
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 นายมุสตาฟา(นามสมมุติ)เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวโมร็อกโก ซึ่งถูกหลอกไปทำงานในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย ฝั่งเมืองเมียวดี ประเทศพม่า ตรงข้ามกับบ้านช่องแคบ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งได้รับการไถ่ตัวออกมาและได้เข้าสู่กลไกการส่งต่อระดับชาติเพื่อการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย (National Referral Mechanism:NRM) ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวชายขอบว่า ตนได้รับการทาบทามจากเพื่อนบ้าน ชวนมาทำงานประเทศไทย แต่ไม่ได้รายละเอียดของงานที่จะมาทำ บอกเพียงว่าทำเว็บไซต์ e-commerce โดยไม่บอกเลยว่าเป็นงานที่อยู่พม่า หลังจากนั้นก็ได้รับตั๋วเครื่องบินเดินทางมายังประเทศมาเลเซียเพื่อขอวีซ่า โดยใช้เวลา 2 วัน มาถึงประเทศไทยและได้บินมา อ.แม่สอด จ.ตาก
นายมุสตาฟากล่าวว่า เมื่อมาถึงสนามบินแม่สอดได้มีคนขับรถมารับและต้องเปลี่ยนรถอีก 2 ครั้งก่อนไปถึงแม่น้ำ(เมย)และนั่งเรือข้ามไปยังสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นที่ไหน แต่มาทราบภายหลังว่าอยู่ในประเทศพม่า เมื่อไปถึงนายหน้าได้แนะนำงานโดยบอกว่าจะเริ่มงานตรงนี้ 1 ปี เมื่อรู้ว่าถูกหลอกจึงคิดว่าต้องทำอย่างไรดี จึงได้พยายามติดต่อครอบครัว สถานทูต และองค์กรต่างๆให้ช่วยเหลือ แต่เป็นเรื่องที่ยากมาก
“ผมต้องจ่าย 7,000 ดอลล่าร์สหรัฐเพื่อไถ่ตัวเองออกมา ผมอยากบอกให้ทุกคนรู้ความจริง เพื่อที่จะได้ไม่ถูกหลอก ผมเผชิญความทุกข์ทรมาน เจอการทำร้าย ทุบตีด้วยเครื่องมือต่างๆ เขาใช้ให้เราทำงาน 18 ชม.ต่อวัน เราถูกบังคับด้วยวิธีการต่างๆ เลวร้ายมาก ที่นี่ไม่ใช่ที่ดีเลยที่จะมีชีวิตอยู่ ไม่อยากให้ใครต้องไปอยู่ตรงนี้อีกเพราะสุขภาพกายใจสูญเสียมาก”นายมุสตาฟา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงสภาพการทำงานในแหล่งอาชญากรรมแห่งนี้เป็นอย่างไร นายมุสตาฟากล่าวว่า ภายในมีประมาณ 10-12 บริษัท แต่ละแห่งมีงานของตนเอง มีกลุ่มเป้าหมายของบริษัท เช่น เจาะฝรั่งอเมริกัน ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกา ทุกคนมีงานของตนเอง อย่างบริษัทที่ตนถูกหลอกไปทำงานด้วยนั้นเจาะกลุ่มอเมริกัน โดยต้องสร้างบัญชีปลอม ใช้รูปปลอม สร้างความสัมพันธ์ หลอกให้รัก หลอกให้เชื่อ ทุกอย่างเป็นเรื่องหลอกลวง โดยต้องโน้มน้าวให้เหยื่อลงทุนในสกุลเงินคริปโต ลงทุนในเว็บปลอม ทุกอย่างปลอมไปหมด มาเฟียจีนเป็นเจ้าของเว็บ เช่น หลอกอเมริกัน ก็ทำเว็บปลอมแบบอเมริกา ให้โอนเงินสกุลเงินคริปโตเพราะติดตามยากว่าเงินจริงๆ
“ผมได้ยินเรื่องราวเยอะมาก ทุกบริษัทมีบัญชีคริปโตของตัวเอง และจ่ายให้ KK Park เป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของรายได้ เพราะ KK Park ใหญ่ที่สุดและก็มีบริษัทของตัวเองด้วย 2 เดือนสุดท้าย มีคนอเมริกันเข้ามาติดกับในอินสตาแกรม และเฟสบุค ผมก็เลยบอกเขาไปว่า ผมเป็นเหยื่อถูกบังคับให้ทำงานในแหล่งอาชญากรรมที่พม่า หลายคนขอบคุณและบล็อกบัญชีเรา แต่บางคนก็ไม่เชื่อ บางคนต้องหลอกเด็ก 14-15 ปี ผมรู้สึกเสียใจสะเทือนใจ”นายมุสตาฟา กล่าว
เมื่อถามว่า คาดว่าบริษัทที่หลอกไปมีรายได้ประมาณเท่าไหร่ นายมุสตาฟากล่าวว่า “เยอะมาก สมมุติมี 10 ทีม 10 คน ก็ต้องทำเงินให้ได้ 1-2 แสนดอลล่าร์ต่อเดือน ทุกสิ้นเดือนบริษัทน่าจะมีรายได้ราว 2 ล้านดอลลาร์ คิดดูทุกๆ บริษัททำเงินได้ขนาดนี้”
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีคำแนะนำในการตัดวงจรขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้หรือไม่ นายมุสตาฟากล่าวว่า ชาวต่างชาติที่ผ่านประเทศไทยมายังแม่สอด ทางการไทยควรสัมภาษณ์ว่าจะไปที่ไหน ทำอะไรและควรถามอย่างละเอียด การจะตัดวงจรนี้ คือต้องปิดอุตสาหกรรมอาชญากรรมเหล่านี้ซึ่งประเทศไทยสามารถหารือกับพม่าเพื่อให้หยุดอาชญากรรมเหล่านี้ได้เลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานทูตโมรอคโคประจำประเทศไทยได้ช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร นายมุสตาฟากล่าวว่า “เอาตรงๆ ผมไม่สนใจแล้ว ผมไม่เห็นเขาจะทำไรเลย ตั๋วเครื่องบินก็ไม่ซื้อ เพราะจริงๆ กษัตริย์โมร็อกโกเป็นคนซื้อตั๋วให้ ที่ผมไม่ชอบคือสถานทูต อยากให้พวกเรากลับไปเลย ไม่ให้สถานะเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ทั้งๆที่จริงๆ คือเราเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ จะไม่ให้เข้าพวกเราเข้ากระบวนการได้อย่างไร ผมไม่แคร์ว่ากระบวนการนี้จะใช้เวลานาน ผมแคร์ว่าผมคือเหยื่อ แต่เขาไม่ช่วยเราเลย ความจริงคือคนจีนมันเอาเงินของครอบครัวผมไป ผมจ่ายเป็นค่าไถ่ตัวออกมา”
นายมุสตาฟากล่าวว่า นอกจากคนชาติอื่นๆที่ถูกหลอกไปทำงานแล้ว ยังมีเหยื่อชาวจีนและไต้หวันจำนวนมาก โดยตอนที่พวกตนออกมามีทหารดี DKBA เข้าไปช่วยชาวไต้หวันออกมา ตนเชื่อว่าทางการจีนรับรู้สถานการณ์ทั้งหมด ดังนั้นหากเขาห้ามไม่ให้คนจีนเข้ามาในพื้นที่เหล่านี้ก็ห้ามได้ รัฐบาลจีนมีอำนาจอยู่แล้ว หากเป็นความร่วมมือของประเทศต่างๆ ที่ต้องการหยุดอาชญากรรมนี้ ก็ทำได้ไม่ยาก (อ่านสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ https://transbordernews.in.th/home/?p=39264 )
ด้านแหล่งข่าวด้านความมั่นคงชายแดน เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย(Democratic Karen Buddhist Army – DKBA) ได้พบชาวอินเดียว 6 คนบนถนนเมียวดี – แม่ถ่อตะเล ทางเข้าหมู่บ้าน อิ่นจินแหม่ง เมืองเมียวดี โดยทั้ง 6 คนหนีออกมาจากแหล่งอาชญากรรมแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม 1 ในจำนวนนั้น ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาเนื่องจากถูกทำร้ายทุบตีจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของมาเฟียจีนเทาตั้งแต่คืนวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ส่วนชาวอินเดียที่เหลือได้ส่งให้สถานทูตอินเดีย
ขณะที่สื่อออนไลน์ Thehindu.com ของอินเดียรายงานว่า ชาวอินเดีย 13 คนที่ถูกล่อลวงเข้าไปในแหล่งหลอกลวงทางไซเบอร์แห่งหนึ่งในลาวได้รับการช่วยเหลือและส่งตัวกลับบ้านแล้ว โดยสถานทูตอินเดียในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่าเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือชาวอินเดีย 13 คนจากศูนย์หลอกลวงทางไซเบอร์ในลาวได้สำเร็จ จนถึงตอนนี้ สถานทูตได้ช่วยเหลือชาวอินเดีย 518 คน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา สถานทูตอินเดียได้ออกคำเตือนชาวอินเดียไม่ให้เข้าสู่การทำงานของขบวนการต้มตุ๋มหลอกลวง เนื่องจากมีการสังเกตเห็นว่าชาวอินเดียถูกล่อลวงให้เข้าทำงานโดยผ่านประเทศไทย โดยบริษัทที่น่าสงสัยเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงทางคอลเซ็นเตอร์และการฉ้อโกงสกุลเงินดิจิทัลในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในประเทศลาว
“เหยื่อถูกนำตัวข้ามพรมแดนไปยังลาวอย่างผิดกฎหมายจากประเทศไทย และถูกจับไปทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ในประเทศลาว ภายใต้สภาวะที่เข้มงวด บางครั้งพวกเขาถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มอาชญากรที่ทำกิจกรรมผิดกฎหมายและถูกบังคับให้ทำงานใน สภาพที่หนักหน่วงภายใต้การทรมานทางร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง” คำแนะนำของสถานทูตอินเดียระบุ
———–