Search

นิติศาสตร์เพื่อสังคมประจำปี 67 แด่ “อาจารย์แหวว” พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร

———-

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภาได้มอบรางวัลอุกฤษ มงคลนาวิน “นิติศาสตร์เพื่อสังคม”ประจำปี 2567 แด่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร หรือ อาจารย์แหวว หลายคนนึกถึงประเด็น “สัญชาติ”ลอยมาในทันที ทั้งๆที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดร.พันธุ์ทิพย์ ซึ่งเป็นนักนิติศาสตร์ ไม่ได้ขับเคลื่อนสังคมเฉพาะในประเด็นสัญชาติเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องสิทธิเด็ก เรื่องสื่อสารมวลชน เรื่องกลุ่มคนเปราะบางต่างๆ

กว่า 30 ปี นอกที่อาจารย์แหววใช้เวลาในการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถแล้ว นักวิชาการผู้นี้ยังมุ่งหน้าลงพื้นที่สร้างห้องเรียนให้กับชุมชนเพื่อให้เรียนรู้งานด้านกฏหมายโดยเฉพาะเกี่ยวกับสถานะบุคคลในภาพใหญ่ แต่ภาพความเคลื่อนไหวมักถูกมองในเรื่องการแก้ปัญหา “คนไร้สัญชาติ”

ปี 2547 อ.แหวว ได้ผลักดันให้เกิดแนวคิดในการทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในบรรดาลูกศิษย์ที่เข้ามาทำงานหรือทำวิทยานิพนธ์ด้วย จึงเกิดเป็นโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ที่ผ่านมามีประชาชนและนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากที่เผชิญการถูกละเมิดสิทธิได้มาขอคำปรึกษา บางคนสอบเข้าแพทย์-พยาบาลได้ บางคนได้รับโควตาไปศึกษาต่างประเทศ บางคนมีโอกาสไปแข่งกีฬาระดับนานาชาติ แต่คนเหล่านี้ยังไม่ได้รับสถานะบุคคลตามกฎหมาย และกำลังจะถูกตัดสิทธิ ซึ่ง อ.แหวว และคณะนิติศาสตร์ได้ผลักดันขับเคลื่อนจนกลายเป็นข่าวโด่งดังในหลายกรณี ทำให้ผู้มีอำนาจโดยเฉพาะนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้เห็นข้อเท็จจริง และเข้ามาแก้ไขปัญหาข้อติดขัดต่างๆของระบบราชการ จนปัญหาได้รับแก้ไขปัญหาในที่สุด

ปัจจุบันแนวคิดคลินิกกฎหมายได้กระจายไปหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งในมหาวิทยาลัย ชุมชน และโรงพยาบาล ผ่านการทำงานของบรรดาลูกศิษย์ อ.แหวว ที่ยึดมั่นในแนวคิดเดียวกัน

เช่นเดียวกับการลงพื้นที่มุ่งหน้าสู่ชุมชนของ อ.แหวว ได้สร้างคุณประโยชน์และกลายเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลไว้อย่างน่าสนใจ โดยในปี 2545 ชาวแม่อาย จ.เชียงใหม่ 1,243 คนถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนราษฎร และกลายเป็นคนไร้สัญชาติ แต่ อ.แหวว และคณะได้ลงพื้นที่และเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิของชาวแม่อายเหล่านี้ และได้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง จนในที่สุดศาลได้มีคำสั่งให้นำชื่อชาวบ้านคืนสู่ทะเบียนราษฎรดังเดิม อย่างไรก็ตามระหว่างนั้น อ.แหวว ยังนำทีมลูกศิษย์จากหลายมหาวิทยาลัย โดยมี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ เป็นหัวหอก ผลักดันให้ชุมชนร่วมกันจัดทำโครงการ “คลินิกกฎหมายแม่อาย” เพื่อให้ชาวบ้านร่วมกันเรียนรู้และช่วยเหลือตัวเอง เนื่องจากในพื้นที่แม่อายและชายแดน ประชาชนยังต้องเผชิญปัญหาสถานะบุคคลจำนวนมาก

“ท่านเป็นครูเกินร้อย ในส่วนของวิชาความรู้ท่านให้อย่างเต็มที่เกินร้อย และนำวิชาการมาช่วยเหลือชาวบ้านแนะนำได้อย่างยอดเยี่ยม ยิ่งกว่าผู้บริหารหลายคน ทั้งๆที่เป็นครูอยู่ในห้องเรียน แต่ภาพไม่ได้อยู่ในห้องเรียนแต่ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน”พระมหานิคม (พระมหาภินิกขมโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสอารามหลวง วัดท่าตอน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ให้มุมมองถึงการทำงานของ รศ.พันธุ์ทิพย์ ซึ่งในการขับเคลื่อนงานสถานบุคคลที่ อ.แม่อาย พระมหานิคมได้เมตตาให้คำปรึกษาในฐานะคนในพื้นที่

“แม่อายที่เกิดเรื่องโดยเฉพาะชาวบ้าน 1,243 คนที่ถูกถอนชื่อจากทะเบียนราษฎร ท่านเป็นผู้ให้คำแนะนำที่ดียิ่งให้กับชาวแม่อาย ท่านให้รู้และข้อมูล ตอนแรกชาวบ้านไม่มีองค์ความรู้เรื่องข้อกฎหมาย ทุกคนกลัวข้าราชการเพราะตัวเองไม่มีความรู้ พอไปอำเภอ เขาว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น ชาวบ้านไม่คิดว่าการเรียกร้องสิทธิจะทำได้ แต่เมื่ออาจารย์พันธุ์ทิพย์และคณะมาให้ความรู้ ทำให้ชาวบ้านมีความกล้ามากขึ้น ท่านเข้ามาจึงเป็นที่พึ่งถือว่าถูกที่ถูกเวลา”

พระมหานิคมกล่าวด้วยว่า เป็นความเหมาะสมอย่างยิ่งที่นักวิชาการได้มาลงพื้นที่และช่วยเหลือชาวบ้านนอกห้องเรียน เพราะการสอนปกติทั่วไปให้ความรู้เชิงวิชาการอย่างเดียว แต่ไม่ได้นำมาไปใช้หรือจัดการกับความเป็นจริง

ขณะที่หม่อง ทองดี อดีตเด็กที่ประสบปัญหาสัญชาติระหว่างที่ได้รับโอกาสให้เดินทางไปร่วมแข่งขันเครื่องร่อนเครื่องบินกระดาษ ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2552 แต่ความฝันของเขากำลังจะดับลงจนกระทั่ง รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ ได้เข้ามาช่วยเหลือ

“ผมรู้สึกดีใจและรักอาจารย์แหววมากๆเลยครับ จำได้ว่าตอนเด็กๆตอนจะไปญี่ปุ่นตอนนั้น กว่าจะได้ไปยากมาก ถ้าไม่ได้อาจารย์แหววและอาจารย์ท่านอื่นๆคงไม่ได้ ”หม่องพูดถึงตัวเองในวัย 12 ปี

“ตอนนั้นอาจารย์แหววถามผมตลอดว่าสู้ไหม ถ้าผมสู้ อาจารย์ก็จะสู้ จนสุดท้ายผมก็ได้ไปญี่ปุ่น

“อาจารย์เป็นคนที่ใจดีมากๆครับ คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาอยู่ตลอด คอยเตือนให้ทำแต่สิ่งดีๆ พอผมมีเคสเด็กไร้สัญชาติมาปรึกษา อาจารย์แหววก็จะคอยแนะนำตลอด บางทีถ้าผมมีแข่งเครื่องบินกระดาษ อาจารย์แหววก็จะไปให้กำลังใจอยู่ข้างๆสนาม

“บางครั้งถ้าผมมีเด็กไร้สัญชาติไปแข่งขัน อาจารย์ก็จะคอยถามอยู่ตลอดว่าติดขัดตรงไหนไหม มีอะไรให้ช่วยไหมอยู่ตลอดเลยครับ ผมขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้”

ขณะที่นายวีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงา เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2543 ว่า ระหว่างที่ตนพาเด็กชายชาวอาข่ารายหนึ่งไปขอเอกสารใบยืนยันการเกิดที่อำเภอ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพูดว่า “พ่อแม่ไม่มีบัตรประชาชนคนไทย พ่อแม่ไม่ใช่คนไทย”  เนื่องจากในตอนนั้น แม่ของเด็กได้ไปสมัครเข้าเรียนชั้น ป.1 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ครูในโรงเรียนจึงขอเอกสารยืนยันใบเกิดและทะเบียนบ้านแต่แม่ไม่มีเอกสาร

“ ตอนนั้นผมพอจะมีความรู้เรื่องการแจ้งเกิดอยู่บ้าง ผมจึงอาสาพาเด็กและผู้ปกครองไปแจ้งเกิดที่ที่ว่าการอำเภอ ในขณะที่เจ้าหน้าที่อำเภอเสียงแข็งกลับมาว่าทำไม่ได้เพราะเด็กไม่มีสัญชาติไทย ผมก็โต้แย้งกลับไปว่า ไม่มีได้อย่างไร เด็กเกิดในประเทศไทย” วีระบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ทำให้สนใจว่า “สัญชาติไทยเป็นอย่างไร”

ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่สัมวิทยากล่าวว่า เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ดร.พันธุ์ทิพย์ได้เปิดห้องเรียนออนไลน์ ให้ความรู้เรื่องกฎหมาย ด้วยเป้าหมายจะบันทึกเอกสารในรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ไว้เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสกลับไปฟังซ้ำเพื่อไปทำความเข้าใจ บทเรียนออนไลน์ของอาจารย์ได้รับความนิยมมาก ถ้าพูดในยุคนี้คือยอดวิวจำนวนมากเลยทีเดียว

“ช่วงที่ผมพัฒนาโปรแกรมและ website อยู่นั้น ผมได้มีโอกาสอ่านบทเรียนของอาจารย์และได้เรียนรู้กฎหมายไปด้วยอย่างไม่รู้ตัว ผมสนใจกฎหมายด้านสัญชาติมากขึ้น และมีบทเรียนหลายบทเรียนของอาจารย์ที่พูดถึงกฎหมายชุดนี้ เพราะกฎหมายสัญชาติต่อมาได้พัฒนาเป็นโปรแกรมฐานข้อมูลบุคคลไร้สัญชาติ (people database) ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กฎหมายสัญชาติ กฎหมายทะเบียนราษฎร กฎหมายคนเข้าเมือง กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นๆ ที่ต้องใช้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานต่างด้าว รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย”นายวีระ กล่าว

“อาจารย์แหววได้เข้าไปช่วยเหลือผู้คนที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคล ด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิต่างๆ มากมายจากการลงพื้นที่ไปศึกษาข้อเท็จจริง การทำเอกสารวิเคราะห์ข้อกฎหมายและวิเคราะห์ช่วยเหลือเคสต่างๆ การทำวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ นอกจากอาจารย์ได้นำไปสอนในชั้นเรียนของอาจารย์แล้ว อาจารย์ยังสอนผมและเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ให้มีความรู้ด้านกฎหมายด้วย และที่สำคัญการทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มาจากข้อมูลและข้อเท็จจริงจากพื้นที่ ทำให้เกิดรูปธรรมของกฎหมายขึ้นมา เช่นการขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 เป็นต้น นิติศาสตร์เพื่อสังคมของอาจารย์แหวว สำหรับผมคือ นิติศาสตร์เพื่อกลุ่มคนเปราะบางในสังคมไทย”

———-

On Key

Related Posts

ผวาเหมืองทองเกลื่อนน้ำกก กองกำลังว้าจับมือจีนขุดแร่ทำลำน้ำขุ่น ชาวท่าตอนผวาเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลไทยปกป้อง หวั่นสารพิษปนเปื้อนลงสายน้ำแหล่งประปาของคนเชียงราย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 น.ส.หอม ผู้ประสานงานมูลRead More →

เพลงชาติกะเหรี่ยงดังกระหึ่มแม่น้ำสาละวินหลังปลอดทหารพม่าในรอบกว่า 20 ปี ชาวบ้าน 2 ฝั่งแดนร่วมจัดงานวันหยุดเขื่อนคึกคักหลังพื้นที่ปลอดทหารพม่า “ครูตี๋”ใช้บทเรียนแม่น้ำโขงถูกทำลายปางตายแนะชุมชนสู้

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่บริเวณหาดทรายริมแม่นRead More →