เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 “มุสตาฟา”(นามสมมุติ) ชายชาวโมร็อกโก ได้รับการชักชวนจากเพื่อนบ้านให้มาทำงานในประเทศไทยโดยที่เขาไม่ได้รับแจ้งรายละเอียดของงานที่จะมาทำมากนัก รู้เพียงว่าทำเว็บไซต์ e-commerce และไม่ได้บอกเลยว่าต้องเข้าไปทำงานในประเทศพม่า แต่มุสตาฟาก็ตอบตกลงไปเพราะอยากมาประเทศไทยอยู่แล้ว
หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ มุสตาฟาได้รับตั๋วเครื่องบินจากเพื่อนชาวโมร็อกโกบินมายังประเทศมาเลเซีย เมื่อถึงก็เดินทางไปยังสถานทูตไทยประจำมาเลเซียเพื่อขอวีซ่า และใช้เวลารออยู่ 2 วัน เขาก็บินถึงประเทศไทยและบินต่อไปยังสนามบินใน อ.แม่สอด จ.ตาก
ที่สนามบินแม่สอด มีชายกลุ่มหนึ่งมารับ เขาต้องเปลี่ยนรถ 2 ครั้ง ก่อนที่คนขับรถจะพาไปที่แม่น้ำแห่งหนึ่งและข้ามเรือไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นมุสตาฟาไม่รู้เลยเป็นที่ใด นึกเพียงว่าเป็นการข้ามแม่น้ำปกติ เพราะไม่เห็นสิ่งผิดปกติใด เขาไม่รู้ว่าพื้นที่แห่งนั้นอยู่ในประเทศพม่า
“มันซับซ้อนมาก จริงๆ แล้วเป็นสถานการณ์มันอันตราย แล้วก็เข้าไปถึงที่นั่น ที่พม่า” มุสตาฟาย้อนเหตุการณ์จุดเริ่มต้นของการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ที่มีเหล่าชาวจีนเป็นหัวหน้าทีม “พอไปถึงนายหน้าก็แนะนำงาน บอกว่าจะเริ่มงานตรงนี้ 1 ปี เราต้องติดสัญญาจ้างงาน 1 ปี แล้วจะได้กลับโมร็อกโกหรือไม่” เขาคิดในใจ
วันต่อมามีเหยื่อชาวโมร็อกโกมาเพิ่มอีก หลังจากนั้น 2 เดือนก็มีมาอีก 1 กลุ่ม
เมื่อรู้แน่แล้วว่าถูกหลอกให้มาทำงานต้มตุ๋นคนทั่วโลก ไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้ มุสตาฟาได้พยายามติดต่อ 2-3 องค์กร เพื่อหาทางออกจากแหล่งอาชญากรรมแห่งนี้ แต่เป็นเรื่องยากมาก
“ผมพยายามติดต่อครอบครัว ติดต่อสถานทูต ติดต่อองค์กรต่างๆให้ช่วย แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลย ในที่สุดเดือนที่ 3 ผมต้องให้ครอบครัวจ่ายเงิน 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 250,000 บาท) เพื่อไถ่ตัว ผมอยากบอกให้ทุกคนรู้ความจริง จะได้ไม่ถูกหลอก พวกเราต้องเผชิญความทุกข์ทรมาน ถูกทำร้าย ถูกทุบตีด้วยเครื่องมือต่างๆ เขาใช้ให้เราทำงานวันละ 18 ชั่วโมง พวกเราถูกบังคับด้วยวิธีการต่างๆ เลวร้ายมาก ต้องตื่นมาทำงานยาวนาน” ความรุนแรงตลอดกว่า 4 เดือนที่มุสตาฟาประสบในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย พรั่งพรูออกจากปากมุสตาฟา เขาอยากตะโกนให้คนทั้งโลกได้รับรู้ความจริงเพื่อที่จะได้ไม่ถูกหลอกลวงเหมือนพวกเขา
“เรายอมจ่ายเงินเพื่อไถ่ตัว เพื่อให้ได้อิสรภาพ พอเราออกมาก็ต้องไปติดคุกในพม่าอีก 4-5 วัน ผมจำไม่ค่อยได้ แล้ว ตอนนั้นหัวหน้าขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นคนจีนมาเรียกตัวเรากลับไปที่บริษัทอีก เขาบอกว่าเราไปคุยกับครอบครัว เราไปบอกองค์กรและระบุสถานที่ ทำให้เขาเสียหาย เขาเลยยึดโทรศัพท์เราไป ลงโทษเรา ทุบตีทำร้ายเรา สถานการณ์ซับซ้อนมากและทรมานมาก นี่คือกรณีที่ผมได้เผชิญ”
มุสตาฟาเล่าว่า มีเพื่อนอีกคนอยู่ในห้องเดียวกัน ก็พยายามบอกครอบครัว และโทรหาความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ อีก 3 คน โดยบอกว่ากำลังตกอยู่ในแหล่งอาชญากรรมแห่งนี้ เมื่อพวกคนจีนรู้ เขาก็ถูกทำร้าย ถ้าจะออกไปพวกเราต้องจ่ายเงินค่าไถ่อย่างเดียว
“ชาวโมร็อกโกที่ออกมาชุดใหญ่ครั้งนี้ ทุกคนไม่ได้เป็นเหยื่อทั้งหมด แต่มีบางคนที่ไปหลอกคนอื่นมาอีกทอดหนึ่ง ถ้าผมบอกเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ คงใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ เหมือนในหนัง มันเหมือนไม่ใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้น” มุสตาฟาสะท้อนความจริงที่เขาเห็น โดยหลังจากได้รับการไถ่ตัวออกมาพร้อมเพื่อนๆ อีก 5 คน เขาได้เข้าสู่กลไกการส่งต่อระดับชาติเพื่อการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย (National Referral Mechanism-NRM) ของทางการไทย
หลังจากมุสตาฟาและเพื่อนๆ รวม 6 คน ได้รับการไถ่ตัวออกมา อีกไม่กี่วันชาวโมร็อกโกอีก 11 คนก็ได้รับความช่วยเหลือออกมาโดยไม่ต้องไถ่ตัว เป็นการประสานงานใต้ดินระหว่างผู้มีอำนาจ
เมื่อตอนข้ามแม่น้ำเมยมายังฝั่งไทย มุสตาฟาและเพื่อนๆ มีทางเลือก 2 ประการคือ 1.ยอมจ่ายค่าปรับ 1,500 บาทให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ไทย ที่อยู่เกินระยะเวลาที่กำหนดในวีซ่า (Overstay) ซึ่งภายใน 3 วันเขาจะถูกส่งตัวกลับประเทศโมร็อกโกทันที โดยไม่ต้องให้ปากคำใดๆ กับทางการไทย ซึ่งที่ผ่านมาเหยื่อชาวต่างชาติหลายประเทศก็ทำเช่นนั้น หรือ 2.เข้าสู่กระบวนการ NRM ที่ต้องผ่านการตรวจสอบคัดแยกจากคณะกรรมการหลายหน่วยงานของไทย แต่ต้องใช้เวลาในการสอบปากคำและอยู่ในความดูแลของทางการไทย
“ที่ผมไม่ชอบคือ สถานทูตของเราอยากให้พวกเรากลับไปเลย ไม่ให้สถานะเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ แต่พวกเราคิดว่าจริงๆ พวกเราเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ แล้วจะไม่ให้เข้ากระบวนการได้อย่างไร ผมไม่แคร์ว่ากระบวนการนี้จะใช้เวลานาน ผมแคร์ว่าผมคือเหยื่อ ความจริงคือจีนมันเอาเงินของครอบครัวผมไป ผมจ่ายค่าไถ่ตัวออกมา นี่พูดที่แรกเลยว่าสถานทูตต้องช่วยเราสิ แต่นี่เขาไม่ช่วยเราเลย” มุสตาฟาบอกถึงความมุ่งมั่นของเขาและเพื่อนๆ หลังจากผ่านกระบวนการ NRM แล้ว เขาและเพื่อนๆ ถูกส่งตัวมายังสถานที่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อรอส่งตัวกลับประเทศ
เมื่อถามว่ากระบวนการ NRM ของทางการไทยเป็นอย่างไรบ้าง มุสตาฟาบอกว่า ใช้เวลานานมาก มีเหยื่อที่จะออกไปข้างนอก กรณีของเราเหมือนไปอยู่ในนรกมายาวนาน พอตอนนี้ออกมาอยู่เมืองไทย และต้องมาติดอยู่ที่ศูนย์นี้ ทำให้สุขภาพจิตไม่ดีเลย ตอนจ่ายค่าไถ่ให้มาเฟียจีนก็นึกว่าได้ออกมาก็จบแล้ว นึกว่าจะได้อิสรภาพ แต่กลับไม่ใช่อย่างนั้น การเข้ากระบวนการ NRM ก็ช้ามาก
“พวกเรา 6 คน จ่ายค่าไถ่ของเราเอง จ่ายแล้วก็ข้ามมาไทย ไปที่ ตม. เราอยากให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ(ไทยและโมร็อกโก)ปฏิบัติกับพวกเราอย่างที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ไม่ใช่แค่จ่ายค่าปรับให้ ตม.แล้วจบ แบบนั้นเราไม่เอา
“ตอนแรกเราก็เชื่อในข้อเสนอที่ว่าให้จ่ายแล้วกลับได้ไป แต่เมื่อคิดอีกที พวกเรารู้สึกว่าควรช่วยรัฐบาลไทยทำให้ถูกต้อง คือช่วยทุกคนที่เป็นเหยื่อจากโมร็อกโกออกมา เราจ่ายไปแพงมาก บางคนจ่าย 10,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 360,000 บาท) เพื่อจะได้ออกมา เป็นเงินจำนวนมากสำหรับเรา อีกทางหนึ่งเรารู้สึกภูมิใจที่รัฐบาลไทยช่วยหลายคนออกมาได้ หวังว่าจะช่วยเหลือเหยื่อออกมาได้มากๆ”
แหล่งอาชญากรรมที่มุสตาฟาและเพื่อนๆ ชาวโมร็อกโกถูกหลอกเข้าไปทำงานนั้น เป็นแหล่งอาชญากรรมที่มาแรงในแง่ของความเลวร้าย โดยเฉพาะภายหลังจากที่แหล่งอาชญากรรมเมืองเล่าก์ก่ายในเขตปกครองพิเศษโกก้าง ชายแดนรัฐฉานเหนือ-จีน ถูกตีแตก ทำให้อาชญากรจีนและอาชญากรชาวโกก้างกลุ่มใหญ่ย้ายฐานมาปักหลักยังพื้นที่ริมแม่น้ำเมย ฝั่งเมืองเมียวดี
“ในห้องทำงานของเรา มีคนทำงาน 8 คน มีคนจีนด้วย ชาติอื่นด้วย นอนอยู่ตรงนั้นแลย เขาให้บัตรทำงาน เพื่อใช้ซื้อของในตลาด ไม่ใช้เงินสด เอาเงินใส่บัตรไว้ให้ ไปรับอาหารที่โรงอาหาร 3 มื้อ แต่กรณีของเราเป็นมุสลิม เรากินหมูไม่ได้ ก็ไม่มีอย่างอื่นให้กิน ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยที่จะมีชีวิตอยู่ในนั้น เราไม่อยากให้ใครต้องไปอยู่ตรงนั้น สุขภาพกายใจสูญเสียมาก” ความเลวร้ายของแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยถูกถ่ายทอดออกมา
“ในนั้นมีบริษัทอยู่ประมาณ 10-12 แห่ง แต่ละแห่งมีงานของตัวเอง มีกลุ่มเป้าหมายของบริษัท เช่น เจาะกลุ่มฝรั่งอเมริกัน ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกา ทุกคนมีงานของตัวเอง อย่างบริษัทที่ผมทำงาน เขาเจาะกลุ่มอเมริกัน ก็ต้องสร้างบัญชีปลอม ใช้รูปปลอม สร้างความสัมพันธ์ หลอกให้เขารัก หลอกให้เหยื่อเชื่อ ทุกอย่างเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น เราต้องโน้มน้าวให้ลูกค้าเชื่อ โน้มน้าวให้เหยื่อยอมลงทุนในสกุลเงินคริปโต ลงทุนในเว็บปลอม ทุกอย่างปลอมหมด มาเฟียจีนเป็นเจ้าของเว็บ เช่น หลอกอเมริกัน ก็ทำเว็บปลอมแบบอเมริกา ให้โอนเงินมา สกุลเงินคริปโตติดตามยากว่าเงินไปที่ไหนต่อ”
มุสตาฟาและเพื่อนๆ บ่ายเบี่ยงที่จะทำงานตามที่เหล่ามาเฟียจีนเทาสั่ง ทำให้พวกเขาถูกสั่งลงโทษอยู่บ่อยครั้ง “ผมได้ยินเรื่องราวเยอะมาก ทุกบริษัทมีบัญชีคริปโตของตัวเอง และจ่ายให้ KKPark เป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของรายได้ เพราะ KK Park ใหญ่ที่สุดและก็มีบริษัทของตนเองด้วย”
KK Park ที่มุสตาฟาพูดถึงเป็นแหล่งอาชญากรรมใหญ่ริมแม่น้ำเมยอีกแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับ ชเวก๊กโก่ แห่งใหญ่ของเหล่ามาเฟียจีนเทาภายใต้การดูแลของกองกำลังกะเหรี่ยง BGF( Karen Border Guard Force) แต่ทั้ง 2 พื้นที่อยู่ตอนเหนือขึ้นไปและตรงกันข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก สิ่งที่เขาเล่าทำให้เห็นจุดเชื่อมโยงกันระหว่างแหล่งอาชญากรรมในย่านนี้ได้ชัดเจน
“2 เดือนสุดท้าย มีคนอเมริกันเข้ามาติดกับในอินสตาแกรมและเฟสบุค ที่ทำหน้าที่หลอกลวง ผมก็บอกเขาไปเลยว่า ผมเป็นเหยื่อถูกบังคับให้ทำงานในแหล่งอาชญากรรม ถูกบังคับให้ทำงานที่พม่า พวกเขาขอบคุณและบล็อกบัญชีเรา แต่บางคนก็ไม่เชื่อ บางคนต้องหลอกเด็ก 14-15 ปี พวกเขายังเป็นเด็กๆ อยู่เลย เราเห็นแล้วรู้สึกเสียใจและสะเทือนใจมาก ทั้งหมดคือเพื่อให้เหยื่อโอนเงินให้แค่นั้น”
เป็นที่ทราบกันดีว่ารายได้ของบริษัทต้มตุ๋นเหล่านี้มีจำนวนมหาศาล ซึ่งมุสตาฟาระบุว่า “สมมุติมี 10 ทีม 10 คน ก็ต้องทำเงินให้ได้ 1-2 แสนดอลลาร์ (ประมาณ 360,000-720,000) ต่อเดือน ทุกสิ้นเดือนบริษัทน่าจะได้ 2 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 72 ล้านบาท) คิดดู ทุกๆ บริษัททำเงินได้ขนาดนี้ ทุกเดือนๆ จ่ายให้คนที่ทำงานนิดหน่อย และโอนทั้งหมดให้บอสเจ้าของบริษัท”
“มีเหยื่อมากมาย ทั้งคนไทย แอฟริกา กานา ไนจีเรีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน อินเดีย รัสเซีย ยากมากที่จะบอกให้ครบ เพราะผมไม่รู้จักทั้งหมด แต่ละบริษัทมีเป้าหมายของตัวเอง ขั้นแรกต้องเข้าไปทำความรู้จักว่าเหยื่อชอบอะไร ขั้นนี้ต้องทำให้จบใน 5 วัน จากนั้นก็ติดต่อ ติดตาม พูดคุย หลอกให้เหยื่อลงทุนใน 1 สัปดาห์ เอาเงินมาให้ได้ ต้องทำให้คนๆ นั้นโอนเงินมาให้ได้ ทำให้คนนั้นตัดสินใจลงทุน”
เมื่อถามว่าคนที่ทำงานอยู่ในแหล่งอาชญากรรมแห่งนี้มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ถูกหลอก และกี่เปอร์เซ็นต์ที่สมัครใจ เหยื่อการค้ามนุษย์รายนี้บอกว่า 50:50 คนที่ตั้งใจมาทำงานสักครึ่งหนึ่ง เพราะรายได้ดี หลอกคนได้ ก็ได้เปอร์เซ็นต์ด้วย หลอกได้เงินมากก็ได้เปอร์เซ็นต์มาก คนโมร็อกโกที่หลอกพวกเรามา เขาก็ได้เงิน บางคนเป็นนกต่อ เป็นนายหน้าหาคนมา
นอกจากตั้งความหวังให้รัฐบาลไทยเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ริมแม่น้ำเมยแล้ว มุสตาฟาและเพื่อนๆ ยังเห็นภาพคนจีนและไต้หวันจำนวนมากถูกหลอกอยู่ในนั้น เขาชื่อว่าหากรัฐบาลจีนซึ่งรู้สถานการณ์หมดดี สั่งห้ามไม่ให้คนจีนเข้ามาในชายแดนไทยบริเวณนี้ก็สามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง
“ถ้ารัฐบาลจีนจะแก้ปัญหา ก็แค่ปิดทุกแหล่งอาชญากรรมในพม่า กัมพูชา ฯลฯ เพราะไม่ใช่มีแค่ที่นี่ แต่มีอีกหลายประเทศ หากเป็นความร่วมมือของประเทศต่างๆ ถ้าจะทำ ก็คงทำได้เพราะจีนมีอำนาจมาก หากประเทศต่างๆ ต้องการหยุดอาชญากรรมนี้และร่วมกันคิด ก็ทำได้ไม่ยาก” มุสตาฟา กล่าวทิ้งท้าย
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.