Search

ชี้จับกุมส่งกลับผู้ลี้ภัย-แรงงานชาวพม่าอาจผิด พรบ.ป้องกันการทรมาน ภาคประชาชนจวกมาตการกระทรวงแรงงานลักลั่นเร่งจับกุมแต่กลับขึ้นทะเบียนช้า แรงงานหวั่นถูกส่งกลับไปเผชิญอันตราย

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG: Migrant Working Group) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจับกุมและส่งตัวกลับผู้ลี้ภัยและแรงงานผิดกฎหมายชาวพม่าว่า ตอนนี้กำลังเผชิญกับความวิตกกังวลอย่างสูง เนื่องจากมีการจับกุมและส่งตัวกลับจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีของแรงงานที่ไม่มีเอกสารทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย

“ช่วงนี้มีการจับกุมผู้ลี้ภัยชาวพม่าเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นมาตรการของกระทรวงแรงงานที่กำหนดให้จับกุมแรงงานผิดกฎหมายและส่งกลับประเทศต้นทางภายใน 120 วัน แต่กระทรวงแรงงานมีความลักลั่นเนื่องจากมติกรรมการนโยบายให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.(คณะรัฐมนตรี) ทำให้มติถูกลากยาวมานานกว่า 2 เดือน ซึ่งกลายเป็นการทำงานที่แย้งกับมติ ทราบดีว่ามีผู้ที่หลุดจากระบบจำนวนมากเนื่องจากสถานการณ์สงครามในพม่ายังไม่สงบ รัฐมนตรีเองได้แถลงว่า สถานการณ์ในพม่าทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ แต่การปฏิบัติจริงกลับกลายเป็นความย้อนแย้งของกระทรวงแรงงาน” นายอดิศร กล่าว

ผู้ประสานงาน MWG กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้คือการขาดกลไกในการตรวจสอบก่อนส่งตัวกลับ ว่าคนที่จะถูกส่งกลับทั้งหมดนั้น จะสามารถกลับมาได้อีกหรือไม่ ซึ่งหากดูตามกฎหมายจริง ๆ แล้วก็ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเรามีพระราชบัญญัติ (พรบ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานฉบับใหม่ออกมา ซึ่งมีมาตรา 13 ระบุว่ารัฐห้ามส่งกลับบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะกลับไปสู่ภัยอันตราย ซึ่งในกรณีของพม่า มีทั้งผู้ลี้ภัยและผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เราควรที่จะระมัดระวังในการส่งกลับเป็นอย่างยิ่ง ความล่าช้าของนโยบายทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น หากมีการอนุมัติการจดทะเบียนตั้งแต่แรก ปัญหาน่าจะได้รับการแก้ไข และคนที่กลับไม่ได้จำนวนหนึ่งก็อาจได้รับการแก้ปัญหาแล้ว การล่าช้าจึงเป็นความเสี่ยงที่ทั้งรัฐไทยและผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ เพราะหากรัฐไทยดำเนินการไม่ดีอาจเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายตาม พรบ.ตัวใหม่ ขณะเดียวกันผู้ลี้ภัยก็เสี่ยงที่จะมีปัญหาหลังจากกลับไปประเทศต้นทาง

นายอดิศรกล่าวอีกว่า มาตรการในการจับกุมในช่วงนี้ไม่เป็นประโยชน์ เพราะสร้างผลกระทบที่มากกว่าให้กับรัฐและคนงาน รวมถึงนายจ้างและคนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องด้วย ทำให้สงสัยว่าทำไมจึงมีการจับกุมในช่วงนี้ และขอเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานชี้แจงเหตุผลที่ใช้มาตรการนี้ทั้งที่มตินโยบายกรรมการได้รับการผ่านแล้ว ซึ่งรับรู้ถึงความเสี่ยงในการปฏิบัติงานเช่นนี้แต่ยังคงดำเนินการอยู่

“ข้อเสนอหลังจากมีครม.ชุดใหม่แล้ว ควรเร่งให้อนุมัติเรื่องการจดทะเบียนโดยเร็วที่สุด และให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศรองรับแรงงานโดยเร็ว มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับปัญหาเดิม แรงงานอาจถูกส่งกลับตามเดิม และกระบวนการคัดกรองคนในการส่งกลับต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยเฉพาะกับผู้ลี้ภัยและแรงงานชาวพม่า เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะกลับไปสู่ภัยอันตราย ก่อนที่จะถูกส่งตัวกลับ ซึ่งตั้งแต่ออก พรบ.ใหม่ยังไม่มีการจัดตั้งกลไกนี้” “อดิศร”กล่าว

ด้านนายบิง ซิน ตาร์ (นามสมมุติ) ผู้ลี้ภัยชาวพม่า กล่าวว่า ตอนนี้มีความกังวลใจอย่างมากเนื่องจากไม่มีเอกสารรองรับการอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายและรู้สึกไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา เรารู้สึกเหมือนตกอยู่ในความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง การที่เราไม่มีเอกสารทำให้เราไม่สามารถวางแผนอนาคตได้อย่างมั่นใจ และทุกวันที่ผ่านไปก็เต็มไปด้วยความกลัวว่าจะถูกจับกุมและส่งกลับ

แรงงานจากประเทศพม่ากล่าวด้วยว่า ความวิตกกังวลยิ่งทวีความรุนแรง เมื่อรู้ว่าหากรัฐไทยยังมีมาตรการในการจับกุมผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายและส่งกลับประเทศไปเผชิญกับสงคราม ความเสี่ยงที่เราจะต้องเผชิญหากถูกส่งกลับไปนั้นไม่สามารถจินตนาการได้ พวกตนเคยหลบหนีจากความรุนแรงและสงครามมาแล้ว จึงกลัวว่าการกลับไปจะหมายถึงการเผชิญกับอันตรายที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น

“เราหวังว่ารัฐบาลไทยชุดใหม่จะพิจารณาสถานการณ์ของเราผ่านหลักมนุษยธรรมและให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย เราต้องการโอกาสในการอยู่อาศัยในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย เพื่อที่เราจะได้มีความมั่นคงในชีวิตและไม่ต้องกลับไปเผชิญกับความเสี่ยงที่อันตรายในบ้านเกิด เราหวังว่าจะมีการช่วยเหลืออย่างจริงจังและการพิจารณาสถานการณ์ของเราด้วยความเข้าใจและเห็นใจ” นายบิง ซิน ตาร์ กล่าว

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →