
การที่กองกำลังโกก้าง MNDAA( Myanmar National Democratic Alliance Army)และกองกำลังฝ่ายต่อต้านสภาบริหารแห่งรัฐ (The State Administration Council :SAC) สามารถยึดฐานใหญ่ของกองทัพพม่าในเมืองล่าเสี้ยว ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของรัฐฉานไว้ได้ ทำให้สถานการณ์การสู้รบในรัฐฉานซึ่งเป็นรัฐใหญ่ที่สุดในแง่ของพื้นที่กำลังเป็นที่จับตามมองอย่างมาก
ความพ่ายแพ้ของกองทัพพม่าในครั้งนี้จะกลายเป็นโดมิโน่เหมือนกันเมื่อครั้งที่กลุ่มกองกำลังพันธมิตรชาติพันธุ์ในนาม The Brotherhood Alliance ประกอบด้วย MNDAA กองทัพตะอางหรือปะหล่อง (Ta’ang National Liberation Army-TNLA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army-AA) ได้ปฏิบัติการโจมตีกองทัพพม่าในชื่อ Operation 1027 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 หรือไม่ ซึ่งครั้งนั้นได้ส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งโดยกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆทั่วเมียนมาเกิดความรู้สึกฮึกเหิมและลุกขึ้นมาต่อสู้กับกองทัพพม่าจน สามารถยึดพื้นที่ได้จำนวนมาก
ดร.ศิรดา เขมานิฏฐาไทนักวิชาการคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า
สถานการณ์ตอนนี้ เกิดการขยายดินแดนกันเองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในรัฐฉาน ขณะที่การเผชิญหน้ากับรัฐบาลทหารพม่าก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ การที่กลุ่มกองกำลัง 3 พี่น้องปฎิบัติการ Operation 1027 รอบ 2 ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มรู้สึกว่าเป็นกังวลเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากกองทัพพม่าแล้ว ก็กลายเป็นว่าไปกระทบกับเรื่องของการขยาย-รักษาดินแดนของกองกำลังชาติพันธุ์ของกลุ่มอื่นๆ ไปด้วย
“รัฐฉานนั้นมีความซับซ้อนอย่างมาก ในเรื่องของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าเท่านั้น แต่ยังมีการสู้กันเองของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ แม้กระทั่งคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันเพราะฉะนั้นในรัฐฉานจึงซับซ้อนหลายชั้นมากๆ ในเรื่องของการเมืองและความขัดแย้ง เราไม่สามารถใช้มองได้ด้านเดียว ต้องมองไปถึงการเมืองภายในรัฐฉานกันเองด้วย”
ผู้สื่อข่าวถามถึงมุมมองบทบาทของทางการจีนที่สนับสนุนพันธมิตรสามภารดรภาพรวมทั้งกองทัพว้ามาโดยตลอด ดร.ศิรดา กล่าวว่า คนที่เขาสนใจเรื่องการเมืองของรัฐฉานมักจะกังวลเรื่องการขยายตัวของว้าเป็นหลัก เพราะรัฐว้าก็เป็นกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุด และประชิดชายแดนไทยมากยิ่งขึ้น จึงมีความกังวลว่าจะขยายอำนาจจนถึงแม่น้ำสาละวินและชายแดนคะเรนนี หลายกลุ่มจึงมองว่าเป็นภัย
“ความสัมพันธ์ของกองกำลังว้ากับกองกำลังอื่นๆ ในรัฐฉานซับซ้อนมากๆ ไม่สามารถที่จะมองได้ว่ากลุ่มนี้ Take Side กลุ่มนี้ กลุ่มนี้จะเป็นพันธมิตรต่อกัน กลายเป็นว่าว้าคือตัวแปรสำคัญของการเมืองภายในรัฐฉาน ยุทธศาสตร์ในทางทหารก็ส่งผลต่ออำนาจทางการเมือง ผู้ที่มีอำนาจมากมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างอิทธิพลได้มากกว่า ทำให้กองกำลังชาติพันธ์อื่นๆมีความลักลั่นว่าจะอยู่ใต้ว้าดี หรือว่าจะประนีประนอมอย่างไร ทำให้ว้าเป็นตัวแสดงสำคัญในรัฐฉาน ส่วนจีนนั้นวางตัวเองไว้ ใครชนะก็จะอยู่ข้างฝั่งนั้น จีนเห็นแนวทางของตนเอง ระบอบทหารพม่าไม่ได้เข้มแข็งเหมือนเดิม ฉะนั้นต้องหาแนวทางรักษาผลประโยชน์ของตัวเองให้มากที่สุด”
ดร.ศิรดา กล่าวต่อว่า แม้กองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆสามารถยึดพื้นที่ได้มากขึ้น แต่ในทางราชการยังมีความซับซ้อนเพราะต้องอยู่กับอำนาจราชการของระบบทหารพม่า จึงยังต้องดีลกันอยู่หลายทางในเรื่องของการบริหารจัดการ
“ถ้าไปถามคนตะอางก็ได้มุมนึง ถามคนปะโอได้มุมนึง ทุกคนต่างมีความเป็นชาติพันธุ์นิยม (Ethnic Nationalism) ถ้ามองในมุมของคนไทใหญ่ก็อีกมุมนึง รัฐฉานเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด มีความเป็นอิสระตั้งแต่ก่อนยุคล่าอาณานิคม แต่พอมายุคนายพลเนวินมีความพยามที่จะทำลายความเป็นรัฐฉานโดยสนับสนุนชาติพันธุ์อื่น ๆ ขึ้นมา ในมุมมองของคนไตที่มองระบอบทหารพม่า เห็นว่าพม่าพยายามแบ่งแยกและปกครอง ให้มีการ Recognize โดยยกชาติพันธ์อื่น ๆ ที่อยู่ในรัฐฉานขึ้นมา”
ดร.ศิรดา กล่าวว่า รัฐบาลพม่าได้ยกพื้นรัฐฉานให้เป็นเขตปกครองตนเองของบางชาติพันธุ์ แต่ไม่ได้เป็นสหพันธรัฐ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น โกก้าง ว้า ปะโอ เป็นต้น สำหรับชาวไทใหญ่รู้สึกว่านี่คือความพยายามทำให้รัฐฉานแตก ขณะที่มุมมองของชาติพันธุ์อื่น ๆ เขาก็รู้สึกว่าถูกกีดกันจากการเป็นคนกลุ่มใหญ่ในรัฐฉาน กลายปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยซ้อนชนกลุ่มน้อย แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานต่างมีพรรคการเมืองของเขา ด้วยเหตุผลทางการเมืองและผลประโยชน์ของพื้นที่ของตัวเองทำให้มีความซับซ้อน แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์พูดคุยกันยาก
อ.ดร.ศิรดา กล่าวต่ออีกว่า กองทัพรัฐฉานเหนือ (Shan State Progress Party/ Shan State Army: SSPP/SSA และกองทัพรัฐฉานใต้ ( Restoration Council of Shan State/Shan State Army : RCSS/SSA) ต่างก็หวาดระแวงกันในเรื่องการขยายพื้นที่ แม้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วได้มีการลงมือร่วมมือกันว่าจะไม่ต่อสู้กันเอง
“ความคิดของชาวไทใหญ่เกิดการแบ่งฝ่าย แบ่งขั้ว คนที่โปร RCSS ก็มักมองว่า SSPP ไปจับมือกับชาติพันธุ์อื่น ส่วนคนที่ไม่โปร RCSS ก็รู้สึกว่าทำไม RCSS นิ่งเฉยไม่เข้าร่วมการต่อต้าน SAC รักสงบอย่างเดียว อยู่กับที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ในพื้นที่เท่านั้น กลายเป็นประเด็นที่ RCSS โดนวิพากษ์วิจารณ์หนัก”
ดร.ศิรดา กล่าวว่า ตอนนี้ไม่สามารถคำนวณได้เลยว่า มีชาวไทใหญ่ที่หนีการสู้รบเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมากแค่ไหนเพราะรัฐฉานไม่ใช่มีแค่คนไทใหญ่ แต่การสู้รบที่เมืองล่าเสี่ยว เราได้เห็นภาพการอพยพครั้งใหญ่จนรถติดยาวเหยียด
“ปกติคนไทใหญ่ที่เข้ามาทำงานในเชียงใหม่ เขาส่งเงินกลับ เขาอยู่ระยะหนึ่งก็กลับ แต่กลายเป็นว่าหลัง Operation 1027 เขามากันทั้งครอบครัว เขาอยู่ไม่ได้จริงๆ เกิดการสู้รบในรัฐฉานเหนือ บางหมู่บ้านมากันวันละหลักร้อย อาทิตย์ละหลักร้อย นี่แค่ 1 หมู่บ้าน ไม่ต้องนึกถึงว่าทั้งเมืองและหลายเมืองบริเวณรัฐฉานเหนือ จะเข้ามาเยอะขนาดไหน เราจะเห็นภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ เพราะว่ากองทัพพม่าใช้ปืนใหญ่ในการโจมตี และการโจมตีทางอากาศโดยไม่เลือก เพราะฉะนั้นพลเรือนโดนกันหมด
“ขณะนี้มีคนจำนวนมากที่หาหนทางอยู่ไทยไปในระยะยาว เขาต้องหาช่องทางให้ลูกหลานได้เข้าเรียนเพราะหมดหวังที่จะได้กลับ คนที่พอจะมีเงินอาจก็หาทางอยู่ในไทยได้เพราะมี Connection แต่ชาวบ้านทั่วไปเขาต้องหนีไปเรื่อยๆ เกิด IDP อยู่ในฝั่งรัฐฉาน ซึ่งไทยเราจะมีการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม”
ดร.ศิรดากล่าวว่า ในสภาวะสงคราม ไม่ว่าจะฝั่งไหนจะชนะแต่คนที่ได้ผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน เราจะเห็นคลิปที่ประชาชนโดนลูกหลงหรือถูกใช้เป็นโล่ห์มนุษย์ รวมทั้งการจับตัวประกัน แต่ปัญหาหนักที่สุดคือกองทัพพม่าโจมตีทางอากาศโดยไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นการละเมิดข้อตกลงที่ร้ายแรงมากๆ ประชาชนจึงต้องอพยพทิ้งบ้านทิ้งเมือง
“เมืองล่าเสี้ยวเป็นเมืองใหญ่มากๆในรัฐฉานเหนือ คนรวยและคนชั้นกลางอยู่เยอะมาก พวกเขาต้องหนีออกมา เดินทางไล่ลงมาตามรัฐฉานเหนือ ลงมารัฐฉานกลาง ปางโหลง ตองยี แล้วมาประชิดชายแดนไทย ประชาชนจำนวนมากเลือกเข้ามาทางด่านท่าขี้เหล็ก บางส่วนหลบหนีเข้าเมืองในช่องทางธรรมชาติ ใครที่พอที่มีเงิน มี Connection ก็เข้ามาอยู่ฝั่งไทยชั่วคราว แล้วก็กลับไปต่อวีซ่า ซึ่งคนกลุ่มนี้เยอะมาก ปรากฏการณ์นี้จะคล้ายๆกับตอนที่สู้รบในเมืองเมียวดี ซึ่งที่มีการข้ามแดนมาแสตมป์แล้วก็กลับไปเมื่อเหตุการณ์สงบ แต่ฝั่งรัฐฉานไม่รู้เลยว่าจะสงบเมื่อไหร่ รัฐไทยเองไม่ได้มีนโยบายรองรับกับคนที่หนีมาจากพื้นที่ไกลๆในพม่า”
ดร.ศิรดากล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีแต่นโยบายเชิงรับอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่เราน่าจะคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ในพม่าไม่มีทางจบลงง่าย ๆ แล้วรัฐบาลไทยจะแค่รอรับมืออย่างเดียวโดยไม่ได้ทำงานเชิงรุกเลยหรือ การจัดการปัญหาในอนาคต เราควรคาดการณ์ไว้และจัดการก่อน แต่นี่กลายเป็นว่า ทุกครั้งเราต้องรอให้เกิดเรื่อง จนแก้ไม่ได้แล้ว