Search

ภาคประชาชนจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านผู้ลี้ภัย-โยกย้ายถิ่นฐานในไทยแนะรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง

“ในฐานะผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง ผมฝันอยากจะเป็นทันตแพทย์และกลับมาช่วยประเทศไทย รวมทั้งผู้ลี้ภัยทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ แต่ปัญหาของการที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายผู้ลี้ภัยนั้น ส่งผลให้ครอบครัวของผม เพื่อนของผมและผู้ลี้ภัยทุกคนในประเทศไทยไม่ปลอดภัย ผมอยากให้รัฐบาลไทยมีกฎหมายสำหรับผู้ลี้ภัย เพื่อให้เราทุกคนอยู่ในประเทศนี้ได้อย่างปลอดภัย” – เสียงจากตัวแทนผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียกล่าวเปิดการประชุม

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายการปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (TMR) ร่วมกับภาคประชาสังคมจากหน่วยงานต่างๆ และตัวแทนผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลีย โรฮิงญา เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ได้เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนและนำเสนอนโยบายสาธารณะการจัดการอพยพย้ายถิ่นของไทย และผู้อพยพลี้ภัยจากประเทศเมียนมา เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่มีกำหนดแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในช่วงเดือนกันยายนนี้

อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนจากเครือข่ายการปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (TMR) ได้นำเสนอถึงกฎหมายที่รอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งประกอบไปด้วย 1.เร่งเปิดลงทะเบียนให้กับแรงงานข้ามชาติทั้ง 4 สัญชาติกลุ่มใหม่ประมาณ 7 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศเมียนมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศ 2.แรงงานตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อทำการยื่นขอต่อการอนุญาตทำงานในประเทศไทยให้กับแรงงานข้ามชาติกลุ่มเดิม ที่ใบอนุญาตทำงานกำลังหมดอายุในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ภายใต้ความกังวลต่อกลไกที่มีอยู่เดิม ที่จะต้องให้แรงงานเหล่านี้กลับไปต่อ MOU ที่ชายแดนซึ่งยังมีสถานการณ์สู้รบอยู่

“จำนวนแรงงานข้ามชาติเมียนมาที่รอต่อใบอนุญาตทำงานรอบนี้ 2 ล้านคน การจะเอาคน 2 ล้านคนกลับไปที่ชายแดนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จึงเป็นคำถามไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า มาตรการแบบนี้จะสอดคล้องกับสถานการณ์จริงหรือไม่”ตัวแทน TMR กล่าว

อดิศรกล่าวว่า เรื่องนโยบายการจ้างงานแรงงานข้ามชาติตามฤดูกาล ซึ่งเดิมคนกลุ่มนี้สามารถเข้ามาทำงานในพื้นที่ที่กำหนดได้ครั้งละ 3 เดือน แต่ล่าสุดกรรมการนโยบายมีมติให้คนกลุ่มนี้สามารถทำงานได้ 6 เดือน และเพิ่มงานจากเดิมที่ทำได้แค่อาชีพกรรมกรและคนทำงานรับใช้ในบ้าน โดยให้เพิ่มงานขายเข้าไปด้วย ส่วนเรื่องของเอกสารวีซ่าสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีในประเทศไทย และกำลังเรียนจบซึ่งสามารถขออยู่ต่อในประเทศไทยได้อีก 1 ปี แต่มีนักศึกษาบางส่วนโดยเฉพาะนักศึกษาจากเมียนมากำลังมีปัญหาเรื่องของหนังสือเดินทางหมดอายุ และไม่สามารถกลับไปต่ออายุที่ประเทศต้นทางได้ เป็นโจทย์ที่รัฐบาลของแพทองธารต้องรับไปแก้ไข

ขณะที่รัฐวิศว์ เอื้อประชานนท์ ตัวแทนของเครือข่ายการปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (TMR) กล่าวว่า ควรมีแนวทางแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศเมียนมา ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมาย ประกอบด้วยการปรับปรุงพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง  การปรับปรุงพระราชกำหนดบริหารจัดการการทำงานกับคนต่างด้าว พ.ศ.2561 และการจัดทำร่าง พรบ.คุ้มครองผู้ลี้ภัยที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้

รัฐวิศว์กล่าวว่า ควรมีการปรับปรุงกลไกให้มีกลไกศูนย์จัดการชายแดน และการคัดกรองการจัดการการโยกย้ายถิ่นฐานที่เป็นองค์รวม นอกจากนี้ควรปรับปรุงนโยบายในเชิงกฎเกณฑ์การให้สัญชาติ และการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มประชากรที่โยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ และสุดท้ายการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน โดยให้มีการกระจายทรัพยากรให้กับกลุ่มเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย และเสนอนโยบายการตรวจสุขภาพผู้ไม่มีสัญชาติทุกกลุ่ม

“เด็กชาวโรฮิงญาที่เกิดมาในประเทศไทยพ่อแม่ขาดเอกสาร พวกเขาโตมาแบบไม่มีสัญชาติ ผมอยากเสนอว่ารัฐบาลไทยจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ถูกกฎหมาย”รัฐวิศว์ กล่าว

ซายิด มาลัม ประธานชมรมโรฮิงญาแห่งประเทศไทยกล่าวในฐานะตัวแทนผู้ลี้ภัย ว่าควรมีการยุติการกักขังผู้ลี้ภัยเป็นระยะเวลานาน และเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้มีโอกาสได้ทำงานเช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติในกลุ่มอื่นๆ 

ขณะที่ตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน (OHCHR) ที่เสนอว่า ขอให้รัฐบาลไทยมีมาตรการการประเมินความเสี่ยงภัยให้กับกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ก่อนที่จะมีการถูกส่งกลับซึ่งควรมีการประเมินความเสี่ยงที่ชัดเจน

นอกจากนี้ตัวแทนผู้ลี้ภัยจากประเทศโซมาเลียก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลไทยจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ผู้ลี้ภัยได้รับความคุ้มครองจากตำรวจไทย และช่วยสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยที่ได้สถานะแล้ว สามารถย้ายไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่ 3 ได้

“ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ  ควรพิจารณาการดำรงสถานะของผู้ลี้ภัย และเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถทำงานได้”  ตัวแทนผู้ลี้ภัยจากประเทศโซมาเลียกล่าว

ทั้งนี้ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อเสนอแนะนโยบายแก่ นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ที่จะแถลงต่อรัฐสภาในเดือนกันยายนนี้ ในด้านการจัดการอพยพย้ายถิ่นของไทยและผู้อพยพลี้ภัยที่อยู่ในไทยและจากเมียนมา โดยได้ข้อสรุปทางนโยบายซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน, ระยะกลาง และระยะยาว

ในระยะเร่งด่วนนั้นให้เร่งกำหนดสถานะผู้อพยพลี้ภัยที่อยู่ในประเทศไทย ตลอดจนเร่งกำหนดสถานะให้แก่เด็กกลุ่มต่าง ๆ และให้สัญชาติกับเด็กที่เกิดในไทย เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิด้านการศึกษา สาธารณสุข และการทำงานได้ นอกจากนี้ให้ยุติการกักขังโดยไม่มีกำหนดเวลาต่อผู้อพยพย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม รวมทั้งกำหนดมาตรการทางเลือกแทนการกักขัง เป็นต้น

ในระยะกลางมีข้อเสนอให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกความร่วมมือระหว่างชุมชนชายแดน (Township Border Committee: TBC) บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดน เพื่อสร้างเสถียรภาพ สันติภาพและการแก้ไขปัญหาข้ามชาติต่าง ๆ 

ในระยะยาวมีข้อเสนอพิจารณาจัดตั้ง “หน่วยงานระดับกรมกิจการคนเข้าเมือง” เพื่อให้การบริหารจัดการประชากรผู้โยกย้ายถิ่นฐานและการจัดการคนเข้าเมืองเป็นระบบและมีเอกภาพ และการพิจารณาทบทวนการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา ผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการช่วยเหลือในด้านอื่นๆ 

ในช่วงท้ายของการประชุมปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวสรุปว่า“เรื่องของผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีความละเอียดอ่อนและมีความท้าทายในการขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งที่ผ่านมานโยบายไม่สามารถแปรไปสู่การปฏิบัติได้จึงสิ่งสำคัญที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป”

On Key

Related Posts

ผวาเหมืองทองเกลื่อนน้ำกก กองกำลังว้าจับมือจีนขุดแร่ทำลำน้ำขุ่น ชาวท่าตอนผวาเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลไทยปกป้อง หวั่นสารพิษปนเปื้อนลงสายน้ำแหล่งประปาของคนเชียงราย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 น.ส.หอม ผู้ประสานงานมูลRead More →

เพลงชาติกะเหรี่ยงดังกระหึ่มแม่น้ำสาละวินหลังปลอดทหารพม่าในรอบกว่า 20 ปี ชาวบ้าน 2 ฝั่งแดนร่วมจัดงานวันหยุดเขื่อนคึกคักหลังพื้นที่ปลอดทหารพม่า “ครูตี๋”ใช้บทเรียนแม่น้ำโขงถูกทำลายปางตายแนะชุมชนสู้

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่บริเวณหาดทรายริมแม่นRead More →