เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 เวลา 9.30 น. ณ อาคารรัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนพูงอย (Phungoy dam ที่จะก่อสร้างบนแม่น้ำโขง) ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งความมั่นคงของรัฐที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเครือข่ายประชาชนจาก จ.อุบลราชธานี ได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกมธ.เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในการประชุมได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อ กมธ. ดังนี้ 1. กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ นายทรงชัย ชัยปฏิยุทธ (รองอธิบดีกรมฯ) 2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นางสาวณัฐจารีย์ ศรีเพ็ชร์ (ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจพลังงาน) 3. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายชุมลาภ เตชะเสน (ผู้ช่วยเลขาธิการฯ) 4. นายชัยรัตน์ พงศ์พีระ พลังงานจังหวัดอุบลราชธานี 5. นายศักดิ์น้อย เหลืองทองเปลว กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญเอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ วอเทอร์เอเชีย จำกัด (ประเทศไทย) 6. น.ส.สดใส สร่างโศรก ผู้ร้องเรียน 7. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน: ติดภารกิจและไม่ได้มอบหมายผู้แทน
ในที่ประชุม น.ส.สดใสในฐานะผู้ร้องได้ชี้แจงผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อนพูงอยอาจส่งผลต่อพื้นที่เขตแดนไทยจากการเปลี่ยนแปลงของระดับแม่น้ำโขงและร่องน้ำลึก โดยเกรงว่าจะสูญเสียพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี รวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของท้องถิ่นตลอดแนวชายแดนแม่น้ำโขง ที่จะเกิดจากปัญหาน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
ขณะที่ผู้แทนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ชี้แจงว่าหากการก่อสร้างเขื่อนพูงอยส่งผลกระทบ ก็จะมีคณะกรรมการสำหรับประเมินผลกระทบและแนวทางการรับมือ ซึ่งในระยะยาวจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-ลาวเพื่อการประสานงาน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายละเอียดโครงการและผลการศึกษาผลกระทบ ทั้งนี้หากเป็นไปตามที่ภาคประชาชนคาดการณ์จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดอุบลราชธานีอย่างมาก โดยจะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังง่ายขึ้นเป็นบริเวณกว้างมากขึ้นและท่วมขังยาวนานขึ้น
ส่วนผู้แทนบริษัทเอกชนยืนยันว่า ได้มีการประสานกับทุกหน่วยงานรัฐของไทยเพื่อสร้างความเข้าใจ
และจัดทำการประเมินผลกระทบตามหลักเกณฑ์และข้อสังเกตของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสมอ และให้ข้อมูลว่าโครงการเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี(Run-off-river) พร้อมมีระบบสะพานปลาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลาในแม่น้ำ โดยแม้จะมีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำจริงแต่จะไม่ทำให้เกิดปริมาณน้ำล้นตลิ่งและไม่ท่วมอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ นอกจากนี้โครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการอุทกภัย จ.อุบลราชธานี ซึ่งโครงการยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบ หากมีความจำเป็นก็สามารถยกเลิกได้
ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่าโครงการเขื่อนพูงอยตอนนี้มีเพียงการศึกษาผลกระทบในขอบเขตของพื้นที่สปป. ลาวเท่านั้น และยังอยู่ในขั้นตอนที่ลาวกำลังรวบรวมข้อมูลก่อนมานำเสนอให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงพิจารณาร่วมกัน โดยยังต้องรับฟังผลกระทบข้ามพรมแดนจากสมาชิกประเทศอื่นร่วมด้วย หลังจากนี้ทางการไทยจะทำการวิเคราะห์ผ่านอนุกรรมการวิชาการเพื่อให้ข้อคิดเห็น และเข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับภูมิภาค ก่อนร่วมจัดตั้งแผนปฏิบัติการร่วม(Joint Action Plan) เพื่อการติดตามผลกระทบและกำหนดมาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริง
ผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวว่า เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งแม้ลาวจะเป็นเจ้าของโครงการ
แต่ก็มีพันธกรณีตามกระบวนการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ต้องเคารพหลักความเท่าเทียมกันของรัฐ คือ การกระทำใดๆจะต้องไม่กระทบต่อรัฐอื่น ในข้อกังวลต่อการแบ่งเขตแดนนั้นจะเป็นเรื่องของการพิสูจน์ทราบและเจรจาแบ่งเขตแดนตามแนวร่องน้ำ อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมผลกระทบเรื่องระดับน้ำอย่างใกล้ชิด และจะนำเสนอความคิดเห็นที่ได้รับทราบต่อรัฐบาลเพื่อประกอบการพิจารณาการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนพูงอยต่อไป
ผู้แทน กฟผ.กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีการทำข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการเขื่อนพูงอย หากจะมีการซื้อขายจะต้องมีการพิจารณาผ่านคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจำต้องริเริ่มจากทางการลาวเป็นผู้เสนอเรื่องเข้ามา เพื่อให้มีการพิจารณาร่วมกันต่อไป
ทั้งนี้ในที่ประชุม กรรมาธิการฯหลายคนได้แสดงข้อกังวลถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าด้านการลงทุนจัดหาพลังงานเพิ่มเติมในลักษณะนี้ โดยต้องเปรียบเทียบกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงของประเทศและประชาชนตามแนวชายแดนไทย-ลาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่จะกระทบต่อแนวเขตแดนของไทย รวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตท้องถิ่นพร้อมทั้งเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการพิจารณาผลกระทบของโครงการ
———–