เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567 น.ส.กัลยา ทาสม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง ซึ่งถูกดำเนินคดีกรณีรับเด็กที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร 126 คนเข้าเรียนหนังสือ จนทำให้ถูกสอบวินัยร้ายแรงพร้อมกับคณะครู ในขณะที่คดีอาญาก็ถูกแจ้งข้อหาพาคนต่างด้าวเข้าเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และข้อหาให้ที่พักพิงแก่เด็ก โดยได้ขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความฯ ไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ส่วนเด็กๆทั้ง 126 คนถูกกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ร่วมกับตำรวจผลักดันออกนอกประเทศ
ทั้งนี้หลังจาก น.ส.กัลยา หรือครูปุ๊ ถูกดำเนินคดีจนตกเป็นข่าวช่วงหนึ่ง ขณะนี้ระยะเวลาได้ผ่านมาแล้ว 1 ปี แต่กลับไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน หรือแม้แต่การสอบวินัยร้ายแรงก็ไม่มีผลการพิจารณาออกมาแจ้งให้ทราบ
“ตั้งแต่เกิดเรื่องขึ้นมีสภาทนายความเข้ามาช่วยเหลือ หลายหน่วยงานเข้ามา จนถึงวันนี้เรื่องก็ยังอยู่ที่สำนักงานอัยการ จ.อ่างทอง ไม่มีการส่งฟ้องอะไร มีแต่เลื่อนนัดไปเรื่อยๆ วินัยก็ยังไม่สั่งลงโทษ เราก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เขาอาจจะรอผลทางอาญาหรือยังไงไม่ทราบ” น.ส.กัลยา กล่าว
ส่วนเด็กๆ จำนวน 20 กว่าคนที่อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ช่วยเหลือไว้ ทุกคนตัดสินใจตามครูปุ๊มายังโรงเรียนใหม่ที่ย้ายมาเพราะมีความหวังว่าจะได้เรียนหนังสือ แต่ก็ยังมีเรื่องติดขัดจนต้องให้เด็กๆย้ายออกจากโรงเรียน
“พอเราติดต่อไปที่โรงเรียนไหนก็ไม่มีใครรับ เลยบอกให้เด็กไปหาสมัครเรียนเอง หรือให้ผู้ปกครองพาไป” น.ส.กัลยา กล่าว
อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 กล่าวอีกว่าที่ผ่านมาต้องเดินทางไปตามนัดของสำนักงานอัยการที่แจ้งวันเวลาไว้ โดยล่าสุดเดือนที่ผ่านมาได้ทำหนังสือแจ้งไปว่าหากยังไม่มีการดำเนินการอะไรเรา ขอไม่ไปได้หรือไม่ แต่หากจะมีการดำเนินการอะไรขอให้แจ้งมาล่วงหน้าเนื่องจากต้องเสียค่าตั๋วเครื่องบินออกค่าเดินทางเอง
“กรณีที่เกิดขึ้นรู้สึกสงสารเด็กๆนะ บางทีเด็กส่งข้อความมา อย่างล่าสุดเด็กทราบว่าโรงเรียนไทยรัฐวิทยาจะไม่มีแล้ว เขาก็โพสต์ว่าความหวังที่จะได้กลับมาเรียนมาเจอกันกับเพื่อนๆคงไม่มีแล้ว จริงๆควรจะมีอะไรที่เปิดโอกาสให้เขาได้เรียน เราบอกว่าเราเป็นอาเซียน มีการคุ้มครองสิทธิเด็ก อย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเขาก็ยังไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือเด็กๆได้เต็มที่ เราติดที่กรอบของระบบราชการ แม้แต่คณะกรรมาธิการการศึกษาฯลงมาแสดงความคิดเห็น วันนั้นไปกับครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ครูแดงก็ถามเรื่องนี้ เขาก็ยังไม่ให้คำตอบชัดเจน บอกแค่ว่าต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ทั้งที่เขาจะทำร่างกฎหมายการศึกษาใหม่เขายังไม่คำนึงถึงเรื่องนี้เลย” อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง กล่าว
ขณะที่ชีวิตของเด็กบางคนแทนที่จะอยู่ในระบบการศึกษา แต่หลังจากที่ต้องถูกผลักดันกลับไปยังพม่าทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิต
“ในบ้านเรามีเด็กที่มีปัญหาแบบนี้กว่า 7-8 หมื่นคน ในระบบราชการทราบดีว่าเด็กแบบนี้มีจำนวนเท่าไร ทั้งฝ่ายปกครองและด้านการศึกษาที่ทำกันอยู่ เรารู้สึกสงสารเด็กที่เขาควรจะได้รับโอกาส แต่มาพลาดตรงนี้ไป ที่ผ่านมาก็พยายามติดตามดูเด็กที่กลับไปฝั่งนั้น บางคนเสียคนไปเลย เด็กผู้หญิงบางคนก็มีสามี ผู้ชายเข้าหายาเสพติดหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว เด็กบางคนที่ขวนขวายมาเรียนก็มีไม่เยอะเพราะเขาไม่สามารถเข้ามาได้ เด็กที่มีรหัส G เท่านั้นที่กลับเข้ามาเรียนในระบบ ที่ยังสามารถติดต่อกันได้” น.ส.กัลยา กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าใดๆ อยากร้องเรียนอะไรหรือไม่ น.ส.กัลยา กล่าวว่า เคยทำไปหมดแล้วและไม่ได้ส่งผลอะไรขึ้นมาเลย โดยเฉพาะกรณีเรื่องของวินัย ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาพบ รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอข้อคิดเห็นในกรณีนี้ว่าครูผิดวินัยหรือไม่
“คุณจาตุรนต์ บอกว่าไม่ผิดวินัยและเป็นการดีด้วยซ้ำที่ส่งเสริมการศึกษา แต่เรื่องกฎหมายคนเข้าเมืองถามว่าครูผิดไหม ในความเป็นจริงครูก็ไม่ได้ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง เด็กๆต่างหากที่ผิดกฎหมายการเข้าเมือง แล้วถามว่าเด็กเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายจริงหรือไม่ ก็ไม่จริง เด็กที่จะข้ามมาได้เขาก็ต้องทำเอกสารการข้ามด่านมาแต่เอกสารของเขาสามารถอยู่ในไทยได้เพียงไม่กี่วัน ก็เหมือนเราที่ไปเกาหลี มันก็เลยไม่มีอะไรที่คืบหน้าไปกว่าเดิม หรือ อ.แหวว บอกว่าเขาไม่ฟ้องแต่จะรอให้เรื่องเงียบ”ผอ.กัลยา กล่าว
อย่างไรก็ตาม น.ส.กัลยา ยอมรับว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรู้สึกเสียใจที่ทำให้โรงเรียนไทยรัฐวิทยาขาดแหว่งไป และมีส่วนทำให้เด็กๆเสียโอกาสทางการศึกษา
“เราไม่โอเคที่มาทำให้เขาขาดไปแล้วยังหาจุดลงไม่ได้เลย แต่ทางมูลนิธิไทยรัฐไม่ยอมให้โรงเรียนแหว่งหายไป เรื่องที่สองคือเด็กๆ โอกาสทางการศึกษาของเด็กๆแทนที่เขาจะได้เรียนอยู่ในระบบแล้วมีโอกาสเอาความรู้ไปใช้พัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น หรือแค่เขียนอ่านภาษาไทยได้เขาก็สามารถหางานทำได้ เราทำให้เขาพลาดโอกาสตรงนี้ไป และสุดท้ายที่เราเสียใจคือการดูแลของหน่วยงานการศึกษาและฝ่ายปกครอง เขาน่าจะให้ข้อยกเว้นหรือมีแนวปฏิบัติที่มันชัดเจนทำตรงนี้ให้มันชัดขึ้นมาจากกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ดูเหมือนว่าเขาก็ยังคงไม่ขยับอะไร สำหรับตัวเราเองเหมือนโดนคดีมีชนักติดหลังไม่สบายใจ 1 ปีกว่าๆจนถึงวันนี้มันก็ยังเหมือนเดิม เมื่อไหร่มันจะเสร็จ เราดีใจไหม ที่เขายังไม่ดำเนินการ ก็ไม่นะ ถ้าเราผิดก็ฟ้องมาจะได้สู้กันให้มันจบไป หรือถ้าเราไม่ผิดก็สั่งไม่ฟ้องจะได้จบๆ” น.ส.กัลยา กล่าว