เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษาและอาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวชายขอบ” ถึงสถานการณ์ในรัฐฉาน ภายหลังจากกองกำลังโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army- MNDAA) สามารถยึดพื้นที่ด้านการทหารของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ในเมืองล่าเสี้ยวได้สำเร็จซึ่งหมายถึงการยึดเมืองล่าเสี้ยวได้ด้วย ว่าเป็น momentum ที่สำคัญในการรุกคืบทางยุทธศาสตร์ของกองกำลัง 3 พี่น้อง ที่ทำให้ทหารพม่าอาจต้องคิดหนักมากขึ้น
ทั้งนี้กลุ่มกองกำลังพันธมิตรชาติพันธุ์ในนาม “สามพี่น้อง” The Brotherhood Alliance ประกอบด้วย กองทัพโกก้าง MNDAA กองทัพตะอางหรือปะหล่อง (Ta’ang National Liberation Army-TNLA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army-AA) ได้ปฏิบัติการโจมตีกองทัพพม่าในชื่อ Operation 1027 มาตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2566
รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า เกิน 3 ปีแล้วที่กองบัญชาการกองทัพภาคของพม่าไม่เคยถูกตีแตกเลยสักแห่ง แต่เมื่อกองบัญชาการในเมืองล่าเสี้ยวถูกยึด ส่งผลเชิงจิตวิทยามาก อาจมีความหวั่นเกรงว่าจะเป็นระลอกคลื่นว่า หากล่าเสี้ยวแตก เมืองตองยี เกซี โขหลำ เชียงตุง จะอย่างไรต่อ รวมถึง Central Command หรือกองทัพภาคกลางที่มัณฑะเลย์ ที่เหมือนกับว่าการยึดครั้งนี้
“กองกำลังโกก้างยึดล่าเสี้ยวเป็นหลัก กองกำลังประชาชน (People’s Defense Force-PDF) มัณฑะเลย์ผสมกับกองกำลังตะอาง TNLA น่าจะทำให้ทหารพม่ามีความหวั่นเกรงเรื่องความปลอดภัยกองบัญชาการกองทัพภาคกลางที่มัณฑะเลย์ด้วยซ้ำไป ตอนนี้ต้องรอดูว่าทหารพม่า การรักษากองบัญชาการภาคทหารเหล่านี้ไม่ให้ถูกตีแตกเป็นโดมิโนได้อย่างไร อาจจะต้องมีการเจรจาต่อรอง ท่าทีจีนเป็นอย่างไร จะต้องเป็นปัจจัยที่พิจารณาประกอบกัน จะเบรกไว้แค่นี้หรือตี military command (ฐานบัญชาการทหารพม่า) อีก”
เมื่อถามว่าภาคเหนือรัฐฉานอยู่ในเขตอิทธิพลกองกำลังสามพี่น้องเกือบหมดแล้ว หากยึดล่าเสี้ยวได้ ใช่หรือไม่
รศ.ดุลยภาคกล่าวว่า “ ผมว่าอย่างนั้นก็ไม่ผิดเพราะเมืองล่าเสี้ยวมีประชากรเกินหนึ่งแสน เป็นเมืองใหญ่สุดในรัฐฉานเหนือ กองทัพภาคของพม่าก็อยู่ตรงนั้น Burma road เส้นทางเศรษฐกิจต้องผ่านล่าเสี้ยว ยึดล่าเสี้ยวได้ก็เรียบร้อย ถ้าถามว่าในอนาคตถ้าทหารพม่าไม่มายึดคืนอีกหรือ รูปลักษณ์ทางการปกครองจะเป็นยังไง ผมว่าจะคล้ายๆ เครือสมาพันธรัฐว้าจีน”
“สรุปคือภูมิทัศน์รัฐฉาน อาจจะฉีกออกเป็นสองแนว คือแนวหนึ่งเป็นเขตที่อยู่ในอารักขาของจีนที่มีกองกำลังว้า คุมเป็นพี่ใหญ่ อยู่ในรัฐฉานตอนบนทั้งหมด รวมถึงรัฐว้าแถวปางซาง เมืองลา และอาจลงมาชายแดนไทย ตรงว้าใต้ ส่วนอีกกลุ่มเป็นรัฐฉานที่มีสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State-RCSS) ของเจ้ายอดศึก มีกองกำลังปะโอ แดง-ขาว แถวเมืองตองยี สี่แสง อาจจะมีกองกำลังรัฐฉานเหนือ (Shan State Progress Party-SSPP) ที่อยู่รัฐฉานเหนือและกลางๆ ด้วย แบ่งออกสองส่วนนี้จะเริ่มเห็นชัด”
ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับรัฐไทยนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองควรเป็นอย่างไร รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ไทยต้องให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการเข้าไปมีส่วนในการพัฒนาสันติภาพ โดยเปิดการทูตตไว้ 4 ลู่ โดยลู่ 1 อยู่ที่ Burman heartland ที่ราบภาคกลางของพม่า และเนปีดอว์ ไปกระชับสัมพันธ์กับทหารพม่าไว้เพราะเขายังมีอำนาจในพื้นที่ ลู่ 2 อาณาบริเวณชายแดน เช่น รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐฉาน เปิดให้กองกำลังชาติพันธุ์ชายแดนติดต่อได้ ลู่ 3 เราต้องสานสัมพันธ์กับจีน อินเดีย และลู่ 4 เน้นอาเซียน
“ไทยต้องอย่ามองพม่าหยุดอยู่แค่ชายแดนตะวันตก เราจะต้อง move forward คือก้าวออกไปข้างหน้า สร้างเขตอิทธิพลให้ไทย เช่น พื้นที่รัฐฉานตอนใต้ เราจะต้องคิดแล้วว่าจะมารับปัญหายาเสพติดที่เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน อย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องไปสร้างวงการทูตเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดหรือร่วมมือในลุ่มน้ำโขงโดยดึงจีน ว้า ลาว เข้ามาคุยด้วย เป็นการวางกำลังการทูตส่วนหน้าเพื่อให้ประเทศไทยรักษาอิทธิพลในเขตรัฐฉานใต้
(อ่านสัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.ดุลยภาค ใน https://transbordernews.in.th/home/?p=39340 )
ขณะที่ ดร.ศิรดา เขมานิฏฐาไทนักวิชาการคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า สถานการณ์ในรัฐฉานนั้นมีความซับซ้อนอย่างมาก ในเรื่องของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าเท่านั้น แต่ยังมีการสู้กันเองของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ แม้กระทั่งคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน
“ความสัมพันธ์ของกองกำลังว้ากับกองกำลังอื่นๆ ในรัฐฉานซับซ้อนมากๆ ไม่สามารถที่จะมองได้ว่ากลุ่มนี้ take side กลุ่มนี้ กลุ่มนี้จะเป็นพันธมิตรต่อกัน กลายเป็นว่าว้า คือตัวแปรสำคัญของการเมืองภายในรัฐฉาน ยุทธศาสตร์ในทางทหารก็ส่งผลต่ออำนาจทางการเมือง ผู้ที่มีอำนาจมากมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างอิทธิพลได้มากกว่า ทำให้กองกำลังชาติพันธุ์อื่นๆมีความลักลั่นว่าจะอยู่ใต้ว้าดี หรือว่าจะประนีประนอมอย่างไร ทำให้ว้าเป็นตัวแสดงสำคัญในรัฐฉาน”ดร.ศิรดา กล่าว
ดร.ศิรดา กล่าวว่าการสู้รบที่เมืองล่าเสี้ยว ทำให้เห็นภาพการอพยพครั้งใหญ่จนรถติดยาวเหยียด โดยปกติคนไทใหญ่ที่เข้ามาทำงานในเชียงใหม่จะอยู่ระยะหนึ่งก็กลับ แต่กลายเป็นว่าหลัง Operation 1027 เขามากันทั้งครอบครัวเพราะอยู่ไม่ได้จริงๆ เกิดการสู้รบในรัฐฉานเหนือ
“บางหมู่บ้านมากันวันละหลักร้อย อาทิตย์ละหลักร้อย นี่แค่ 1 หมู่บ้าน ไม่ต้องนึกถึงว่าทั้งเมืองและหลายเมืองบริเวณรัฐฉานเหนือ จะเข้ามาเยอะขนาดไหน เราจะเห็นภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ เพราะว่ากองทัพพม่าใช้ปืนใหญ่ในการโจมตี และการโจมตีทางอากาศโดยไม่เลือก เพราะฉะนั้นพลเรือนโดนกันหมด
“ขณะนี้มีคนจำนวนมากที่หาหนทางอยู่ไทยไปในระยะยาว เขาต้องหาช่องทางให้ลูกหลานได้เข้าเรียนเพราะหมดหวังที่จะได้กลับ”
ดร.ศิรดากล่าวว่า เมืองล่าเสี้ยวเป็นเมืองใหญ่มากในรัฐฉานเหนือ คนรวยและคนชั้นกลางอยู่เยอะมาก พวกเขาต้องหนีออกมา เดินทางไล่ลงมาตามรัฐฉานเหนือ รัฐฉานกลาง ปางโหลง ตองยี แล้วมาประชิดชายแดนไทย ประชาชนจำนวนมากเลือกเข้ามาทางด่านท่าขี้เหล็ก บางส่วนหลบหนีเข้าเมืองในช่องทางธรรมชาติ ใครที่พอที่มีเงิน มี connection ก็เข้ามาอยู่ฝั่งไทยชั่วคราว แล้วก็กลับไปต่อวีซ่า ซึ่งคนกลุ่มนี้เยอะมาก ปรากฏการณ์นี้จะคล้ายๆ กับตอนที่สู้รบในเมืองเมียวดี ขณะนี้รัฐไทยยังไม่มีนโยบายรองรับกับคนที่หนีมาจากพื้นที่ไกลๆ ในพม่า
“ที่ผ่านมาไทยมีแต่นโยบายเชิงรับอย่างเดียว ทั้งๆ ที่เราน่าจะคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ในพม่าไม่มีทางจบลงง่ายๆ แล้วรัฐบาลไทยจะแค่รอรับมืออย่างเดียวโดยไม่ได้ทำงานเชิงรุกเลยหรือ การจัดการปัญหาในอนาคต เราควรคาดการณ์ไว้และจัดการก่อน แต่นี่กลายเป็นว่า ทุกครั้งเราต้องรอให้เกิดเรื่อง จนแก้ไม่ได้แล้ว” ดร.ศิรดา กล่าว
(อ่านสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ศิรดา ใน https://transbordernews.in.th/home/?p=39328 )
————
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.