Search

ตามคาด! มินอ่องหล่ายต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 6 เดือน ที่ปรึกษา UN เตือนเมียนมาเสี่ยงวิกฤต อ่วมทั้งภัยสู้รบ-น้ำท่วม

รัฐบาลทหารพม่าต่อเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศ ระบุเหตุผลเพื่อเก็บข้อมูลสถิติประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ด้านที่ปรึกษาพิเศษสหประชาชาติแถลงเตือนเมียนมาเสี่ยงเจอวิกฤตด้านมนุษยธรรม ทั้งจากเหตุสู้รบและภัยธรรมชาติ พบประชาชนถูกบังคับเกณฑ์ทหารและถูกใช้เป็นโล่มนุษย์ ส่วนสำนักงานโครงการอาหารโลกในรัฐยะไข่ถูกปล้นสะดมจากกลุ่มไม่ทราบฝ่าย

สำนักข่าว Reuters รายงานว่าที่ประชุมสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) เห็นชอบขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่ออีก 6 เดือนทั่วประเทศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2024 ไม่ผิดจากการประเมินสถานการณ์ของนักวิเคราะห์หลังจากที่เพิ่งมีข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้ก่อรัฐประหารปี 2021 ประธาน SAC ผู้ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายกรัฐมนตรี รวบเก้าอี้ประธานาธิบดีรักษาการมาครองอีกหนึ่งตำแหน่ง

สื่อที่เป็นกระบอกเสียงรัฐบาลทหารพม่าระบุว่าการขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การเก็บข้อมูลเชิงสถิติของประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งประธาน SAC เคยปราศรัยขณะเดินทางเยือนรัสเซียว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในปี 2025 และย้ำว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ได้คิดยื้ออำนาจ อย่างไรก็ดี การต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินสอดคล้องกับช่วงที่กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยกระดับปฏิบัติการโจมตีหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และสามารถยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์จากกองทัพพม่าได้หลายแห่ง

ขณะเดียวกัน อลิซ ไวรีมู เดริตู ที่ปรึกษาพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ออกแถลงการณ์ร่วมกันกับ โม บลีคเกอร์ ที่ปรึกษาพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความรับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครอง เตือนว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมาอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤติ จำเป็นต้องหาทางป้องกันและบรรเทาไม่ให้สถานการณ์ลุกลามไปมากกว่านี้ โดยมีการประเมินว่าประชาชนราว 18.6 ล้านคนกำลังต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ขณะที่ผู้อพยพพลัดถิ่นมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน

แถลงการณ์ของที่ปรึกษาพิเศษทั้งสองรายระบุว่า นับตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยกระดับปฏิบัติการโจมตีกองทัพพม่าในเดือนตุลาคม 2023 ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการสู้รบอย่างต่อเนื่อง มีการเผยแพร่วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติเพิ่มขึ้น และมีการใช้ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยในบางพื้นที่ เช่น รัฐยะไข่ พบว่าชาวโรฮิงญาตกเป็นเป้าโจมตีจากทั้งทหารพม่าและกองทัพอาระกันซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โดยกองทัพพม่าบังคับประชาชนเกณฑ์ทหาร ส่วนกลุ่มติดอาวุธถูกกล่าวหาว่าใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์ระหว่างเกิดเหตุปะทะ

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า สำนักงานย่อยของโครงการอาหารโลก (World Food Programme หรือ WFP) ในเมืองหม่องดอว์ ทางเหนือของรัฐยะไข่ ถูกบุกปล้นเผาจากกลุ่มไม่ทราบฝ่าย ทำให้เสบียงอาหารสำหรับหนึ่งเดือนของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงราว 64,000 คนถูกทำลายวอดวาย ความสูญเสียเหล่านี้จะทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมายากลำบากขึ้น เพราะการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการช่วยเหลือด้านต่างๆ ของสหประชาชาติในปีนี้ที่รวบรวมได้คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณราว 994 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ตั้งเป้าไว้เท่านั้น

อีกประเด็นที่จะทำให้ประชาชนเมียนมาได้รับความเดือดร้อนสาหัสยิ่งกว่าเดิมคือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในรัฐคะฉิ่น เขตพะโค เขตอิรวดี เขตสะกาย และเขตมะกวย หลังจากมีพายุฝนกระหน่ำรุนแรงและน้ำท่วมต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารเพราะผลผลิตไม่เพียงพอ

อ้างอิง: Reuters, UN

On Key

Related Posts

ผวาเหมืองทองเกลื่อนน้ำกก กองกำลังว้าจับมือจีนขุดแร่ทำลำน้ำขุ่น ชาวท่าตอนผวาเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลไทยปกป้อง หวั่นสารพิษปนเปื้อนลงสายน้ำแหล่งประปาของคนเชียงราย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 น.ส.หอม ผู้ประสานงานมูลRead More →

เพลงชาติกะเหรี่ยงดังกระหึ่มแม่น้ำสาละวินหลังปลอดทหารพม่าในรอบกว่า 20 ปี ชาวบ้าน 2 ฝั่งแดนร่วมจัดงานวันหยุดเขื่อนคึกคักหลังพื้นที่ปลอดทหารพม่า “ครูตี๋”ใช้บทเรียนแม่น้ำโขงถูกทำลายปางตายแนะชุมชนสู้

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่บริเวณหาดทรายริมแม่นRead More →