รัฐบาลอังกฤษเตือนประชาชนของตัวเองงดเดินทางไปยังพื้นที่ 5 รัฐและ 3 ภาคทั่วประเทศเมียนมา หลังการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังฝ่ายต่อต้านทวีความรุนแรงขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2024 ส่วนสถิติล่าสุดบ่งชี้ว่านักท่องเที่ยวอังกฤษไปเยือนเมียนมามากสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป แต่ยังเป็นรองจากจีน ไทย อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
กระทรวงการต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักรออกคำเตือนการเดินทางไปยังพื้นที่ไม่สงบทั่วเมียนมาช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2024 และยังมีผลต่อเนื่องต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยระบุชัดเจนว่าให้พลเมืองอังกฤษงดเดินทางไปยังรัฐชิน รัฐคะฉิ่น รัฐคะเรนนี รัฐมอญ รัฐยะไข่ และรัฐฉานตอนเหนือ รวมถึงภาคสะกาย ภาคมะกวย ภาคตะนาวศรี ภาคมัณฑะเลย์ทางตอนเหนือ และฝั่งตะวันออกของถนนย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ในภาคพะโค หลังแนวร่วมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ากลับมาปฏิบัติการโจมตีครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งยังสามารถยึดฐานที่มั่นของกองทัพพม่าได้เพิ่มเติมอีกหลายแห่ง
คำเตือนของทางการอังกฤษห้ามการเดินทางในทุกกรณีไปยังพื้นที่ไม่สงบของเมียนมา ถ้ามีผู้ฝ่าฝืนเดินทางจะทำให้ประกันการเดินทางไม่มีผลครอบคลุม เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและอาจเป็นอันตราย ส่วนพื้นที่อื่นๆ ซึ่งไม่ได้ระบุในประกาศเตือนยังเดินทางไปได้ในกรณีที่จำเป็น แต่ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารของทางการอย่างสม่ำเสมอและต้องวางแผนการเดินทางอย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ ข้อมูลที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยวของเมียนมาที่สำรวจล่าสุดในปี 2022 พบว่านักท่องเที่ยวอังกฤษเดินทางไปเมียนมารวม 1,575 คน คิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่ไปเยือนเมียนมาในปีนั้น แต่ถือว่ามากสุดเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจากประเทศยุโรปอื่นๆ และธุรกิจเอกชนของอังกฤษที่ไปลงทุนในกิจการโรงแรมที่เมียนมามีทั้งหมด 3 แห่ง หรือติดอันดับ 9 ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปดำเนินกิจการในเมียนมา
ส่วนนักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางไปเมียนมามากที่สุด 10 อันดับแรก คือ จีน ไทย อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ เวียดนาม และรัสเซีย แต่ประเทศเหล่านี้ยังไม่มีการประกาศเตือนพลเมืองของตัวเองหลังเกิดปฏิบัติการโจมตีระลอกใหม่ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
ท่าทีล่าสุดของกระทรวงการต่างประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาเป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2024 เพื่อตอบโต้ข้อมูลในรายงานของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ซึ่งระบุว่าสถาบันการเงินในประเทศอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจัดซื้ออาวุธแก่กองทัพพม่า โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าว 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน และอีกครั้งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2024 ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้รับทราบเนื้อหาของรายงานดังกล่าว และได้ยืนยันตามแถลงการณ์ของธนาคารพาณิชย์ของไทยหลายแห่งว่า ทางธนาคารไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันและห้ามนำธุรกรรมทางการเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยต้องการเห็นความสงบในเมียนมาโดยเร็ว สนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในทุกรูปแบบ และให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเมียนมา และปฏิบัติตามข้อมติของสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด และกระทรวงฯ จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย และ ปปง. ต่อไปในประเด็นนี้”
อ้างอิง
UK Government, Ministry of Hotels & Tourism (Myanmar), MFA