่ไม่ทราบว่าสาเหตุอะไร ส่วนหนึ่งทราบว่าบางคนมีครอบครัวส่งเงินมาและไถ่ถอนตัวเองไปแล้ว เหลือประมาณ 12 คน  

“สุดท้ายการเจรจาสำเร็จลุล่วง และส่งทั้ง 12 คนมาให้ทางทหารไทยดูแลเพื่อจะส่งต่อไป ต้องให้เครดิตกับกองทัพบก ผมเป็นคนประสานงานเท่านั้น เพราะเราคงไม่มีทรัพยากรไปช่วยเหลือโดยตรง ต้องขอบคุณกองทัพบกในส่วนนี้” นายรังสิมันต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลไกการช่วยเหลือชาวโมร็อกโกครั้งนี้ควรเป็นรูปแบบที่นำมาใช้ต่อไปหรือควรปรับเปลี่ยนอย่างไร ประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นกลไกที่แก้ไขรายเคสซึ่งไม่ได้ยั่งยืนอะไร ต้องทำความเข้าใจว่าคนที่ไปอยู่ที่นั่นได้ เพราะผ่านไปจากประเทศไทย และหากไทยมีกลไกที่มีประสิทธิภาพ อาจจะเป็นไปได้ว่าจะไม่มีเหยื่อไปอยู่ที่นั่นเลย หรืออาจจะไม่ผ่านประเทศไทยมากไปกว่านั้น หากพิจารณาตัวเลขที่มีคนทำงานอยู่ในแหล่งสแกมเมอร์ มีมหาศาลมาก  เฉพาะแหล่งใหญ่คือชเวก๊กโกมีประมาณ 1แสนคน เคเคปาร์ก 1 แสนคน แหล่งใหญ่ๆรองลงมารวมกันแล้วน่าจะ 3 แสนคน และแหล่งเล็กๆ รวมกันแล้วคิดว่าราวๆกว่า 5 แสนคน  ทั้งหมดนี้ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์แล้วหลายแสนคน ธุรกิจเหล่านี้มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ตนค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเลขอาจจะถึง 1 ล้านคน 

นายรังสิมันต์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องยกระดับให้ได้คือรัฐบาลต้องยกเป็นวาระใหญ่ของประเทศหรือวาระแห่งชาติ  เพราะว่าประเทศไทยเป็นทางผ่านของแหล่งสแกมเมอร์ คนไทยถูกหลอกลวงเยอะมาก ความสียหายมหาศาลปี ละไม่น้อยกว่า 6 หมื่นล้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องหาทางแก้ปัญหาอย่างยิ่ง ต้องยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ หมายความว่าต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร กระทรวงการต่างประเทศ จะต้องทำอย่างไร กระทรวงกลาโหมและกองทัพต่างๆ ทำอะไร ในแง่ของมหาดไทยทำอะไร เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ 

“พวกสแกมเมอร์ต่างๆ ทำโดยคนจีน หากไปดูในสนามบินแม่สอด จะเห็นว่าแต่ไฟลท์มีแต่คนจีนทั้งสิ้น ถ้าเราจะสามารถสกัดกั้นคนจีนไม่ให้สามารถข้ามจากแม่สอดไปเมียวดีได้ ธุรกิจพวกนี้จะไม่สามารถดำเนินการได้โดยที่ไม่มีคนจีนอยู่ คำถามคือว่า เราจะสกัดกั้นคนจีนได้อย่างไร เรากำลังพูดถึงมาตราการข้ามแดนที่ผิดกฎหมาย การที่บอกว่าแม่น้ำหลายจุดที่เดินข้ามได้เลย เหล่านี้ไม่ใช่ข้อแก้ตัวอีกต่อไป เพราะสุดท้ายคนไทยก็ต้องแบกรับปัญหาไปเรื่อยๆ” นายรังสิมันต์ กล่าว

ประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯกล่าวว่า มีวิธีการควบคุมชายแดนจริงจังโดยใช้เทคโนโลยีในการสอดส่องดูแลจุดข้ามแดนที่ถูกกฎหมายแต่มีการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย ที่เรียกว่าท่าข้าม เป้าหมายคือการใช้เพื่อค้าขายเท่านั้น  แต่จริงๆแล้วเป็นการค้าที่จำนวนไม่น้อยไปสู่แหล่งสแกมทั้งหลาย บางครั้งก็เป็นการข้ามโดยคนด้วย จุเหล่านี้มีมากกว่า 50 จุด สิ่งเหล่านี้ต้องกลับมาทบทวนว่าทำไมต้องมีท่าข้ามมากกขนาดนี้และท่าข้ามที่คุมโดยเอกชนเหล่านี้มีข้อหย่อนยานหรือไม่

“ผมคิดว่าเราต้องทบทวนเหมือนกันว่า คนจีนเดินทางมาโดยฟรีวีซ่า ซึ่งแน่นอนจำเป็นต่อภาคการท่องเที่ยว  แต่เขาเดินทางไปจังหวัดไหนก็ได้โดยเสรี เป็นมาตรการที่เราต้องทบทวน  พื้นที่เป้าหมายของแหล่งสแกมเมอร์ เราอาจทบทวนว่าต้องมีการขออนุมัติเป็นรายกรณีหรือเป็นกรณีเฉพาะ เพื่อทำการควบคุมป้องกันไม่ให้เป็นการใช้ในการข้ามไปยังธุรกิจที่ผิดกฎหมาย  ส่วนตัวผมเองยังอยากเห็นจังหวัดตากเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าถูกใช้โดยแหล่งสแกมเมอร์ต่างๆ จะทำลายบรรยากาศของการสร้างเศรษฐกิจที่อยากจะเห็น การค้าชายแดนไม่จำเป็นต้องเป็นสีเทา สามารถที่จะขาวสะอาดได้ โดยไม่ต้องเอื้อให้ธุรกิจสีเทาเติบโตได้เลย” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์กล่าวว่า รัฐบาลอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ต้องทำตอนนี้ดีกว่าหรือไม่  รัฐบาลอาจจะคิดแบบนั้น เพราะว่าหากจะปราบปรามจริงจังอาจจะเกี่ยวข้องกับเครือข่ายสีเทาในประเทศด้วย  เพราะเครือข่ายพวกนี้เติบโตได้ขนาดนี้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายสีเทาในไทย อาจจะเหยียบตีนหลายคน พูดกันตรงๆ อาจจะทำให้รัฐบาลรู้สึกว่า งั้นอย่าไปยุ่งดีกว่าจึงไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นมากกว่า เช่นดิจิตอล เรื่องทางเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจว่าปัญหาชายแดนจะเป็นอย่างไร ผมคาดหวังน้อยที่สุดคือ อย่างน้อยที่สุดถ้าเราเป็นรัฐบาลคือการควบคุมชายแดน ไม่ใช่ว่าไม่ให้คนเข้าคนออก แต่ความหมายของผมคือ เป็นเรื่องของการมีมาตรการต่างๆ ที่เราระบุได้ว่า อะไรบ้างที่ผ่านชายแดนเราทั้งถูกและไม่ถูก วันนี้เรามีข้อมูลแค่อะไรที่ผานชายแดนเราที่ถูก แต่เราไม่มีข้อมูลว่าอะไรที่ผ่านชายแดนเราที่ผิด ทำให้เราแก้ไขปัญหาแทบไม่ได้เลย 

นายรังสิมันต์กล่าวว่า รัฐอยากจะเติมเงินใส่กระเป๋าคนไทย  5 แสนล้านบาทเป็นตัวเลขที่เยอะ เราไม่ต้องมาเถียงกันว่าได้ผลไหม แต่อยากให้คิดว่า ทุกๆปีมีคนเอาเงินออกจากกระเป๋าคนไทยแบบผิดกฎหมายโดยที่เงินไม่ได้ก่อประโยชน์อะไร  กลับไปสร้างความเสียหายให้กับคนไทยบางคนต้องตัดสินใจฆ่าตัวตาย ตัวเลข 6หมื่นล้านเป็นตัวเลขที่มองข้ามไม่ได้ และลองคิดว่า เงินเหล่านั้นสร้างประโยชน์ได้มากขนาดไหน ถ้าสุดท้ายไม่มีสแกมเกิดขึ้น ก็จะสร้างประโยชน์คนไทยให้มากว่า 

“ยกตัวอย่างต่างชาติที่ถูกหลอกแบบนี้ เขาผ่านประเทศไทย บินมาไทยแต่สุดท้ายไปจบตรงที่แหล่งสแกมเมอร์ที่เมียนมาอย่างนี้ คำถามคือ สิ่งเหล่านี้เราควรจะกังวลไหม หากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะประเมินค่าได้หรือไม่ หากเสียแล้วเราจะแก้ยาก เป็นสิ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญ และเราต้องประเมินเช่นกัน”นายรังสิมันต์ กล่าว

————— 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.