เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 นายเกรียงไกร ชีช่วง ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 8- 10 ส.ค.นี้ จะมีการจัดงาน “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” ที่กรุงเทพฯ โดย 8 ส.ค. มีกิจกรรมที่อาคารสำนักงานไทยพีบีเอส ถ.วิภาวดีรังสิต และ 9-10 ส.ค. มีกิจกรรมที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยมีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง 46 กลุ่มชาติพันธุ์ ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองจากภูมิภาคเอเชีย ภาคีองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ เข้าร่วม โดยมีเป้าหมายการจัดงานเพื่อร่วมเฉลิมฉลองกฏหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งหวังให้ประเทศไทยมีการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองให้เป็นรูปธรรม
“วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยจัดคู่ขนานไปกับวันชนเผ่าพื้รเมืองสากล คือวันที่ 9 ส.ค.ของทุกปี ที่ชนเผ่าทั่วโลกมีปฎิญาณร่วมกัน นิยามการกำหนดและประกาศอัตลักษณ์ มีทำกระบวนการขับเคลื่อนร่วมกนมากว่า 20 ปี โดยกิจกรรมที่ไทยพีบีเอสจะเป็นการเฝ้าระวังเรื่องนโยบายสาธารณะและการผลักดันกฎหมายรวมไปถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ส่วนที่ศูนย์มานุษยวิทยาฯ จะเป็นพื้นที่ปรึกษาหารือหรือล้อมวงสะท้อนปัญหาของพี่น้องจากทั่วประเทศ” นายเกรียงไกร ระบุ
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังมีการพิจารณาร่างกฎหมายชาติพันธุ์หลายฉบับ ซึ่งหากมีการประกาศใช้กฎหมายจะถือเป็นมิติใหม่ทางกฎหมายที่จะมีการคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากการคุ้มครองภายใต้ร่างกฎหมายเหล่านี้จะครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม กลไกทางกฎหมาย การมีกรรมการอิสระ การจัดตั้งสภาอาวุโส และสิทธิของสตรี รวมถึงหากเกิดกรณีการละเมิดสิทธิในเรื่องต่าง ๆ ชาวบ้านจะได้รับประโยชย์จากกฎหมายนี้ด้วย ตนหวังว่าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวัฒนธรรมจะสามารถผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเป็นกฎหมาย เพื่อให้เกิดการยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยอย่างแท้จริง
ขณะที่เมื่อวานนี้(1 ส.ค.) ที่อาคารรัฐสภา นายมานพ คีรีภูวดล โฆษกคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ….. และคณะ แถลงข่าวระบุว่า ในที่ผ่านมาพรรคการเมืองมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ 2 ฉบับ คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. …. โดยพรรคก้าวไกล เและ 2.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. น.ส. ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส. พรรคเพื่อไทย รวมถึงภาคประชาชนได้เสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ 1.ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. โดย นายศักดิ์ดา แสนมี่ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 12,888 คน 2.ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. …. โดย นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 14,954 คน เป็นผู้เสนอ
นายมานพ กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนกฎหมายชาติพันธุ์เป็นวาระที่สำคัญของประเทศ ที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน ถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่จะก้าวสู่สังคมพหุวัฒนธรรมที่โอบรับคนทุกกลุ่มวัฒนธรรมไว้อย่างเสมอภาคกัน ซึ่งหลักการของร่างกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ โดยมีหลักการ 3 ประการ
นายมานพ กล่าวต่อว่า 1.คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ยึดหลักสิทธิทางวัฒนธรมโดยให้การคุ้มครองชาวไทยทุกกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิในการเลือกดำรงวิถีชีวิตตามจารีตประเพณีและวัฒนธรรม รวมทั้งคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองของรัฐ 2.ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์โดยมองว่าความเป็นชาติพันธุ์ คือ โอกาสแห่งการพัฒนา โดย “ส่งเสริมศักยภาพ” สร้างกลไกการมีส่วนร่วมให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาเป็น “หุ้นส่วน” ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 3.สร้างความเสมอภาค บนหลักการของการให้ “ความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรม” ด้วยการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมี “ศักดิ์ศรี” ให้หลักประกันความเท่าเทียมที่มีโอกาสเข้าถึงอย่างเสมอภาพเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายมานพ กล่าวอีกว่า สำหรับความก้าวหน้าของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้มีการประชุมมาแล้วจำนวน 22 ครั้ง และในวันนี้(1 ส.ค.) ได้มีการพิจารณารายละเอียดในรายมาตราครบทั้ง 35 มาตราตามร่าง พ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยเป็นการพิจารณาเห็นชอบในหลักการร่างมาตราต่าง ๆ ในเบื้องต้น ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนร่างทั้งฉบับในประเด็นการใช้ถ้อยคำให้สอดคล้องกันทั้งฉบับ ก่อนที่จะมีการนัดหมายคณะกมธ. วิสามัญประชุมเพื่อลงมติรายมาตราอีกครั้ง