เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฎิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธาน โดยมีวาระสำคัญกรณีรายงานของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านพม่าออกรายงานเผยว่าในช่วงปี 2023-2024 ระบุว่าไทยกลายเป็นแหล่งทำธุรกรรมการเงินที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลทหารพม่า ทั้งที่นานาชาติคว่ำบาตร นำมาสู่ข้อสังเกตว่าระบบธนาคารไทยกำลังถูกใช้ในการสนับสนุนการสังหารหมู่และสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ได้เชิญกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจง

นายทอมแอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยพม่า UN Special Rapporteur on the situation of human rights in Myanmar กล่าวในที่ประชุมว่า จากรายงานฉบับนี้ ตนขอเสนอให้รัฐบาลไทยเสนอให้ธนาคารไทยยุติการเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการทำธุรกรรมของรัฐบาลทหารพม่า โดยเฉพาะกับธนาคารที่เป็นของทหารพม่า เพราะจะเป็นวิธีการเดียวที่จะป้องกันอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุดว่าหากไม่หยุดสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น

“ยังมีข่าวดีที่จะแจ้งคือ ในชุมชนนานาชาติ มีแนวโน้มที่ใช้มาตรการและปฏิบัติการที่จะโดดเดี่ยวหรือลดทอนศักยภาพของรัฐบาลทหารพม่าที่โจมตีประชากรของตัวเอง ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ ระบบการธนาคารนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับพม่า ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ใน 2 ปีที่ผ่านมา แต่เรายังต้องทำให้มากกว่านี้อีก ข่าวดีของไทยคือ กระทรวงการต่างประเทศกำลังจะตรวจสอบรายงานของผมฉบับนี้ เป็นก้าวย่างที่สำคัญ” ผู้รายงานของ UN กล่าว

นายทอมแอนดรูวส์ กล่าวว่า  บทบาทของสหประชาชาติ แตกต่างตามกลไก มีกลไกศาลระหว่างประเทศ ICC ซึ่งจากรายงานฉบับนี้สิงคโปร์ได้ตอบในการประชุมและมีการดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมในสิงคโปร์ที่เกี่ยวข้องกับพม่า ทำให้ธุรกรรมลดลงอย่างมาก ไม่ใช่แค่การโอนเงินโดยตรง แต่เกี่ยวข้องกับด้านอื่นๆ เช่น การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพม่า ซึ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตนเองดีใจที่มีธนาคารไทยและสมาคมธนาคารมาร่วมประชุมในวันนี้ ซึ่งตนได้ให้ข้อมูลแก่ธนาคารมาโดยตลอด ธุรกรรมเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่จดทะเบียนในไทยซึ่งเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า

“มาตรการตรวจสอบ due diligence การประเมินนั้นมีหรือไม่ ประเทศไทยให้ความสนใจต่อหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แล้วมีขั้นตอนใดดำเนินการไปแล้วหรือไม่ ตามรายชื่อบริษัทที่ระบุชัดเจนในรายงานของ UN ซึ่งหากบอกว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเงินไปลงสงครามโดยตรง แต่จะพิสูจน์อย่างไรว่าเงินเหล่านี้ไม่ไปเกี่ยวข้องกับสงคราม ธนาคารของทหารพม่าเราตรวจสอบหรือไม่ ยอมรับว่ารายงาน UN เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง แต่เรากำลังพูดถึงอาชญากรรมต่อมนุษชาติ ที่ยิ่งรุนแรงกว่า” ผู้แทนรายงานพิเศษของสหประชาชาติ กล่าว

ขณะที่นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีออกข้อมติรายปีตั้งแต่ พ.ศ.2534 เรื่องสถานการณ์ชนกลุ่มน้อยในพม่า ต่อมาหลังรัฐประหาร 2564 ก็มีข้อมติเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน มีกลไกรายงาน UPR และตั้งผู้แทนพิเศษทำรายงานรายประเทศ และมีข้อมติเกี่ยวกับเมียนมาทุกปี สำหรับผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนเมียนมามีอาณัติจัดทำรายงานทุกปี ซึ่งเอกสารที่เราพูดวันนี้เป็น เอกสารแจกในที่ประชุม conference room paper ซึ่งมีการอ้างอิงถึงประเทศไทย โดยไม่พบหลักฐานว่าธนาคารที่ระบุในรายงานรับรู้ว่าผู้รับประโยชน์สุดท้ายคือรัฐบาลพม่า ซึ่งรัฐบาลไทยก็ไม่ทราบเช่นกัน

“เราได้หารือกับผู้รายงานพิเศษ คณะผู้แทนไทยที่เจนีวาก็ได้มีถ้อยแถลงในการประชุมสิทธิมนุษยชนที่เจนีวา ในภาพรวมคือรัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเมียนมาทุกรูปแบบ สนับสนุนให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางออก สำหรับมติของคณะมนตรีความมั่นคง UNSC ไทยเราปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่เคยระบุเรื่องแซงชั่นใดๆ หากประเทศใดดำเนินการก็เป็นมาตรการฝ่ายเดียว เช่น สหรัฐอเมริกา”ผู้แทน กต. กล่าว

ด้านผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้กำชับให้ธนาคารไทยดำเนินมาตรการคว่ำบาตร FATF และมาตรการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อย่างต่อเนื่อง สถาบันการเงินต้องดำเนินการตรวจสอบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเข้มข้น เช่น ลูกค้าในแซงชั่นลิสต์ ซึ่งหากมีข้อมูลน่าสงสัยต้องแจ้ง ปปง. เพื่อให้ไทยไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และขณะนี้กำลังตรวจสอบข้อมูล เกณฑ์ หากมีช่องโหว่ก็จะปรับปรุง สำหรับฐานข้อมูลบริษัทต่างๆ ธนาคารเองก็พยายามหาข้อมูลทำฐานข้อมูลเพื่อให้ธนาคารเข้าไปตรวจสอบได้

ขณะที่ผู้แทนธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเพียงสั้นๆว่าธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง

ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมฯมีสมาชิก 15 ธนาคารไทย ความเข้าใจของสมาคมเห็นว่ารายงานของ UN ฉบับนี้เป็นข้อกล่าวหาค่อนข้างรุนแรง ว่าเป็นผู้ให้บริการแก่เมียนมาจัดซื้ออาวุธ ซึ่งก็ไม่มีข้อมูลธนาคาร เราทำหน้าที่ของเรา ไม่สนับสนุนการดำเนินการต่าง ๆ การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ หรือการทหาร แก่ทหารเมียนมาหรือทหารไหนก็ตาม เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน สมาคมเรามีฉันทานุมัติว่าจะไม่ดำเนินการในลักษณะนี้ สมาคมกำลังพิจารณาว่าจะมีกระบวนการตรวจสอบเพิ่มเติม กำลังพิจารณา ว่าเราจะ monitor รายการ ซึ่งก็เข้าใจว่ารัฐบาลทหารเมียนมาเองก็พยายามหลบหลีก เช่น ใช้นอมินี หรือเปิดบัญชีบุคคลทั่วไป หากติด FATF เราก็ให้ความร่วมมือเพิ่มขึ้น โดยสมาคมให้ความสำคัญที่ดำเนินการอย่างรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม และประชาคมโลก ตามกฎหมายและกฎขององค์กรกำกับดูแลใกล้ชิด มีผู้เชี่ยวชาญดูแล โดยทุกธนาคารที่เป็นสมาชิกเราไม่ทำอะไรเกี่ยวกับการซื้ออาวุธ

ด้านผู้แทนสำนักงานปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่ามีกฎหมายกำหนดว่าธนาคารจะรับลูกค้าต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า มีกฎกระทรวง ธนาคารต้องแบ่งลูกค้าตามระดับความเสี่ยง สำนักงาน ปปง. กำหนดให้ใช้พื้นที่ประเทศมาดูความเสี่ยงเรื่องการฟอกเงิน ว่ามีความเสี่ยงด้านการฟอกเงินหรือไม่ สำนักงานปปง.มีการออกประกาศ หรือมีองค์กรระหว่างประเทศมีมาตรการดูแลการฟอกเงิน FATF ซึ่งดูแลเรื่องการฟอกเงิน ไทยต้องดำเนินการตาม ธนาคารเองต้องนำมาเป็นปัจจัยกำหนดความเสี่ยง โดยได้มีการประกาศแล้วจากการประชุมที่ปารีสว่าเมียนมามีมาตรฐานการปราบปรามฟอกเงินไม่เพียงพอ ให้ทุกประเทศสมาชิกดำเนินการตรวจสอบ Enhanced Due Diligence-EDD ตรวจสอบการเงินอย่างเข้มข้น ดังนั้นคือไม่ได้ห้ามการทำธุรกรรมกับเมียนมา เพียงแต่ให้มีมาตรการตรวจสอบเข้มข้น

“ปปง.ออกประกาศให้สถาบันการเงินทราบว่าว่าพม่ามีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงิน ธนาคารต้องทำ EDD ทุกรายการ การทำ EDD การทำธุรกรรมแต่ละครั้งต้องมีหลักฐานเอกสารที่น่าเชื่อถือทุกครั้ง หากทำไม่ได้ธนาคารสามารถปฏิเสธไม่ทำธุรกรรมนั้นได้” ผู้แทนปปง.กล่าว

นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่าธนาคารพม่ามีอย่างน้อย 2 แห่งถูกคว่ำบาตร เรารู้หรือไม่ว่ามีธนาคารเข้ามาเปิดบัญชีที่ธนาคารของไทย ตนอยากเห็นแผนปฏิบัติการ actions plan อยากรู้ว่ามีการทำธุรกรรมในไทยแบบนี้ เราจะทำอย่างไรให้ปีหน้าว่าไทยจะไม่อยู่ในรายงานทำนองนี้อีกแล้ว ยินดีที่ทราบจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะมีการตรวจสอบ และยินดีให้ข้อมูลทุกประการ

ภายหลังการประชุมนายรังสิมันแถลงว่า  เนื่องจากรายงานดังกล่าว เป็นรายงานที่ได้แสดงให้เห็นว่า มีความเชื่อมโยงในส่วนของธนาคารของประเทศไทยไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธต่าง ๆ ที่ใช้ในการเข่นฆ่าประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งเป็นความรุนแรงที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพเข้ามาที่ประเทศไทย ความขัดแย้ง และความรุนแรงเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น กมธ. ความมั่นคงฯ ไม่สามารถที่จะนิ่งนอนใจได้

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2566 ที่มีรายงานในลักษณะแบบนี้ มาก่อนแล้ว หรือเมื่อ 4 ปี ที่ประเทศไทยไม่ได้มีมาตรการหรือการดำเนินการอย่างไร โดยผลของรายงานฉบับดังกล่าวมีความเชื่อมโยงของบริษัทจำนวนมากกว่า 250 แห่ง ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธ และความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมียนมา แม้ในวันนั้น ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมมากที่สุด แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมบางอย่าง ที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในเมียนมา

“วันนี้เราก็พยายามที่จะสอบถามเรื่องนี้กับทุกฝ่าย ทั้งภาคส่วนของธนาคาร ภาคส่วนของรัฐ ไปจนกระทรวงการต่างประเทศ โดยทุกฝ่ายก็พูดตรงกันว่า ไม่อยากให้ระบบธนาคารของเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่จะนำไปสู่การซื้ออาวุธเลย และแน่นอนว่า แม้วันนี้เรายังไม่ได้มาตรฐานที่ชัดเจนว่า จะมีการดำเนินการอย่างไร แต่เรามีคำสัญญาจากทุกฝ่าย ว่าจะมีมาตรการทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ต่อไป”นายรังสิมันต์ กล่าว

ประธาน กมธ.กล่าวว่า ตลอดการพูดคุย ไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อประเด็นที่อาจจะโต้แย้ง ว่ารายงานฉบับนี้ไม่ถูกต้อง ดังนั้นก็คงจะสามารถอนุมานได้ว่า ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ เป็นรายงานที่ถูกต้อง และเป็นรายงานที่เราคงจะต้องนำไปสู่การสร้างมาตรการที่จะแก้ปัญหาต่อไป

ทั้งนี้ กมธ. ได้มีการแนะนำไปที่กระทรวงการต่างประเทศ ว่าจะต้องมีการประสานงานกับทางสิงคโปร์ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ในภาพรวม และได้ให้หน่วยงานทั้งหมดทำรายงานความคืบหน้ากลับมาที่ กมธ.ใน 30 วัน เพื่อติดตามมาตรการที่มีความชัดเจนต่อไป

————-

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.