Search

สงครามในเมียนมาจะจบอย่างไร? บทบาทของไทยในฐานะเพื่อนบ้านรั้วติดกันควรเป็นเช่นไร?

ตติกานต์ เดชชพงศ

กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านชนะศึกและยึดค่ายกองทัพรัฐบาลทหารพม่ารวมทั้งพื้นที่ต่างๆได้เป็นจำนวนมากตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามกลางวงเสวนาวิชาการในประเทศไทยว่าหากสงครามกลางเมืองเมียนมายุติลง ไทยหรือประเทศอื่นๆ ในอาเซียนควรมีบทบาทอย่างไรในกระบวนการสันติภาพเมียนมา ส่วนอาจารย์ด้านพม่าศึกษาระบุสงครามจะจบได้เมื่อใช้การเมืองนำการทหาร แต่พื้นที่ธุรกิจสีเทาตามแนวชายแดนอาจปราบปรามให้หมดได้ยากเพราะเป็นแหล่งแสวงผลประโยชน์ของหลายฝ่าย

วงเสวนาเรื่องพม่าและชายแดนศึกษาซึ่งจัดโดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาเพื่อการพัฒนา ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศโดยภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ได้มีการเชิญนักวิชาการและผู้ทำงานเกี่ยวกับประเด็นพม่า (เมียนมา) มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน

ศ.พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ระบุว่าไทยกับพม่ามีเส้นเขตพรมแดนร่วมกันยาว กว่า 2,000 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ายาวที่สุดเมื่อเทียบกับแนวพรมแดนระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ รอบตัว ดังนั้นความสำคัญของพรมแดนไทยพม่าจะอยู่กับเราไปอีกยาวนานมาก

จากประสบการณ์ที่เคยไปเยือนหลายเมืองในพม่าตั้งแต่เปิดประเทศช่วงแรกในปี 2521 ทั้งยังติดตามข่าวคราวหลังเกิดรัฐประหารในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ศ.พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ ระบุว่าไทยกับพม่าคล้ายกันตรงความเป็นประเทศทันสมัย แต่ยังไม่พัฒนา และพบเจอกับความดักดาน เพราะต้องวนเวียนอยู่กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปกครอง ยังไม่สามารถหาทางออกที่เป็นประชาธิปไตยได้

ศ.พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ กล่าวว่าพม่าเปลี่ยนชื่อประเทศมาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งแรกเปลี่ยนจาก Burma เป็น Union of Burma (สหพันธรัฐพม่า) ต่อมาเปลี่ยนเป็น Socialist Republic of the Union of Burma หรือ สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า มาจนถึงสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Republic of the Union of Myanmar) ในปัจจุบัน แต่การทำตามเงื่อนไขในความตกลงปางโหลงที่เป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศอิสรภาพพม่ายังไม่เป็นความจริง เช่นเดียวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

หลังการรัฐประหารยังเกิดสงครามกลางเมืองต่อเนื่อง จนเกิดข้อสงสัยว่าความขัดแย้งเหล่านี้จะจบลงเมื่อไร ซึ่ง ศ.ชาญวิทย์เชื่อว่าความเป็นไปได้มากสุดที่จะยุติปัญหาความขัดแย้งต้องผ่านกระบวนการเจรจา หรือ dialogue เพราะจนถึงตอนนี้กองทัพพม่าก็ยังไม่มีท่าว่าชนะ และกองกำลังฝ่ายต่อต้านก็ดูจะไม่ยอมพ่ายแพ้

“แม้จะเกิดสงคราม เราก็ต้องถามว่าสงครามกลางเมืองในพม่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกนานเท่าไหร่ มันจะไม่จบไม่สิ้น

หรือไม่…พม่าจะแตกเป็นเสี่ยงๆ เหมือนอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งได้แตกสลายไปเมื่อปลายปี 2534 หรือ ค.ศ.1991 กลายเป็น 15 ประเทศหรือไม่ ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นได้ แต่ถ้าหากพม่าไม่อยากเป็น failed state (รัฐล้มเหลว) ก็ต้องผลักดันให้เกิด dialogue (กระบวนการเจรจา) แบบที่อองซาน ซูจี เคยใช้คำนี้…”

ขณะเดียวกัน กฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพม่าศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร ซึ่งลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาอย่างต่อเนื่อง ระบุสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สงครามกลางเมืองเมียนมายังไม่สิ้นสุดคือเรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่สีเทาตามแนวชายแดนซึ่งไม่ใช่แค่การแย่งชิงระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงประเทศมหาอำนาจและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างไทยที่หมายตาผลประโยชน์จากพื้นที่ชายแดนเมียนมาด้วยเช่นกัน

“จากข่าวพม่าที่เห็นเต็มไปหมด เราอาจมองว่าทหารพม่าบ้าอำนาจ พอสูญเสียอำนาจเลยอยากจะเอาคืน แต่จากที่ได้ไปทำการศึกษาบริเวณชายแดน พบว่าพื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่แห่งผลประโยชน์ ทหารพม่าก็เลยอยากจะได้อำนาจและควบคุมพื้นที่ชายแดนเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าทหารพม่าอยากสงวนให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่สีเทา แม้จะมีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิง แต่ก็ยังมีการปะทะอยู่ประปราย

“เมื่อพื้นที่เหล่านี้กลายเป็นสีเทา จะทำให้รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ตม. หรือศุลกากร ทำให้ผู้เข้าไปในพื้นที่มีเพียงกองทัพและกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ เมื่อไม่มีตัวแทนรัฐบาลพลเรือนในพื้นที่สีเทา คนจัดการพื้นที่คือทหารในกองทัพ เท่ากับเขาได้รับผลประโยชน์จากการค้าชายแดนโดยตรง

“จนกระทั่งรัฐบาล NLD ขึ้นมา (อดีตรัฐบาลพลเรือนนำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยพม่า ซึ่งอองซาน ซูจี เป็นผู้นำ) โจทย์หลักในตอนนั้นคือรัฐบาลเอ็นแอลดีก็ไม่สามารถจัดการพื้นที่ชายแดนได้ สืบเนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในปี 2008 มีการระบุเงื่อนไขว่ากิจการชายแดนจะต้องอยู่ในความดูแลของมหาดไทย กลาโหม ซึ่งเป็นโควตาของกองทัพ ส.ส.ของเอ็นแอลดีจึงไม่สามารถเข้าไปจัดการดูแลได้อยู่ดี

“เวลาเรามองพม่า ผมพยายามมองจากปัจจุบันแล้วย้อนกลับไปมองอดีต แต่ไม่สามารถใช้มุมมองแบบตะวันตกได้ แต่โจทย์สำคัญคือตั้งแต่รัฐประหารจนถึงวันนี้ ทำไมสงครามกลางเมืองไม่สิ้นสุด สำหรับผมก็ต้องย้อนกลับไปที่เรื่องผลประโยชน์ เพราะนี่ไม่ใช่แค่การแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่าง SAC (สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา) และฝ่ายตรงข้าม เพราะหยก อัญมณี แร่ธาตุ ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ต่างชาติหมายตา และพม่ายังถูกปักหมุดให้เป็นทางออกทะเลของประเทศจีนด้วย

“ประเทศไทยเองก็ได้รับประโยชน์จากการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติในพม่าเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปอาหารทะเลจากพม่ามาไทยและส่งออกไปยุโรป ถ้าปิดชายแดนพม่า รับรองว่าสมุทรสาครได้รับผลกระทบแน่ๆ เพราะทุกวันนี้เรานำเข้าอาหารทะเลจากเมืองมะริด”

อาจารย์กฤษณะยังระบุด้วยว่า ท่าทีของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนต่อเมียนมามีความซับซ้อน แม้ดูเหมือนว่าจีนจะมีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพว้าซึ่งเข้าไปในพื้นที่ของกองทัพพม่าระหว่างปฏิบัติการ 1027 ช่วงแรก แต่หลังจากนั้นจีนมีความเคลื่อนไหวเข้าหารัฐบาลทหารพม่าเพิ่มขึ้น เช่น การสั่งปิดด่านชายแดน 2-3 แห่งที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมของกองกำลังฝ่ายต่อต้านอย่างกองทัพโกก้าง (MNDAA) และกองทัพปะหล่อง (TNLA) คงเหลือไว้แต่ด่านที่ยังอยู่ในความควบคุมของกองทัพพม่า ซึ่งการปิดด่านชายแดนนี้จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านไม่มากก็น้อย เพราะเท่ากับสูญเสียรายได้ที่ใช้หล่อเลี้ยงผู้คนไป

นอกจากนี้จีนยังเปลี่ยนตัวทูตในเมียนมา โดยสั่งการให้ทูตที่เคยประจำอยู่ในอินเดียมารับตำแหน่งแทน นี่จึงเป็นสัญญาณว่าอินเดียกำลังเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่ชายแดนเมียนมาเช่นกัน จึงจำเป็นต้องดูสถานการณ์ต่ออย่างใกล้ชิด แต่ประเด็นใหญ่สุดคือผลกระทบที่เกิดจากสงครามทำให้พื้นที่ทั่วเมียนมาราว  90 เปอร์เซ็นต์เป็นอัมพาต ไม่สามารถดำเนินการใดๆ รวมถึงสวัสดิการของรัฐต่าง ระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคก็ถูกทำลาย ถ้าเมียนมาเปิดประเทศอีกครั้งก็ยังมีคำถามว่าจะเอาคนจากไหนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ

อาจารย์กฤษณะจึงย้ำว่าใครจะแพ้หรือชนะในสงครามเมียนมาก็ตาม พื้นที่ประเทศไทยต้องโอบรับผู้พ่ายแพ้เอาไว้

ทางด้าน สันติภาพ หม่องจำรัส รองผู้อำนวยการมูลนิธิสุวรรณนิมิต และทายาทของ พ.ญ.ซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’และเจ้าของรางวัลแม็กไซไซประจำปี 2546 หนึ่งในผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขที่สำคัญตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระบุว่าการทำงานกับผู้คนตามแนวชายแดนต้องทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลาย รวมถึงเหตุผลของการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่นเดียวกับเหตุผลของผู้ที่ไม่ยอมเข้าร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าจนต้องมาอยู่ที่ชายแดน

สันติภาพมองว่าการร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนเมียนมาและไทยมีความเข้าใจและพยายามจะผลักดันไปสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพและสาธารณสุข แม้จะมีข้อจำกัดที่เกี่ยวกับบุคลากรและการรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่ข้ามแดนมา แต่ก็มีความเข้าใจที่ตรงกันว่าการป้องกันในด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องจัดการร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ถ้าหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคในฝั่งเมียนมาก็ยากที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อฝั่งไทย ทั้งสองฝั่งจึงต้องร่วมมือกันควบคุมสถานการณ์ด้านสาธารณสุข

เมื่อมีผู้ตั้งคำถามว่าสงครามกลางเมืองเมียนมาใกล้จบลงหรือยัง และควรดำเนินการอย่างไรต่อ สันติภาพมองว่า ‘มีความหวัง’ แต่ก็เป็นการพยายามมองในแง่ดี จึงคิดว่าสงครามครั้งนี้น่าจะจบเร็ว และถ้ามองย้อนกลับไป 3 ปีหลังการรัฐประหารจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน จึงหวังว่าฝ่ายประชาชนจะชนะ บรรลุเป้าหมายในการทำให้รัฐบาลทหารพม่าลงอย่างไร และหลังจากนั้นจะมีกระบวนการเจรจาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร ซึ่งเป็นเป้าหมายในระยะสั้น ขณะที่การผลักดันให้เกิดสันติภาพถาวรจะเป็นเรื่องระยะยาว แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีนโยบายรับมือกับการอพยพของชาวพม่าอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นผู้หนีภัยการสู้รบและผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งสิ่งนี้เห็นได้จากการทำงานบริเวณชายแดนของตัวเอง

สันติภาพระบุว่าพลวัตชายแดนเมียนมา-ไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากสงครามกลางเมืองเมียนมายุติลงในเร็วๆ นี้จริง คาดว่าคนในพื้นที่ที่ได้รับชัยชนะคงเลือกผู้นำจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้ในพื้นที่แต่ละรัฐก่อน เช่น ในรัฐกะเหรี่ยงก็คงเลือกผู้นำที่เป็นกะเหรี่ยง แล้วภาพใหญ่ในระดับประเทศจะเกิดการปรับเปลี่ยนเพื่อหาตัวผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายหรือได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกได้ และกระบวนการนี้เขาเชื่อว่าไทยน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีในการเป็นตัวกลางของกระบวนการเจรจาสันติภาพ (facilitator) เพราะหน่วยงานรัฐบาลไทยมีประสบการณ์พูดคุยติดต่อกับหลายภาคส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์และรู้จักระบบในเมียนมา จึงน่าจะมีความเข้าใจสถานการณ์มากกว่าประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ศ.พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ มองในประเด็นนี้แตกต่างออกไป โดยเห็นว่าอินโดนีเซียอาจเป็นตัวกลางที่เหมาะสมกับเรื่องกระบวนการเจรจาสันติภาพในเมียนมามากกว่า และอันที่จริงก็เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าใครจะเป็นตัวกลางที่ดีที่สุด เพราะปัญหาพม่ามีหลายประเทศมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา หรือว่าสหภาพยุโรป (EU) แม้ญี่ปุ่นจะพยายามเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่ญี่ปุ่นมีผลประโยชน์หลายด้านอยู่ในพม่า ซึ่งจีนไม่น่าจะยอมรับ เช่นเดียวกับรัสเซีย แต่ถ้าไทยเป็นตัวกลางประสานงานก็คงยาก เพราะไทยคงต้องแก้ปัญหาของตัวเองให้ได้ก่อน โดยเฉพาะการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในขณะนี้ที่ยังมีข้อติดขัด

“คนที่อาจจะพูดได้น่าจะเป็นอินโดนีเซีย เพราะเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก อำนาจต่อรองสูง และมีลักษณะอะไรบางอย่างที่อินโดนีเซียได้ผ่านการต่อสู้อย่างรุนแรงในประเทศของเขาในสมัยรัฐประหารและยุคซูฮาร์โต คนที่จะเข้ามานำการประสานงานพูดคุยในพม่าจึงอาจจะต้องเอียงขวานิดๆ มีความเข้าใจทหาร หรืออาจจะต้องเป็นทหารเสียเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีหลักทางประชาธิปไตยให้ยึด” ชาญวิทย์ระบุ

ขณะที่อาจารย์กฤษณะแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้จะมีข่าวทหารพม่าสูญเสียฐานทัพไปเยอะมากในช่วงที่ผ่านมา แต่อีกหลายพื้นที่กองทัพพม่ายังคุมอยู่ ทั้งในมัณฑะเลย์และเชียงตุง และปัญหาสำคัญคือกองทัพพม่ายังสามารถควบคุมน่านฟ้าเอาไว้ได้ ยังมีเครื่องบิน แม้กองกำลังฝ่ายต่อต้านจะสามารถทำลายหรือโจมตีได้ แต่ยังไม่สามารถยึดได้ และกองทัพฝ่ายต่อต้านก็มีความหลากหลายเช่นกัน เพราะที่ผ่านมากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ถูกแบ่งย่อยออกมาเป็นจำนวนมาก การรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันทำได้ยาก การเจรจาจึงล่าช้า และการเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อใช้การเมืองนำการทหาร

นอกจากนี้ พื้นที่สีเทาตามแนวชายแดนเมียนมาซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของเครือข่ายอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ถูกเรียกว่าพื้นที่จีนเทาก็จะยังไม่หมดไปง่ายๆ และอาจเป็นชนวนสงครามครั้งต่อไป เพราะนี่คือแหล่งผลประโยชน์ของหลายฝ่าย ประกอบกับประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีปัญหาเรื่องระบอบประชาธิปไตยไม่เข้มแข็ง ทำให้เกิดช่องโหว่ที่เอื้อต่อการก่อเหตุหรือการเคลื่อนย้ายของเครือข่ายผิดกฎหมายข้ามชาติ

“พื้นที่สีเทาหรือที่เราเรียกว่าจีนเทาคุม ผมว่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่ชี้วัดหรือสะท้อนคุณภาพของรัฐบาลไทย ที่ผมเรียกว่าพื้นที่จีนเทาหรือพื้นที่ในฝั่งพม่าภายใต้กองกำลังกะเหรี่ยง BGF ซึ่งเป็นพื้นที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จริงๆ มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใต้จมูกเรา การที่จีนเทายังอยู่ได้เป็นภาพสะท้อนการจัดการปัญหาของคนที่เกี่ยวข้อง ดูได้จากสินค้าและเทคโนโลยีในการดำรงชีวิตส่วนใหญ่ก็ไปจากฝั่งไทย จีนเทาอาจจะเรียนรู้จากกองกำลังติดอาวุธหรือเปล่าที่มีการใช้เส้นเขตแดนในการยุติอำนาจของรัฐบาลทั้งสองฝั่ง

“กองกำลังติดอาวุธในเมียนมาถอยมาอยู่ชายแดนตั้งแต่สมัยสงครามเย็น เพราะถ้าอยู่บริเวณชายแดนแล้วเกิดเหตุต่อสู้หรือยิงปะทะ เขาสามารถข้ามฝั่งมาไทยเพื่อขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ แต่พื้นที่ที่ผมมองตลอดคือพื้นที่ในความควบคุมของกลุ่มจีนเทา อาจจะเป็นเงื่อนไขในสงครามครั้งถัดไป เพราะพื้นที่ตรงนี้สร้างมูลค่าได้เป็นจำนวนมาก

“แต่เงินเหล่านี้มาจากกระเป๋าของคนที่ถูกหลอก จากที่เคยถามคนจีนส่วนใหญ่เขาก็ไม่อยากได้มูลค่าแบบนี้ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อาจจะมีตัวชี้วัดด้านประชาธิปไตยต่ำ หรือไม่ก็อาจจะมีความร่วมมือหรือข้อตกลงร่วมกันบางอย่างที่ทำให้จีนเทาสามารถเคลื่อนย้ายทุนได้ตามชายแดนได้ง่ายมาก จากสีหะนุวิลล์ (ในกัมพูชา) ไปยังที่อื่นๆ ได้ง่าย” กฤษณะกล่าวทิ้งท้าย

———-

On Key

Related Posts

ผวาเหมืองทองเกลื่อนน้ำกก กองกำลังว้าจับมือจีนขุดแร่ทำลำน้ำขุ่น ชาวท่าตอนผวาเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลไทยปกป้อง หวั่นสารพิษปนเปื้อนลงสายน้ำแหล่งประปาของคนเชียงราย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 น.ส.หอม ผู้ประสานงานมูลRead More →

เพลงชาติกะเหรี่ยงดังกระหึ่มแม่น้ำสาละวินหลังปลอดทหารพม่าในรอบกว่า 20 ปี ชาวบ้าน 2 ฝั่งแดนร่วมจัดงานวันหยุดเขื่อนคึกคักหลังพื้นที่ปลอดทหารพม่า “ครูตี๋”ใช้บทเรียนแม่น้ำโขงถูกทำลายปางตายแนะชุมชนสู้

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่บริเวณหาดทรายริมแม่นRead More →