เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคมที่ผ่านมา นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการบริหารจัดการน้ำชีตอนล่างจากชาวบ้านในเครือข่ายฯ โดยเมื่อวานนี้วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ได้เดินทางไปที่วัดบ้านอีโก่ม ต.เทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมีชาวบ้านกว่า 400 คน รอให้การต้อนรับ และในวันที่ 2 สิงหาคม ได้เดินทางลงพื้นที่ วัดบ้านบุ่งหวาย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ซึ่งมีชาวบ้านกว่า 300 คน รอให้การต้อนรับ
นายสิริศักดิ์ กล่าวว่าประเด็นที่ได้นำเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะ คือ 1.สรุปมติของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจากโครงการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย แม่น้ำชี ซึ่งหลังจากการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชี โดยนายธนสาร ธรรมสอน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแทน เมื่อวันที่ 11 และ 19 กรกEาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมติเห็นชอบจำนวนรายชื่อผู้เรียกร้องสิทธิ์ จำนวนแปลง จำนวนไร่ (รอบแรก จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร) และอัตราค่าชดเชยเยียวยา ค่าครองชีพในการดำเนินวิถีชีวิตในห่วงระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกว่า 3 เดือน และมีมติเห็นชอบกรอบระยะเวลาในการชดเชยเยียวยาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี
2.ปัญหาการบริหารจัดการน้ำชี คือต้องอธิบายให้เข้าใจเพราะน้ำคือวิถีชีวิตที่ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ตามฤดูกาล มีความเคารพตามความเชื่อ มีความเชื่อมโยงยึดโยงผูกพันกับการดำเนินวิถีชีวิตชาวบ้านที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แต่รัฐมองน้ำเพื่อเข้ามาควบคุมและจัดการ ผ่านเครื่องมือ เช่น การสร้างเขื่อนทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านในลุ่มน้ำชีตอนล่างในมิติต่าง ๆ
“แม่น้ำชีก่อนการสร้างเขื่อน เป็นสายน้ำที่ทำหน้าที่ในการรับน้ำจากลำน้ำพอง ลำน้ำปาว ลำน้ำยัง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี แล้วไหลลงแม่น้ำมูล แต่หลังจากการมีการสร้างเขื่อนทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลง แม่น้ำชีไม่ได้ทำหน้าที่พร่องน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากเหมือนเดิม แต่ถูกจัดการจากหน่วยงานรัฐในการเปิด-ปิด เขื่อน ทำให้น้ำเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรนานกว่า 3 เดือน ขยายวงกว้าง ส่งผลให้ข้าวนาปีเสียหายอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่าฝนตกแค่ไม่กี่วัน แต่น้ำชีได้หนุนขึ้นสูง บางจุดล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร”นายสิริศักดิ์ กล่าว
ด้านนายนิรันดร คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่าเป็นที่น่าสังเกตว่ารูปแบบการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง และนักพัฒนาในพื้นที่ มีการยกระดับการทำงานควบคู่กับพัฒนาการการแก้ไขปัญหาที่คืบหน้าไปมาก ได้พัฒนายกระดับกลยุทธ์การขับเคลื่อนงานในลักษณะ New Social Movements หรือ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ที่เน้นการร่วมทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท่าทีกัลยาณมิตร รวมถึงการใช้ความรู้ท้องถิ่นในการชี้แจงอธิบายเพื่อให้นำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา
“คนลุ่มน้ำชีได้วิธีปกปักรักษาอย่างยั่งยืน ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจคือการพัฒนาแผนฟื้นฟูภาคประชาชนควบคู่กับการช่วยกำกับติดตามของทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งจะมีแผนคู่ขนานที่จะต้องมีการพัฒนากลไกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงคนปฏิบัติการ เพื่อร่วมออกแบบและขับเคลื่อนการฟื้นฟูนี้ อย่างเป็นรูปธรรม”นายนิรันดร กล่าว
ขณะที่ นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตลอด 2 วันว่า หลังจากได้ฟังการนำเสนอข้อมูลของกระบวนการแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชีตอนล่างที่ชาวบ้านได้เรียกร้องสิทธิจากรัฐบาลมาเป็นระยะเวลา 16 ปี ซึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชีถือว่าคืบหน้าไปมาก เหลือเพียงไม่กี่ขั้นตอนก็เข้า สู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการชดเชยเยียวยาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบแล้ว ส่วนประเด็นแผนฟื้นฟู อาชีพ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นระยะเวลา 10 ปีนั้น ทางผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่าทางเครือข่ายชาวบ้านน้ำชีตอนล่าง จะต้องจัดเวทีเพื่อให้พี่น้องได้นำเสนอ แลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ ของเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกมิติของชุมชน
“รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องยึดชาวบ้านเป็นศูนย์กลางในการรับฟังปัญหาและข้อมูลจากชาวบ้านในประเด็นเรื่องการจัดการน้ำให้เป็นระบบ แบบบูรณาการที่จะต้องให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน”นายทรงศัก กล่าว