รัฐบาลอินเดียเตือนประชาชนที่คิดจะเดินทางไปเมียนมา ลาว กัมพูชา และฮ่องกง ระวังถูกแก๊งอาชญากรข้ามชาติหลอกไปทำงานเยี่ยงทาสในคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียหารือกับไทยและกัมพูชานอกรอบการประชุมอาเซียนที่ลาวเป็นเจ้าภาพ เพื่อหาทางช่วยเหลือเหยื่อชาวอินเดียซึ่งถูกแก๊งไซเบอร์หลอกไปทำงานในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
สำนักข่าว News18 รายงานเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2024 ว่ากระทรวงกิจการภายในและกระทรวงการบินพลเรือนอินเดีย ออกมาตรการเตือนประชาชนให้ระมัดระวังคำชักชวนหรือโฆษณาชวนเชื่อให้ไปทำงานในเมียนมา ลาว กัมพูชา และฮ่องกง เพราะอาจตกเป็นเหยื่อแก๊งอาชญากรข้ามชาติซึ่งก่อคดีไซเบอร์ด้วยการหลอกลวงคนให้ลงทุนหรือเล่นการพนันออนไลน์แล้วฉ้อโกงเงิน โดยที่ผ่านมามีชาวอินเดียราว 500 ราย ถูกหลอกไปทำงานล่อลวงผู้คนให้กับแก๊งเหล่านี้ ถ้าใครขัดขืนจะถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและถูกทำร้ายร่างกาย
ทางการอินเดียย้ำว่าต้องเพิ่มสื่อประชาสัมพันธ์และการรณรงค์ที่สนามบินต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อให้ชาวอินเดียที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศตระหนักถึงภัยการหลอกลวงของกลุ่มอาชญากรทางไซเบอร์ที่ยังคงก่อเหตุอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยพื้นที่ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเป็นแหล่งปฏิบัติการ โดยทางการอินเดียเตรียมแนะนำวิธีสังเกตกลโกงต่างๆ ที่แก๊งเหล่านี้ใช้เพื่อหลอกลวงคนไปทำงานผิดกฎหมายอีกช่องทางหนึ่งด้วย
ขณะที่สำนักข่าว The Indian Express รายงานว่า สุพรหมณยัม ชัยศังกระ (Subrahmanyam Jaishankar) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ได้พูดคุยกับผู้นำรัฐบาลลาว และตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชานอกรอบการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนซึ่งลาวเป็นเจ้าภาพจัดที่กรุงเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม เพื่อหารือแนวทางช่วยเหลือพลเมืองชาวอินเดียที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการอาชญากรรมทางไซเบอร์ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งยังขอบคุณรัฐบาลลาวที่ให้ความร่วมมือจนสามารถช่วยเหลือชาวอินเดีย 518 รายพ้นเงื้อมมือแก๊งไซเบอร์ซึ่งถูกควบคุมโดยอาชญากรจีนได้สำเร็จในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ล่าสุดมีรายงานว่าชาวอินเดีย 13 รายเพิ่งได้รับการช่วยเหลือจากเครือข่ายแก๊งไซเบอร์จีนในลาว แต่ยังมีเรื่องน่ากังวลใจเพราะเครือข่ายแก๊งจีนผิดกฎหมายยังคงก่อเหตุในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอื่นๆ โดยพบข้อมูลบ่งชี้ว่าประเทศไทยถูกแก๊งเหล่านี้ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงเหยื่อไปทำงานให้กับธุรกิจสีเทาในเมียนมาและกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด นอกจากจะเป็นคดีฉ้อโกงแล้วยังเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะมีการกักขังผู้อื่นให้ทำงานเยี่ยงทาสด้วย
รมว.ต่างประเทศอินเดียระบุเพิ่มเติมว่าสถาบันการเงินการธนาคารในประเทศจะต้องเพิ่มมาตรการตรวจสอบย้อนรอยเพื่อติดตามตัวผู้มีส่วนรู้เห็นในการฟอกเงินให้ขบวนการหลอกลวงคนทางไซเบอร์เหล่านี้ ทั้งยังจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ เพราะการทำธุรกรรมการเงินเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นการก่อเหตุข้ามพรมแดนซึ่งเกี่ยวพันหลายประเทศ
อ้างอิง:
News18
The Indian Express